“ดิฉันจะประสานพลังกับคณะรัฐมนตรีทุกท่าน ให้ทำงานด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ความแตกต่างหลากหลาย ต่างภูมิภาค ต่างช่วงวัย เป็นจุดแข็งในการทำงานแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ดิฉัน คณะรัฐมนตรี และข้าราชการทุกภาคส่วน พร้อมแล้วที่จะทำงานเพื่อสร้างความเท่าเทียมแห่ง “โอกาส“ พลิกฟื้นความเชื่อมั่น ให้กับประเทศไทยไม่ใช่เริ่มพรุ่งนี้ แต่นาทีนี้เป็นต้นไป” นายกฯแพทองธาร ชินวัตร สื่อสารเอาไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Ing Shinawatra
ก่อนจะเริ่มบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันพฤหัสบดี 12 ก.ย. 67 เมื่อเข้าไปแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา
นายกฯหญิง วัย 38 ปี คนที่ 31 ของไทย ยังถือฤกษ์มังกร โหราศาสตร์จีน เข้าทำเนียบรัฐบาล เช้าวันศุกร์ 13 ก.ย. เวลา 07.30 น. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สักการะท้าวมหาพรหม ศาลพระภูมิ ศาลตายาย และองค์นรสิงห์จำลอง เอาฤกษ์เอาชัย ก่อนจะนำคณะขึ้นเครื่องบินไปภาคเหนือทันที เกาะติดสถานการณ์อุทกภัย จ.เชียงราย เรียกว่าไม่มีเวลาฮันนีมูนจริง ๆ
ภาพนายกฯหญิง พร้อมทีมงานนั่งดูแผนที่จุดประสบอุทกภัย ขณะอยู่บนเครื่องบิน ทำเอาหลายคนหวนนึกถึง อีกภาพจำ ก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ภาพข่าว นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ร่วมวางแผนแก้วิกฤติน้ำท่วม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ขณะนั้นเป็น ผบ.ทบ.นั่งอยู่ด้วย) ครั้งนี้ไม่มี ผบ.ทบ. แต่ยังมี บิ๊กเล็ก–พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ (ตท.20/จปร.31) รมช.กลาโหม อดีตที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ และเลขาฯ สมช. ร่วมวงอยู่ด้วย
เชิงผา เพิ่งจะเขียน จับสัญญาณมวลน้ำเหนือ เอาไว้ช่วงปลายเดือนสิงหาคม หลังกรมชลประทาน รายงานพื้นที่จังหวัดถูกน้ำท่วมระลอกแรก ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ คือ เชียงราย, เชียงใหม่, ลำพูน, พะเยา, น่าน, แพร่, สุโขทัย ฯลฯ จึงต้องเตรียมรับมือ มวลน้ำก้อนใหญ่ จากทางภาคเหนือ ทั้งในลำน้ำปิง วัง ยม และน่าน กำลังเริ่มไหลหลากลงมาภาคกลาง
แต่ธรรมชาติไม่เข้าใครออกใคร มวลน้ำเหนือก้อนใหญ่ยังไม่ทันลงมา จู่ ๆ ต้องมาเจอหางเลข ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ขึ้นฝั่งพัดถล่มฟิลิปปินส์, ตอนใต้ของจีน ตามด้วยเวียดนาม ถือเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดของเอเชียในปี 67 นอกจากจะสร้างความเสียหายให้เวียดนาม ผลพวงยังส่งผลกระทบทั้งลาว เมียนมา รวมถึงภาคเหนือและภาคอีสานของไทย จนเกิดพายุฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาสูง น้ำท่วมครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยดินโคลน เล่นงานถล่มพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ แบบไม่ทันได้ตั้งตัวกันเลย
ย่านเศรษฐกิจหลักของอำเภอแม่สาย บริเวณด่านชายแดนท่าขี้เหล็ก มีสะพานเชื่อมติดกับเมียนมา หลังน้ำลดสภาพบ้านเรือน รถยนต์ จักรยานยนต์ ทรัพย์สินเสียหายจมอยู่ในทะเลโคลน เห็นภาพข่าวยังไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในไทย ทำให้บรรดาทุกเหล่าทัพ ทั้งทหาร–ตำรวจ–ปภ.-กู้ภัยภาครัฐเอกชน–จิตอาสา รวมไปถึง น้ำใจไทย ไม่ทอดทิ้งกันหลั่งไหลขึ้นเหนือเพื่อเข้าไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยต่อเนื่อง
จากภาพความเสียหายในแม่สาย แม่อาย หลายคนเริ่มหวั่น ๆ ใจ ฝันร้ายมหาอุทกภัย ปี 2554อย่าได้กลับมาพร้อม ๆ กับ นายกฯหญิง คนที่ 2ยังดีตอนนี้ได้สั่งด่วน! ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และ คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ขึ้นมาแล้ว คงเหลือการบริหารจัดการให้มีเอกภาพอย่างแท้จริง
ชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย ถึงขั้นออกมาระบายความอัดอั้นอย่างละเอียด ถึงปัญหาระบบ “การแจ้งเตือนภัย” ของภาครัฐ หน่วยงานไหนแน่ “เจ้าภาพ”? หากมีระบบการป้องกันจัดการยามเกิดภัยพิบัติที่ดี ความเสียหายคงไม่มากมายเช่นนี้!!.
……………………………………………
เชิงผา