ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นความพยายามของสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย ที่ต้องการ “พลิกคำตัดสิน” ของศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งระดับภูมิภาค ในช่วงปลายเดือน พ.ย. นี้ มีการแข่งขันมากขึ้น และเป็นอิสระจากความพยายามครั้งล่าสุดของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ในการเสริมความแข็งแกร่งตระกูลการเมืองของเขา
ประการแรก ร่างกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น เสนอให้กำหนดเกณฑ์ที่ “สูงจนแทบเป็นไปไม่ได้” สำหรับพรรคการเมือง โดยระบุว่า พรรคการเมืองต้องมีคะแนนความนิยมขั้นต่ำ 25% หรือมีจำนวนสมาชิกผู้ได้รับเลือกตั้งอย่างน้อย 20% ในสภาระดับภูมิภาค เพื่อส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งระดับที่ใหญ่กว่านั้น หรือการเลือกตั้งระดับประเทศ
อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลปรับลดเกณฑ์ข้างต้นอย่างมาก ส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก รวมถึงพรรคที่ไม่มีที่นั่งในสภาระดับภูมิภาค สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตได้
ประการที่สอง ร่างกฎหมายพยายามท้าทายคำตัดสินของศาล เกี่ยวกับอายุขั้นต่ำของผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ซึ่งการแก้ไขและเพิ่มเติมกฎระเบียบการเลือกตั้ง จะทำให้นายแกซัง ปันกาเรป วัย 29 ปี บุตรคนสุดท้องของวิโดโด สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้
แม้นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม แสดงความยินดีกับการตัดสินใจถอนร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร แต่มันถือเป็นชัยชนะเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากการยินยอมของ พล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต รมว.กลาโหมอินโดนีเซีย และว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะขับเคลื่อนด้วยการคำนวณทางการเมือง มากกว่าความกังวลอย่างแท้จริงต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
พล.ท.ซูเบียนโต ซึ่งมีนายกีบราน ราคาบูมิง รากา บุตรคนโตของวิโดโด วัย 36 ปี เป็นว่าที่รองประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนต่อไป ได้รับชัยชนะส่วนใหญ่จากการสนับสนุนและการแทรกแซงทางการเมืองของวิโดโด ซึ่งในการแลกเปลี่ยน เขาถูกคาดหวังให้ปกป้องผลประโยชน์ของครอบครัววิโดโด และสืบทอดมรดกของผู้นำอินโดนีเซียคนปัจจุบัน โดยเฉพาะการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่อย่างกรุงนูซันตารา
กระนั้น การต่อต้านร่างกฎหมายของสาธารณชน ทำให้พล.ท.ซูเบียนโต สามารถหลีกเลี่ยง “หนี้ทางการเมืองบางส่วน” และทำตัวเป็นฮีโร่ของนักเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยได้ เนื่องจากการเพิกเฉยต่อการประท้วง จะทำให้เขาต้องเผชิญกับการความเสี่ยงของการรับผิดชอบต่อความทะเยอทะยานส่วนตัวของวิโดโด และความไม่สงบทางสังคม
ในภาพรวม การประท้วงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ช่วยให้ พล.ท.ซูเบียนโต สามารถปะทะกับวิโดโดเป็นครั้งแรก “โดยไม่ได้ตั้งใจ” ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า ภาคประชาสังคมถูกครอบงำ แต่แรงกดดันจากสาธารณชน มักจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อมันมีความสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นนำ.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP