อย่างไรก็ดี นอกจากการล้อมคอกโดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว กับการ “รู้เท่าทัน” ของเรา ๆ ท่าน ๆ หรือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นี่ก็เป็นสิ่งที่ “ต้องตระหนัก” ซึ่งนอกจากที่มีกระแสเตือน ๆ กันไปบ้างแล้ว…

วันนี้ ณ ที่นี้ก็มีอีกชุดข้อมูลให้พินิจ

ก็น่าใช้เป็น “คาถากันถูกลวงลงทุน”

ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล

ทั้งนี้อีกชุดข้อมูลดังกล่าวนี้ เป็นข้อมูลจาก ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้โดยหลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า…จากกรณีครึกโครมที่เกิดขึ้น ธุรกิจขายตรงก็ถูกโฟกัสอีก ซึ่งอันที่จริงธุรกิจขายตรงเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย โดยปัญหาที่เคยเกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากรูปแบบธุรกิจขายตรง แต่เป็นเพราะวิธีทำธุรกิจที่เป็นปัญหาทำให้ผู้อื่นเสียหาย ใช้ธุรกิจขายตรงมาแอบอ้าง เป็นเครื่องมือ…

ใช้หลอกให้ผู้อื่นหลงเชื่อลงทุน

พูดง่าย ๆ คือ รูปแบบธุรกิจไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นเพราะคนก่อปัญหา!! ซึ่งทาง ผศ.ดร.ภูษิต ยังชี้ว่า… ที่จริงไม่ใช่แค่ธุรกิจรูปแบบขายตรง แต่อีกหลาย ๆ รูปแบบธุรกิจก็มีคนที่สร้างปัญหาเช่นกัน ซึ่ง ใครที่คิดจะลงทุนในธุรกิจรูปแบบใด ๆ ก็ตามก็ต้องรอบคอบก่อนจะตัดสินใจลงทุนซึ่งถ้าถามว่า… แบบไหนที่ควรหลีกหนีให้ห่าง??” โดยส่วนตัวมองว่า…

มี 7 แบบ” ที่จะต้องรอบคอบให้มาก

หรือ “ควรจะต้องไตร่ตรองเป็นพิเศษ”

ประกอบด้วย… ธุรกิจอ้างขายตรงที่เข้าข่ายผิดกฎหมายเสี่ยงหลอกลวง เช่น ไม่เคยเห็นตัวสินค้าจริง ๆ เลย แต่ผู้ชักชวนลงทุนย้ำตลอดว่าขายได้แน่นอน หรือมีเงื่อนไขลงทุนบังคับให้ต้องซื้อสินค้าเพื่อสต๊อกไว้เยอะ ๆ, ธุรกิจขายแฟรนไชส์ที่ไม่มีธุรกิจอยู่จริง แต่มีการชักชวนหว่านล้อมให้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์, ธุรกิจที่โฆษณาเกินจริงไม่ตรงปกที่มักชวนเชื่อโดยอวดอ้างคุณภาพ อ้างผลตอบแทนการลงทุนสูงเกินจริงจากมูลค่าสินค้าไปมาก, ธุรกิจที่แอบอ้างการกุศลที่มักจะใช้วิธีทำให้เหยื่อหลงเชื่อด้วยการแอบอ้างว่า…จะมีการนำรายได้ไปบริจาคด้านต่าง ๆ เช่น สร้างวัด ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น

ธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ที่มักจะแอบแฝงเข้ามาในรูปแบบของธุรกิจขายตรง โดยที่พบส่วนใหญ่คือจะมีวิธีชักชวนหรือหลอกให้ลงทุน แต่ไม่มีของ ไม่มีสินค้า ไม่ได้เน้นขายจริง แต่เน้นให้ลงทุนหลากหลายรูปแบบ อาทิ สกุลเงินดิจิทัล ค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน ทองคำ ซึ่งกลุ่มนี้มักเปลี่ยนสินค้าไปเรื่อย ๆ ขึ้นกับสินค้าใดเป็นที่นิยม โดยชวนเชื่อด้วยประโยคอย่าง…ลงทุนน้อย-ผลตอบแทนสูง, ธุรกิจลวงผ่านอบรมสัมมนาที่คนหลอกนั้นมักแอบแฝงในคอร์สอบรมด้วยการให้ผู้อบรมเป็นสมาชิกเพื่อรับสินค้าไปขายต่อ, ธุรกิจลวงลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเช่น การหลอกให้ลงทุน NFT หรือหลอกให้ลงทุนในเงินคริปโตปลอม

ย้ำว่าถ้าเจอ 7 แบบนี้ “คิดให้เยอะ”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ภูษิต ยังได้แนะนำผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ถึงการ “ป้องกันไม่ให้เสียรู้” ด้วย หลัก ล.ลิง 10 ตัว”ที่เมื่อถูกชักชวนให้ลงทุนแล้วเจอ “ล.ลิง” เหล่านี้ “ต้องระวังให้จงหนัก!!” กล่าวคือ… “ล่อใจ”ชักชวนโดยอ้างผลตอบแทนสูง และมักแสดงความหวังดีโจ่งแจ้ง ผ่านประโยค เช่น… อยากช่วยให้ดีขึ้น อยากช่วยให้รวย, “ลวงหลอก” ด้วยคำชวนเชื่อเกี่ยวกับผลตอบแทนสูง ๆ แล้วบังคับให้เหยื่อรีบตัดสินใจด้วยเงื่อนไขเวลา เพื่อจะทำให้เหยื่อไม่มีเวลาที่จะเช็กข้อมูลเพิ่มเติม

ลาภลอย” ซึ่งมีชื่อหรือใช้วิธีการที่เรียกว่า Passive Income ด้วยคำพูดอย่าง…ไม่ต้องทำเยอะก็รวยได้ ซึ่งจับจุดชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากทำงานหนักแต่อยากรวยเร็ว, ลึกซึ้ง”ที่มักใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในการชักชวนเหยื่อให้ลงทุน ซึ่งเหยื่อรายแรก ๆ มักเป็นญาติ พี่น้อง เพื่อน คนรู้จัก, ลับเฉพาะ”เป็นอีกวิธีที่มักนำมาใช้หลอกเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อเกิดความรู้สึกพิเศษกับข้อเสนอที่ยื่นให้,เลือกให้ข้อมูลแค่บางมุม” เป็นอีกวิธีที่มักนำมาใช้หลอกลวงเหยื่อ โดยให้ข้อมูลแต่ด้านดีเท่านั้น มักจะปิดบังเรื่องความเสี่ยง หรืออาจจะมีการนำคนที่มีชื่อเสียงมาโฆษณาชวนเชื่อเพื่อช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ

เลื่องลือ” ที่พบบ่อย ๆ คือ แอบอ้างคนดังการันตีความสำเร็จ เพื่อให้เชื่อมั่นเชื่อใจ, ลึกลับ” ด้วยการใช้ศัพท์เทคนิคที่ดูหรู ๆ เพื่อทำให้รู้สึกว่ามีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ ทำให้ไม่รู้สึกสงสัย, ลังเล”ด้วยการทำให้เหยื่อเกิดความลังเล ก่อนจะเร่งรัดรวบรัดให้เหยื่อรีบลงทุนเพื่อป้องกันการพลาดโอกาส และอีก “ล.ลิง” คือ “ลองลงทุน”โดยมักจะเริ่มจากให้เหยื่อทดลองลงทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน เมื่อเหยื่อฮุบเบ็ดหลังได้รับค่าตอบแทนการลงุทนก็จะลวงให้เหยื่อลงทุนเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ นี่เป็น “ล.ลิง 10 ตัว” ที่มักถูกใช้เป็น “เทคนิคจูงใจหลอกลวงลงทุน” ซึ่งทาง ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ยังระบุผ่า “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาด้วยว่า… “ภูมิคุ้มกันไม่ให้เป็นเหยื่อ มีหลักง่าย ๆ คือต้องรอบรู้ รู้จักระวัง รู้จักรอ และรู้จักระงับใจตัวเอง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้เยอะ ซึ่งธุรกิจที่ดี ๆ ก็มีอยู่มาก ที่ช่วยสร้างรายได้ให้จริง ๆ แต่ก็คงไม่ได้ถึงขั้นทำให้รวยได้ในเวลาข้ามคืนแน่นอน ดังนั้น คาถาอมตะที่ใช้ได้ดีเสมอก็ยังเป็นเรื่องการมีสติและไม่โลภ”

ก็มีหลายบท “คาถากันถูกลวงลงทุน”

รวมถึง “เลี่ยง ล.ลิง 10 ตัว” ที่ว่ามา

ที่ “มีสติ-ไม่โลภ” ก็คือ “หัวใจคาถา”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์