ทั้งนี้ ด้วย “บุคลิกภาพโดดเด้ง” มาแต่ครั้งก่อนเป็นและตอนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยแรก ทรัมป์ถูกจับตามากทั้งจากในสหรัฐเองและจากทุกมุมโลก ขณะที่นักวิชาการทั้งเทศและไทยก็มองไปในทางเดียวกันว่า “สไตล์ส่วนตัวของทรัมป์” นั้น…
ออกแนว “บุคลิกภาพอำนาจนิยม?”
ที่เสริมย้ำทำให้ “ยิ่งต้องจับตาทรัมป์”
ลุ้น “เมื่อเป็นผู้นำประเทศมหาอำนาจ”
ประเด็น “สไตล์ส่วนตัว” หรือ “บุคลิกภาพ” ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” กับการบริหารประเทศสหรัฐอเมริกา ที่จะเกี่ยวโยงกับประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐ รวมถึงประเทศไทย…ไม่มากก็น้อยนั้น… สมัย 2 จะมีผลอย่างไรบ้าง?? ทั่วโลกและไทยก็ต้องรอดู… อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ๆ ไม่เฉพาะเจาะจงใคร เกี่ยวกับ “บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม” นั้น กรณีนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ “ในทางจิตวิทยา”ก็ให้ความสนใจมาก โดย มีการศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพรูปแบบนี้มาแต่อดีต และมีการพูดถึงมากมาตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1950 ที่ปัจจุบันก็ยิ่งเป็น “ศัพท์คุ้นหู” มากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ “จิตวิทยาสังคม” ซึ่งมีการศึกษาผู้มีบุคลิกภาพแบบนี้มากในต่างประเทศ ส่วนวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเรื่องนี้ ข้อมูลโดยนักวิชาการไทย…
“บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม” นั้น ทาง ผศ.ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช อาจารย์ แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้ผ่านหมวดสาระความรู้ ใน เว็บไซต์คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ว่า… บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม หรือ“Authoritarian personality”เป็นลักษณะบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มเชื่อฟังยอมรับอำนาจที่เป็นทางการหรือผู้ที่มีอำนาจในสังคม โดยผู้มีบุคลิกภาพแบบนี้มักมีความเชื่อที่เข้มงวดในกฎเกณฑ์มีเจตคติหรือทัศนคติที่เป็นศัตรูกับกลุ่มที่แตกต่างจากตนเองซึ่งบุคลิกภาพลักษณะนี้ถูกศึกษาเป็นครั้งแรกโดย ทีโอดอร์ อดอร์โน และคณะ ที่ได้ “วิจัย”…
การเกิดขึ้นของ “ฟาสซิสต์–ลัทธินาซี”
ในยุโรป…“หลังสงครามโลกครั้งที่ 2”
ผศ.ดร.อภิชญา ระบุไว้ถึง “ลักษณะสำคัญของบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม” ว่า…มักมีลักษณะเด่น ๆ คือ… เชื่อฟังอำนาจ หรือมีความเคารพยอมรับต่อผู้มีอำนาจ และสถาบันทางการ, เข้มงวดการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือเชื่อในความสำคัญของการรักษากฎระเบียบ อย่างเข้มงวด, มีแนวโน้มต่อต้าน หรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือทางวัฒนธรรม ที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อ–ค่านิยมของตน หรือกลุ่มของตน, เป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มที่แตกต่างหรือมีทัศนคติที่ไม่ดีด้วย หรือเป็นศัตรูกับคนที่แตกต่างจากตนเองสูง, รักชาติและเชื่อในความเหนือกว่าของชาติหรือกลุ่มของตน หรือมีทัศนคติเน้นความสำคัญของความรักชาติ หรือมักเชื่อว่าชาติหรือกลุ่มตนมีความเหนือกว่า กลุ่มอื่น
เหล่านี้คือ “ลักษณะบุคลิกอำนาจนิยม”
ที่วิพากษ์กันว่า “ทรัมป์นั้นออกแนวนี้?”
ทั้งนี้ ในภาพรวม “บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม” ยังมีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มเชิงอนุรักษ์นิยม และบุคลิกภาพชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงบุคลิกภาพแบบครอบงำทางสังคมด้วย ซึ่งบุคลิกภาพเหล่านี้มักมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้คือ… บุคลิกภาพแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Personality)มักจะมีความเชื่อในคุณค่าของประเพณีและวัฒนธรรมเดิม มักต้านทานการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง และให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความปลอดภัยเป็นพิเศษ, บุคลิกภาพแบบรักระเบียบ (Orderly Personality) มักจะมีความต้องการความเรียบร้อยและความเป็นระเบียบในชีวิตประจำวันสูง กลัวความวุ่นวาย ชอบกฎระเบียบ และการปฏิบัติตามกติกาที่ชัดเจน, บุคลิกภาพแบบการครอบงำทางสังคม (Social Dominance Orientation)คนที่มีบุคลิกภาพนี้ในระดับที่สูงมากมักจะเชื่อว่าคนบางกลุ่มควรมีอำนาจและสิทธิพิเศษเหนือกลุ่มอื่น …ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นลักษณะบุคลิกภาพรูปแบบอื่น ๆ ที่มีความ “สัมพันธ์กับบุคลิกภาพอำนาจนิยม”
และก็มีข้อมูลน่าสนใจอีกส่วนที่ระบุไว้ในบทความโดย ผศ.ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช ที่เผยแพร่ไว้ผ่านหมวดสาระความรู้ เว็บไซต์คณะจิตวิทยา จุฬาฯ นั่นคือ… “ปัจจัยสัมพันธ์” ที่อาจจะ “มีผลกับระดับที่สูงขึ้นของบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม” ซึ่งมักประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ๆ คือ… “อายุ” โดยคนที่มีอายุมากขึ้นมักจะมีแนวโน้มมีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมสูงขึ้น เนื่องจากประสบการณ์ชีวิตและความเชื่อที่พัฒนามายาวนาน ซึ่งมักจะทำให้เชื่อว่าสังคมต้องการความเป็นระเบียบและการควบคุมมากขึ้นมากกว่าในวัยหนุ่มสาวที่เป็นวัยกำลังค้นหาตัวตนและทดสอบขอบเขตต่าง ๆ และ “ความสุข” โดยวัยกลางคน วัยสูงอายุ มีแนวโน้มมีความสุขในชีวิตมากขึ้น จากการที่มีความมั่นคงทางการเงินและครอบครัว จึงไม่ต้องการความท้าทาย-ความไม่แน่นอนในชีวิต ทำให้ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง …นี่ก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อ “บุคลิกภาพอำนาจนิยม”…
บุคลิกภาพแบบนี้ “มุมจิตศึกษาวิจัยไว้”
ขณะที่ “บุคลิกภาพทรัมป์ถูกลุ้นอีก?”
“อำนาจ” นั้น…จะ “นิยม?-ไม่นิยม?”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์