หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มาที่ระดับ 4.75-5.00% เนื่องจากตลาดแรงงานเริ่มอ่อนแอ และอัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจน
เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Reverse repo ระยะ 14 วัน ลง 0.1% มาอยู่ที่ระดับ 1.85% พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินการธนาคารอีก 7.45 หมื่นล้านหยวน (เกือบ 3.5 แสนล้านบาท) ทั้งที่จีนเพิ่งลดดอกเบี้ย Reverse repo ระยะ 7 วัน ลง 0.1% เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และเดือนส.ค. ยังมีการปรับลดดอกเบี้ยกลไกเงินกู้ระยะกลาง MLF ลง 0.15% มาอยู่ที่ระดับ 2.50% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจส่งสัญญาณแย่ต่อเนื่อง
ขณะที่ “พยัคฆ์น้อย” นั่งพิมพ์ต้นฉบับ (26 ก.ย.) เห็นข่าวรัฐบาลจีนจะอัดฉีดเงินสดครั้งเดียวให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้ยากไร้และเด็กกำพร้า ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งตรงกับ “วันชาติจีน” ตามแผนที่รัฐบาลจีนประกาศไว้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 67 ว่าจะจัดสรรงบประมาณ 1.54 แสนล้านหยวน(ประมาณ 7 แสนล้านบาท) เพื่ออุดหนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มคนยากจนรุนแรง ประมาณ 4.74 ล้านคน
ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โอนเงินสดให้กับพี่น้องประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง-กลุ่มคนพิการ เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจ (ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 1) ผ่านไปแล้ว 2 วัน (25-26 ก.ย.) คนละ 10,000 บาท จำนวน 7.67 ล้านคน
วันที่ 27 ก.ย.67 โอนเงินสดให้อีก 4.51 ล้านคน และวันที่ 30 ก.ย.67 โอนเงินให้อีก 2.25 ล้านคน
เงินหมื่นก้อนนี้มีความหมายมาก ๆ สำหรับลุง ป้า น้า อา คนยาก คนจน คนพิการ ที่มานอนรอถอนเงินสด มารอกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มธนาคารของรัฐ (ธ.ก.ส.-ออมสิน–กรุงไทย) ด้วยใบหน้าเปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม ขณะที่อีกไม่น้อยก็ร้องไห้ดีใจเมื่อได้รับเงินหมื่น ต่างก็ให้ศีลให้พรนายกฯ และรัฐบาลกันยกใหญ่
นี่คือสภาพของกลุ่มคนเปราะบาง-กลุ่มคนพิการ ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา จากปัญหาทางเศรษฐกิจปากท้องที่ซึมยาวต่อเนื่องมาหลายปี ตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 57 แถมยังมาเจอ “โควิด-19” ระบาดอีก 3 ปี หารายได้ไม่ทันกับรายจ่าย และหนี้สินครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น เมื่อรัฐบาลแจกเงินหมื่นจึงมานอนรอหน้าธนาคาร-ตู้เอทีเอ็ม กันตั้งแต่เช้ามืด!
คนจน คนเปราะบาง ผู้พิการ กำลังดีใจจนน้ำตาอาบใบหน้าเพราะเงินหมื่น! แต่อีกมุมหนึ่งคนที่พอมีฐานะ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้ส่งออก กำลังน้ำตาไหลพราก ๆ เหมือนกัน จากปัญหา “ค่าเงินบาทแข็ง” ที่สุดในภูมิภาคนี้ ทำให้เงินสดหายจากกระเป๋าไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท
ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจหลายองค์กร คือ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออก สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และสมาคมโรงแรมไทย
ดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ลด! ค่าเงินบาทก็แข็ง! “บอร์ดค่าจ้าง” ที่เป็นตัวแทนไปจากแบงก์ชาติก็หมดอายุ เนื่องจากเกษียณจากหน้าที่การงานไปเกือบปีแล้ว! เห็นแล้วน่าหดหู่จริงๆ
………………………………
พยัคฆ์น้อย