ข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม
มีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง ในสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ด้วยเสียงข้างมาก 4 เสียง ส่วนอีก 3 เสียง แบ่งลงให้ผู้สมัครอีก 2 คน จำนวน 2 เสียง และ 1 เสียง ตามลำดับ
ขั้นตอนหลังจากนี้ จะส่งรายชื่อว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติให้กับรมว.คลัง ภายในวันที่ 19 พ.ย.67 เพื่อนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงแต่งตั้งต่อไป
“พยัคฆ์น้อย” มั่นใจว่าใครก็ตามที่เรียน–ทำงาน และสนใจเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อเห็นคุณสมบัติของผู้สมัคร 3 คน ตั้งแต่เรียนหนังสือในระดับปริญญาตรีจนถึงประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ก็ต้องบอกว่านายกิตติรัตน์มีความเหมาะสม เข้าใกล้กับตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติมากที่สุด
ส่วนเสียงครหาที่ว่านายกิตติรัตน์มาจากฝ่ายการเมือง กลัวว่าจะมาแทรกแซงนโยบายการทำงานของแบงก์ชาติ จนขาดความเป็นอิสระ ขาดความน่าเชื่อถือ ก็ต้องไปดูรายชื่อ คณะกรรมการแบงก์ชาติ ชุดปัจจุบันว่าแต่ละคนชื่อชั้นธรรมดาเสียที่ไหน คงไม่เออออกับประธานบอร์ดแบงก์ชาติไปเสียทุกเรื่องหรอก!
1.นายกิตติรัตน์ ประธานกรรมการ 2.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ รองประธานกรรมการ 3.นางรุ่ง มัลลิกะมาส กรรมการ 4.นางอลิศรา มหาสันทนะ กรรมการ 5.นายปิติ ดิษยทัต กรรมการ 6.นายดนุชา พิชยนันท์ กรรมการ 7.นายพรชัย ฐีระเวช กรรมการ 8.นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กรรมการ (เลือกเข้าไปใหม่) 9.นางชุณหจิต สังข์ใหม่ กรรมการ (เลือกเข้าไปใหม่) 10.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการ 11.นายรพี สุจริตกุล กรรมการ 12.นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการ 13.นายจิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ เลขานุการ
บทบาทหน้าที่ของ “ธนาคารกลาง” ทุกแห่งคือการกำหนดนโยบายการเงิน เพื่อสร้างระบบทางการเงินที่มีเสถียรภาพ รักษาระดับราคาของสินค้าและบริการไม่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน
“แบงก์ชาติ” ไม่ใช่สมบัติของใคร ถ้าจะบอกว่าต้องมีความเป็นอิสระ ทุกวันนี้ก็อิสระอยู่แล้ว! ฝ่ายการเมืองนับตั้งแต่อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้แทรกแซง! แค่ “เห็นต่าง” จึงเรียกผู้ว่าการแบงก์ชาติมาคุยเพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจ-ปัญหาดอกเบี้ยนโยบายสูง-หนี้ครัวเรือน-ค่าเงินบาทแข็ง กระทบการส่งออก
แบงก์ชาติดูแลนโยบายการเงิน เหมือนดูแค่กระจกด้านเดียว แล้วไม่ใช่ดูแลนโยบายการเงินได้อย่างถูกต้องเสมอไป เนื่องจากในอดีตเคยมีความผิดพลาดเสียหายเกิดขึ้นมาแล้ว!
ดังนั้นการทำงานระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาล จึงต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพราะรัฐบาลต้องดูแลอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ-การคลัง-ความเดือดร้อนของประชาชน
ทุกคนล้วนมีพวก มีที่มาที่ไปทั้งนั้น แต่สำหรับนายกิตติรัตน์เคยผ่านงานทั้งกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ และ รมว.คลัง เมื่อมาอยู่แบงก์ชาติก็ต้องทำงานแบบ “มืออาชีพ” อยู่แล้ว!!.
………………………………………
พยัคฆ์น้อย