กรุงไทย สร้างชื่อให้คนร้องโอ้โห เมื่อเป็นแบงก์ที่รัฐบาลลุง ให้ทำ แอป เป๋าตัง คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน เพื่อใช้ในโครงการที่รัฐบาลอัดเงินใส่กระเป๋าประชาชนหลังวิกฤติโควิดระบาด ทำให้เศรษฐกิจซบเซารุนแรง ผู้คนหน้าซีด ถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน ตกงาน จำต้องได้รับเงินต่อลมหายใจ กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งส่วนตนและส่วนรวม แม้หมดโควิด แต่ “นวัตกรรม” แอปการเงินก็กลายเป็นสารตั้งต้น ทำให้ในตลาดสด แผงขายผัก ผลไม้ ส้มตำ หมูปิ้ง เขียงหมู ไม่ว่าจะซื้อ 10-20 บาท ก็โอนเงินผ่านแอปได้หมด

ไม่ต้องอวย แต่กรุงไทยพิสูจน์ตัวแล้วว่า คือ แบงก์ที่มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีมารับใช้ประชาชนได้สำเร็จงดงามแห่งหนึ่ง โดยข้อมูลหรือ “ดาต้า” ทั้งหมดตกเป็นของรัฐ ไม่ใช่ของแบงก์กรุงไทยอย่างที่มักเข้าใจผิดกัน

ไม่แปลกที่ผู้นำองค์กรชื่อ ผยง ศรีวณิช จะได้รับการต่ออายุจาก บอร์ด เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย เป็นวาระที่ 3 (หลังอยู่ครบ 2 วาระ 8 ปี) โดยวาระใหม่เริ่ม 8 พ.ย. 2567 ถึง 7 พ.ย. 2571 โน่น ถือเป็นผู้บริหารแบงก์ที่จะอยู่ในตำแหน่ง 3 วาระ 12 ปีคนแรก เป็นใบเสร็จความเก่ง มีฝีมือของคนชื่อ ผยง ที่คนมักเรียกผิดเป็น พะยง หรือผยอง แทน ผะยง (มาจาก ผยอง ที่แปลว่า ฮึกเหิม เย่อหยิ่ง เปล่าไม่รู้) แต่ ผยง กรุงไทย ไม่หยิ่ง นุ่มนวล แต่ไม่นุ่มนิ่ม นะเออ

คุณผยง ยังสวมหมวกเป็นประธานสมาคมธนาคารไทย อีกหนึ่งเสาหลักธุรกิจภาคเอกชนด้วย เราจึงมักได้เห็นบทบาท คุณผยง ร่วมเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) เช่น เรื่องดอกเบี้ย การลดหนี้ เงินกู้เพื่อลดคาร์บอน กำไรแบงก์ที่ถูกวิจารณ์ (ชนิดไม่ค่อยเป็นธรรม) เศรษฐกิจนอกระบบ…เป็นต้น

จึงนับเป็นโอกาสพิเศษยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมกรุงไทยไปศึกษาดูงาน ต้นแบบ ธนาคารดิจิทัล หรือ Virtual bank แห่งแรกของญี่ปุ่น Minna Bank ที่เมืองฟูกูโอกะ ร่วมกับท่านปลัดคลัง ลวรณ แสงสนิท ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย Minna Bank เป็นธนาคารไร้สาขา อยู่ในเครือฟูกูโอกะไฟแนนเชียล มี 4 ธนาคารย่อยอยู่ในกรุ๊ป แม้จะเพิ่งก่อตั้งในปี 2007 ได้ใบอนุญาตปี 2020 แต่ก็มีประวัติยาวนานกว่า 140 ปีแล้ว มีหลักคิดแบบแบงก์กรุงไทย

คุณผยงบอกว่า Virtual Bank เป็นภาพใหญ่ที่กรุงไทยจะก้าวเดินไปร่วมกับ กลุ่ม AIS และ OR (เพื่อเป็นแบงก์ของชุมชนทั้ง 2 แห่งนี้) โดยกรุงไทยปรับเปลี่ยนมาแล้ว 3 เฟส เฟส 1 ซ่อมสร้างองค์กร ปรับโครงสร้างปล่อยสินเชื่อให้เหมาะสม เฟส 2 ปรับองค์กรสู่ยุค “ดิจิทัล โมบายแบงกิ้ง (Krungthai Next ที่มีบัตร กรุงไทยแทรเวลการ์ด ใช้เป็นบัตรเดบิต สะดวกสุด ๆ เมื่อนำไปใช้จ่ายในต่างประเทศ) กับ Open Finance (เป๋าตัง) ที่เพิ่มลูกค้าจาก 3.5 ล้าน เป็น 40 ล้านคน เฟส 3 สร้างความเติบโต แยกเป็นบริษัทใหม่ ร่วมมือกับ IBM และAccenture สร้างทักษะด้านดิจิทัล และ AI

เรามีลูกค้ากว่า 40 ล้านคน ที่ใช้บริการผ่านดิจิทัลแบงกิ้งและสาขาด้วย 35 ล้านคน แต่ที่ใช้บริการผ่านสาขาอย่างเดียว 7 ล้านคน เป็นผู้สูงวัย 52% และเป็นกลุ่มที่ใช้สวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ได้สร้างรายได้ให้เรา แต่เรายึดหลักการ การปิดสาขาต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก โดยดูว่าหากจะปิดสาขาในรัศมี 5 กม. ประชาชนมีทางเลือกอื่นหรือไม่ เราจึงยังมีสาขามากสุดที่ 960 สาขา จากเดิม 1,100 สาขา พนักงาน 1.6 หมื่นคนจาก 2.2 หมื่นคน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอย่างสะดวกในฐานะเป็นแบงก์รัฐ แต่เราก็มีลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างมีนัยสำคัญด้วย”

อีกด้านหนึ่ง จะทดลองทำ “ดิจิทัลแบงก์” 10 แห่งเป็น sand box ทุนเริ่มต้นประมาณ 7 พันล้าน คนปล่อยกู้จะเป็นคนในชุมชนที่รู้จักทุกคนอยู่แล้ว (มีกลิ่นอายกองทุนหมู่บ้าน แต่เติมหลักบริหารการเงินเข้าไป) เป็นทางเลือกให้คนที่เข้าไม่ถึงธนาคารหรือต้องกู้นอกระบบได้ใช้บริการ ไม่ต้องตกเป็นทาสเจ้าหนี้นอกระบบ นี่ละ หลักธรรมาภิบาล

ก่อนจบมีสิ่งที่ประทับใจที่อยากเขียนถึงมากมาย นั่นคือ ชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งที่เราผ่านไป ล้วนใช้คนแก่ทำงานด้านบริการ เช่น ออกมาโบกมือต้อนรับ เปิดศิลปะการแสดงต่าง ๆ ร้องเพลงเข้าจังหวะ ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยไมตรีจิต ทำให้คนแก่ไม่เปลี่ยวเหงาเดียวดาย แต่มีชีวิตชีวา อยู่แบบมีคุณค่า

เป็นแบบอย่างที่รัฐบาลควรนำมาใช้อย่างยิ่ง สำหรับสังคมผู้สูงอายุอย่างไทย.

…………………………………….
ดาวประกายพรึก

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…