ทั้งนี้ ด้วยกระแสน้ำหลากเชี่ยวกราก การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งจากภัยน้ำท่วมรุนแรงวิกฤติ นอกจากส่งกำลังใจช่วยผู้ประสบภัยแล้ว…ก็ต้องส่งแรงใจให้บรรดาผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย…

      เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ต่างงานหนัก

      หลาย ๆ ภารกิจเป็นการ ’ช่วยชีวิต“

      เพื่อ ’ไม่ให้เกิดการสูญเสียจากภัยน้ำ“

ทั้งนี้ ภัยน้ำรูปแบบต่าง ๆ รุนแรงน่ากลัวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่วิธีรอดชีวิตจากภัยน้ำเป็นสิ่งที่ควรตระหนักไว้ รวมถึง ’วิธีช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ“  โดยอย่างหลังนี่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ จากข้อมูลคำแนะนำที่ทาง สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ ได้ให้ความรู้-หลักปฏิบัติเพื่อการช่วยเหลือคนตกน้ำไว้ โดยข้อมูลคำแนะนำนี้มีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ www.thailifesaving.org ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เพียงกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ประสบเหตุคน ’ตกน้ำ“…

       กับเหตุคน ’ติดน้ำ-ถูกน้ำพัด“ ก็ด้วย…

       ก็เป็นการ ’ประสบภัยทางน้ำ“ เช่นกัน

เกี่ยวกับ “วิธีช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ” จากข้อมูลที่ สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ ได้ให้แนวทาง-ให้คำแนะนำไว้นั้น กับภัยน้ำท่วมก็สามารถจะประยุกต์ใช้ได้ โดย การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยทางน้ำจะมี 2 วิธี กล่าวคือ…

วิธีที่ 1 ผู้ช่วยเหลืออยู่บนฝั่ง-บนตลิ่ง-บนเรือ“ ซึ่งวิธีนี้ผู้ที่เข้าช่วยเหลือจะไม่เปียก และค่อนข้างปลอดภัยโดยมีหลักวิธีการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ… การยื่นอุปกรณ์ให้คนในน้ำจับ เช่น เสื้อ กางเกง ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดตัว เข็มขัด กิ่งไม้ ท่อนไม้ ไม้ง่ามลูกเสือ หรือหากเป็นตามสระว่ายน้ำ ก็จะมีไม้ตะขอ ที่เตรียมไว้สำหรับใช้ช่วยผู้ประสบภัย, การโยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ให้คนในน้ำจับหรือเกาะ เช่น ขวดน้ำ ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ และอาจจะเอาเชือกมาผูกอุปกรณ์เหล่านั้นก่อน เพื่อที่จะลากคนในน้ำเข้าฝั่ง หรือหากโยนพลาดก็สาวเข้ามาแล้วโยนให้ใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ก็ยังมีรูปแบบการช่วยเหลือโดย การลุยน้ำออกไปช่วย ซึ่งกับการช่วยแบบนี้มีหลักสำคัญคือ ต้องเป็นพื้นที่ที่ระดับน้ำตื้น ที่ผู้เข้าช่วยเหลือสามารถยืนถึงพื้นได้ เช่น ในลำธาร น้ำตก ชายทะเล ที่สามารถจะลุยน้ำออกไปได้ อย่างไรก็ตาม แต่ก็ควรจะลุยน้ำออกไปพร้อมกับอุปกรณ์การช่วยชีวิตอื่น ๆ ด้วย เพื่อโยนหรือยื่นให้คนในน้ำจับแล้วพาเข้าฝั่ง

และอีกแนวทางคือ การใช้เรือออกไปช่วย ซึ่งในที่นี้หมายรวมทั้งเรือจริง ๆ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่พอควร ที่ตัวผู้จะช่วยอยู่ข้างบนหรือข้างในได้ เช่น กระดานโต้คลื่น กระดานเล่นใบ เจ็ตสกี เรือพาย เรือแคนู เรือกรรเชียง เรือใบ อย่างไรก็ตาม แต่การช่วยเหลือคนในน้ำรูปแบบนี้ก็มี “ข้อควรระวัง” เช่นกัน คือ หากเป็นเรือหรืออุปกรณ์ขนาดเล็ก ต้องระมัดระวังหากจะให้คนในน้ำปีนขึ้นมา เพราะอาจเกิดการพลิกคว่ำได้ ซึ่งกรณีใช้เรือ หากเป็นไปได้ ควรให้คนที่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นทางท้ายเรือ แต่อย่าลืมดับเครื่องด้วยหากเป็นเรือเครื่องที่มีใบพัด ส่วนถ้าเป็นเรือใหญ่ ๆ จะขึ้นด้านใดก็ได้

นี่เป็นวิธีกรณีคนช่วยไม่ได้อยู่ในน้ำ

วิธีที่ 2 ผู้ช่วยเหลือกระโดดลงน้ำแล้วว่ายเข้าไปช่วย“ ซึ่งนี่ต้องเน้นว่าเป็นวิธีที่ อันตราย เพราะทำให้คนที่เข้าไปช่วยเสียชีวิตมาเยอะแล้ว ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ แม้แต่คนที่ว่ายน้ำเก่ง ๆ หรือนักว่ายน้ำหากไม่ได้ใช้วิธีช่วยที่ถูกต้อง ที่มีหลักดังนี้คือ…  ต้องเอาอุปกรณ์ช่วยไปด้วย เช่น แท่งโฟมยาว ๆ ซึ่งถ้าเล็กและสั้นเกินไปจะไม่ปลอดภัย หรือใช้ห่วงยาง ยางในรถยนต์ เสื้อชูชีพ โดยเมื่อว่ายน้ำเข้าไปใกล้จะถึงคนที่อยู่ในน้ำ ให้หยุดอยู่ห่าง ๆ แล้วโยนหรือยื่นอุปกรณ์ให้คนที่ประสบภัยเกาะ โดย อย่าพยายามเข้าไปจนถึงตัว เพราะผู้รับการช่วยเหลืออาจจะเข้ามากอดแน่นจนแกะไม่ออก และพาให้จมน้ำไปด้วยกัน

หรือตอนที่ประสบเหตุ และจะเข้าช่วยเหลือ ไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตใด ๆ อยู่เลย…ก็อาจใช้เข็มขัด ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดตัว หรืออะไรก็ได้ที่ยาว ๆ ยื่นให้ผู้ประสบภัยเกาะ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องเข้าไปใกล้มากเกินไป ซึ่งถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ก็จะดีมาก เพราะเมื่อยื่นให้ผู้ประสบภัยจับหรือเกาะแล้วก็จะลอยน้ำอยู่ได้ ทำให้ความตื่นตกใจลดลง ทำให้ผู้เข้าช่วยเหลือปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ กรณีที่ยื่นให้แล้วผู้ประสบภัยก็ยังตกใจ และโผเข้ามาจะกอด ก็ให้รีบดำน้ำหนีลงไปก่อน

ถัดมาเป็น การลากหรือพา กรณีที่ผู้ประสบภัยมีจิตใจสงบ ไม่ตกใจ แต่หมดแรงหรือเป็นตะคริว กรณีนี้การช่วยจะไม่ค่อยอันตราย แต่กลับกัน ถ้าตื่นตกใจ ผู้ที่ช่วย ต้องใช้ท่า Cross chest ที่เป็นการเอารักแร้หนีบบนบ่าคนที่ประสบภัย โดยให้แขนพาดผ่านหน้าอกเพื่อไปจับซอกรักแร้อีกด้าน แล้วว่ายน้ำพาสู่จุดปลอดภัย ส่วนกรณีคนตกน้ำจนสลบ ให้ประคองหน้าให้พ้นน้ำไว้ตลอด เพื่อที่ปากกับจมูกจะพ้นน้ำ จะหายใจได้ตลอด …นี่เป็นอีกคำแนะนำโดย สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ

      ’คนไทย“ ยุคนี้ ’ชีวิตปกติมักห่างน้ำ“

      แต่ ’ภัยทางน้ำ“ นั้น ’รุนแรงมากขึ้น“

      และก็ ’มักจะเป็นภัยที่ไม่ทันตั้งตัว“

      ’เซฟชีวิตจากภัยน้ำ“ จึง ’ยิ่งสำคัญ“.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่