อย่างไรก็ตาม ห้องรับรองที่จำกัดสิทธิเฉพาะผู้ได้รับเชิญ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “แชร์แมนส์ เลาจน์” (Chairman’s Lounge) ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจอย่างรุนแรง เนื่องจากบางคนมองว่า มันเป็นความพยายามที่จะ “เอาอกเอาใจ” รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบาเนซี ผู้นำออสเตรเลีย

ความขุ่นเคืองดังกล่าวทำให้สมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียหลายคน ยกเลิกการเป็นสมาชิกของแชร์แมนส์ เลาจน์ ท่ามกลางการตรวจสอบกฎระเบียบอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น เกี่ยวกับสิทธิพิเศษที่มอบให้แก่นักการเมือง

ความขัดแย้งเรื่องห้องรับรองเหล่านี้ มีสาเหตุมาจากหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับสายการบินแควนตัส ซึ่งระบุว่า อัลบาเนซี ติดต่อนายอลัน จอยซ์ อดีตประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของแควนตัส เพื่อขออัปเกรดเที่ยวบินของเขาและสมาชิกในครอบครัว

แม้อัลบาเนซีออกแถลงการณ์ปฏิเสธ แต่ข้อกล่าวหาข้างต้น รวมถึงการเปิดเผยว่า ผู้นำออสเตรเลียและสมาชิกรัฐสภาคนอื่น ยอมรับการอัปเกรดเที่ยวบินหลายครั้ง ยิ่งเพิ่มความกังวลที่มีมาอย่างยาวนานว่า รัฐบาลชุดก่อนหน้าปกป้องสายการบินแควนตัสอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่

อนึ่ง พรรคแรงงานของอัลบาเนซี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ถูกกล่าวหาว่าปกป้องแควนตัสจากการแข่งขันระหว่างประเทศ อีกทั้งสายการบินยังได้รับเงินช่วยเหลือ 2,700 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 60,000 ล้านบาท) จากรัฐบาลชุดที่แล้ว ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ต้องชำระเงินคืน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมากกว่าเงินที่สายการบินคู่แข่งอย่าง “เวอร์จิน ออสเตรเลีย” และบริษัทอื่น ๆ ได้รับในช่วงเวลาเดียวกัน

ด้านนายริโก แมร์เคิร์ต ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และผู้สันทัดกรณีด้านภาคส่วนสายการบินของออสเตรเลีย กล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ ที่สิทธิพิเศษทางการเมืองช่วยให้แควนตัส ได้รับการสนับสนุนและความอนุเคราะห์ทั่วทั้งภาคส่วน และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน สายการบินจึงมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ มากมาย เช่น การเข้าถึงแชร์แมนส์ เลาจน์ และการอัปเกรดเที่ยวบิน ตลอดจนการจัดมื้ออาหารค่ำส่วนตัวให้กับนักการเมือง

นอกจากนี้ ความไม่พอใจต่อสิทธิพิเศษของแควนตัส ยังทำให้เกิดคำถามในวงกว้าง เกี่ยวกับความโปร่งใสของของขวัญทางการเมือง และความพยายามในการล็อบบี้สมาชิกรัฐสภา

ขณะที่ นายอดัม เกรย์คาร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยแอดิเลด และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะและการทุจริต กล่าวว่า ออสเตรเลียมีการคอร์รัปชันอยู่ในระดับต่ำ แต่ปัญหาที่พบได้ทั่วไปในประเทศร่ำรวย คือ ลักษณะของการทุจริต เกี่ยวข้องกับการซื้อสิทธิการเข้าถึง

ทั้งนี้ทั้งนั้น เกรย์คาร์ไม่เชื่อว่า การที่สมาชิกรัฐสภาได้รับการอัปเกรดเที่ยวบินฟรี เป็นเรื่องผิดจริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองในออสเตรเลีย ซึ่งมักจะเดินทางเป็นระยะไกล และบ่อยกว่านักการเมืองในประเทศที่มีแผ่นดินใหญ่ขนาดเล็กกว่า อย่างไรก็ตาม การติดต่อขออัปเกรดเที่ยวบินจากสายการบินโดยตรง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากมันถือเป็นการขอรับผลประโยชน์

“นักการเมืองของออสเตรเลียไม่ควรถูกกีดกัน หรือห้ามไม่ให้เข้าถึงแชร์แมนส์ เลาจน์ แต่พวกเขาควรถูกขอให้จ่ายเงิน เพื่อใช้บริการห้องรับรองพิเศษนี้” เกรย์คาร์ กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES