ทั้งนี้ กับการที่ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน มีชัยขาดลอยต่อ “กมาลา แฮร์ริส” ตัวแทนพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งล่าสุดที่มีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น… มุมมอง “สังคม–เศรษฐกิจ–การเมืองโลก” จากนี้จะอย่างไร?? ก็มีการวิเคราะห์กันหลากหลาย…
ส่วน ณ ที่นี้วันนี้ขอ “ชวนมองย้อน”…
ตอนที่ “ทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐ ซีซั่น 1”
ที่ทุกมุมโลกเซ็งแซ่คำว่า…“พายุทรัมป์”
กับการที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะหวนขึ้นเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง…ของประเทศ “สหรัฐอเมริกา” ที่ต่อให้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีก็ยังคงเป็น “ประเทศมหาอำนาจโลก” นั้น นอกจากประเด็น “สหรัฐอเมริกาต้านจีน” แล้ว…อีกประเด็นใหญ่ที่ร้อนแรงที่มีการวิเคราะห์วิพากษ์กันไว้ก่อนหน้านี้คือ “บทบาทสหรัฐต่อสถานการณ์สงคราม”ที่เกิดขึ้นและยืดเยื้อมาระยะหนึ่งแล้ว…
นั่นคือ… “สงครามรัสเซีย VS ยูเครน” และ “สงครามอิสราเอล VS ปาเลสไตน์+อิหร่าน” ซึ่งจากการระบุไว้ของทรัมป์ในช่วงหาเสียง ที่เทไปในทางที่ สหรัฐอเมริกา โดยการนำของ “โดนัลด์ ทรัมป์” นั้น “จะแอ็คชั่นบทบาทยุติสงคราม??”กับกระแสการวิเคราะห์ก็จึงเทไปในแนวทางที่ย่อมจะดีแนวทางนี้ หากแต่…ขณะเดียวกันก็มีกระแส “วิพากษ์”…
โดย “มิใช่วิพากษ์ว่าไม่เชื่อว่าจะทำได้”
แต่ “วิพากษ์ว่าไม่ค่อยเชื่อนิสัยทรัมป์!!”
อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริง “สังคม–เศรษฐกิจ–การเมืองโลก…จากนี้จะอย่างไร??” ทั่วโลก รวมถึงไทย ก็ “ต้องรอดูกันไป??” กับบทบาทสหรัฐภายใต้การนำของ “โดนัลด์ ทรัมป์ ซีซั่น 2”… เพียงแต่ว่า…ย้อนดู “ท่าทีในอดีต โดยเฉพาะตอนที่ทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐซีซั่น 1”ก็มีหลายกรณี “ชวนให้คิด??”สำหรับประเทศที่ต้องเกี่ยวโยงกับสหรัฐในด้านต่าง ๆ
และเกี่ยวกับ “ท่าทีทรัมป์ในอดีต” นั้น…ทางนักวิชาการไทยก็มีการวิเคราะห์และสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ โดยปลายปี 2559 ก่อนผลเลือกตั้งจะออกว่าทรัมป์ชนะ “ฮิลลารี คลินตัน” และได้เป็นผู้นำสหรัฐ… รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ได้สะท้อนไว้ โดยสังเขปก็เช่น… “เขาบอกไว้ว่าสหรัฐอเมริกากำลังตกต่ำ เพราะฉะนั้น เขาคงต้องแสดงถึงการเป็นผู้นำในส่วนนี้ ในท่าทีคงมีความแข็งกร้าวมากขึ้น เช่นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจีน”
ขณะที่ทาง ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็สะท้อนไว้ในช่วงนั้น โดยสังเขปคือ… “การดำเนินการของทรัมป์ อาจใช้วิธีเผชิญหน้ารวมถึงนโยบายต่างประเทศ อย่างส่วนที่เกี่ยวกับจีน เพราะ จากบุคลิก การพูด ของทรัมป์ ก็เห็นแนวคิดสุดโต่งของทรัมป์หลายเรื่อง เช่นเคยระบุว่า…สนับสนุนให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ เพื่อใช้ป้องกันตัวจากเกาหลีเหนือ สหรัฐจะได้ไม่ต้องปกป้อง หรือถ้าจะให้สหรัฐปกป้อง ทั้งญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ต้องจ่ายเงินให้สหรัฐ” …นี่เป็นตัวอย่างการวิเคราะห์ท่าทีทรัมป์ก่อนเป็นผู้นำสหรัฐลำดับ 45
“จีน” นั้น “เป็นคีย์เวิร์ดชัดเจน” มานาน
และ “สุดโต่ง–นิวเคลียร์” ก็ “ชวนคิด??”
ทั้งนี้ พอถึงปลายปี 2561 ตอนที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นผู้นำสหรัฐซีซั่น 1 แล้ว… สหรัฐอเมริกา “จะถอนตัวจากสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง” ที่เคยทำไว้กับรัสเซียช่วงมีสงครามเย็น และรวมถึง สหรัฐอเมริกา “จะจัดตั้งกองทัพอวกาศ” ขึ้น …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการประกาศไว้ด้วยท่าทีแข็งกร้าว ซึ่งในตอนนั้น รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ก็วิเคราะห์และสะท้อนกรณีนี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้เช่นกัน หลักใหญ่ใจความมีว่า… เพราะ “รัสเซีย” ยุค “วลาดิเมียร์ ปูติน” กลับมามีเขี้ยวเล็บอีก และก็กำลังจะฟื้นอำนาจเทียบเท่าสหรัฐ โดยสหรัฐมองว่าตนกำลังเจอ “ภัยคุกคาม”
ส่วนรัสเซียก็พยายามแผ่ขยายอำนาจไปในหลาย ๆ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง นอกจากนั้น สหรัฐยังมองว่ารัสเซียเป็น“ภัยคุกคามทางนาโต้”เพราะมีการข่มขู่มาโดยตลอด และที่ผ่านมาก็มีเรื่องของ“ภัยคุกคามด้านอวกาศ”ด้วย อีกทั้งรัสเซียยังละเมิดข้อตกลงตามสนธิสัญญาดังกล่าวก่อน รัสเซียยังคงผลิตอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางอยู่ และที่สำคัญ รัสเซียเข้าไปมีบทบาทใกล้ชิดกับ “จีน” ที่เป็นประเทศมหาอำนาจอีกขั้วที่สหรัฐก็มองเป็น “ภัยคุกคาม”ของตน
จากปัจจัยข้างต้น… รศ.ดร.สมชาย ระบุไว้เมื่อปี 2561 ด้วยว่า… “จึงไม่แปลกที่สหรัฐอเมริกา ยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะ ประกาศกร้าวในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อเป็นการข่มขู่ แสดงแสนยานุภาพ เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งส่วนตัวมองว่าตอนนี้ประเทศมหาอำนาจก็กำลังทำสงครามเย็นกันอยู่ เป็นการขยายภูมิรัฐศาสตร์ กดดันทำให้เกิดความตึงเครียด เพื่อเป็นการหาพวก หาพันธมิตรเข้ามาอยู่ข้างตัวเอง แต่จะไม่มีการเผชิญหน้าทำสงครามร้อนกัน??” …นักวิชาการท่านเดิมชี้ไว้ …แต่ทั้งนี้ “จากซีซั่น 1 สู่ซีซั่น 2” ซึ่ง “โลกมีปัจจัยร้อนเพิ่มขึ้นอีก”ก็ต้องรอดูว่า…
“พายุทรัมป์” จะ “อ่อนลงเป็นลมเย็น?”
หรือว่าจะ “รุนแรงขึ้นเป็นทอร์นาโด?”
“ทรัมป์…จะมีอะไรเขย่าโลกมั้ย??”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์