การลงคะแนนเสียงครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตเงินทุนทางการเมือง ถูกเปิดเผยเมื่อปีที่แล้ว โดยคดีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับสมาชิกสภานิติบัญญัติระดับอาวุโส และสมาชิกคณะรัฐมนตรี จากพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของพรรคเสียหาย และทำให้ประชาชนไม่พอใจ
เรื่องอื้อฉาวข้างต้นทำให้สมาชิกพรรคแอลดีพีหลายสิบคน ถูกสอบสวนกรณียักยอกเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้จากการระดมทุนทางการเมือง ขณะที่ครัวเรือนในญี่ปุ่น ประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ, ราคาสินค้าสูง, ค่าจ้างที่ไม่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจที่ซบเซา
ท้ายที่สุด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่โกรธเคืองและเหนื่อยล้า ก็ส่งข้อความที่ชัดเจน ในการลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ผ่านมา ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่สร้างความตกตะลึง เนื่องจากพรรคแอลดีพี ที่ปกครองญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2498 สูญเสียเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร
กระนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่มีผู้ชนะที่ชัดเจนเช่นกัน เพราะฝ่ายค้านที่แตกแยก ไม่สามารถผงาดขึ้นมาเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ตามที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นต้องการได้
“การเลือกตั้งครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เบื่อหน่ายพรรค และนักการเมืองที่พวกเขามองว่า ทุจริตและสกปรก แต่มันไม่ใช่การเลือกตั้งที่พวกเขาต้องการผู้นำคนใหม่” นายเจฟฟรีย์ ฮอลล์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยการศึกษาระหว่างประเทศคันดะ กล่าว
อนึ่ง มันมีความหวังว่า นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่ ซึ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา จะสามารถรักษาเสียงข้างมากของพรรคแอลดีพี ในการเลือกตั้งครั้งนี้เอาไว้ได้ หลังนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า เผชิญกับกระแสความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้น และมีคะแนนความนิยมลดลงอย่างต่อเนื่อง จนต้องลงจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม อิชิบะกลับเลือกที่จะเสี่ยง เมื่อเขาประกาศการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด หลังรับตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นได้ไม่นาน และผลลัพธ์ที่ได้ก็ย้อนกลับมาทำร้ายพรรคแอลดีพีเสียเอง เนื่องจากทั้งอิชิบะ และพรรคของเขา ประเมินความโกรธเคืองของประชาชนต่ำเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเต็มใจที่จะลงมือทำ
ขณะนี้ พรรคแอลดีพีจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เคยต่อสู้กันในการเลือกตั้ง เพื่อรักษาอำนาจต่อไป และพรรคจะทำเช่นนั้นจากจุดยืนที่อ่อนแออย่างมีนัยสำคัญ เพราะพรรคต้องเจรจาและประนีประนอม เพื่อความอยู่รอดทางการเมือง
แม้พรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น (ซีดีพี) ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ถึงอย่างนั้น ผู้สังเกตการณ์หลายคนกล่าวว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับการสนับสนุนฝ่ายค้านของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทว่าเป็นเรื่องของความโกรธที่มีต่อพรรคแอลดีพี
“จริงอยู่ที่ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการให้นักการเมืองรับผิดชอบ แต่ในใจของพวกเขา ไม่มีใครที่สามารถไว้วางใจให้เป็นผู้นำประเทศได้แล้ว” ฮอลล์ กล่าวทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES