พล.ร.อ.เหมี่ยว อยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งรวมถึงอดีตรัฐมนตรีกลาโหม 2 คน ที่ตกเป็นเป้าหมายของการปราบปรามการทุจริตในวงกว้าง ในช่วงปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชันอาจบ่อนทำลายความพร้อมในการสู้รบของจีน ส่งผลให้รัฐบาลปักกิ่งเกิดความกังวล ท่ามกลางการเสริมกำลังทหารครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ดำเนินแคมเปญต่อต้านการทุจริตที่ฝังรากลึกในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่เขาขึ้นสู่อำนาจเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนกล่าวว่า นโยบายข้างต้นส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ใสสะอาด แต่บรรดานักวิจารณ์มองว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นวิธีจัดการคู่แข่งทางการเมือง
ในช่วงปีที่ผ่านมา การปราบปรามการทุจริตมุ่งเน้นไปที่กองทัพปลดปล่อยประชาชน ( พีแอลเอ ) โดยเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมการทหารและการป้องกันประเทศ เกือบ 20 นาย ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2566 ซึ่งผู้กระทำผิดที่มีตำแหน่งใหญ่ที่สุดจนถึงขณะนี้ คือ รมว.กลาโหมจีน
ด้านสื่อของรัฐยืนยันว่า พล.อ.เว่ย เฟิ่งเหอ รมว.กลาโหมจีน ระหว่างปี 2561-2566 และ พล.อ.หลี่ ซ่างฝู ผู้สืบทอดตำแหน่ง ระหว่าง เดือน มี.ค.-ต.ค. ปีที่แล้ว ถูกขับออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ และอยู่ระหว่างการสอบสวนฐานทุจริต
ในเวลานั้น นักวิเคราะห์เชื่อมโยงการปราบปรามอดีตรมว.กลาโหม ทั้งสองคน กับการสืบสวนในวงกว้าง เกี่ยวกับกองกำลังจรวดของพีแอลเอ ซึ่งดูแลขีปนาวุธทั่วไปและขีปนาวุธนิวเคลียร์ของจีน และมีแนวโน้มที่จะเป็นแนวหน้าในการโจมตีของรัฐบาลปักกิ่ง ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่
หนังสือพิมพ์ “เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส” ของสหราชอาณาจักร รายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า พล.ร.อ.ต่ง จวิน รมว.กลาโหม อยู่ระหว่างการสอบสวนเรื่องการคอร์รัปชั่นเช่นกัน แต่รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยระบุว่าเป็น “เรื่องที่แต่งขึ้นโดยผู้ไม่ประสงค์ดี” และมีเจตนาใส่ร้ายป้ายสีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน
กระนั้น หากมีการยืนยันการปลด พล.ร.อ.เหมี่ยว และพล.ร.อ.ต่ง ออกจากตำแหน่ง สิ่งนี้อาจบ่งชี้ว่า การปราบปรามการทุจริตกำลังขยายวงกว้าง เนื่องจากทั้งสองคน ไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับกองกำลังจรวดของพีแอลเอ
“การทุจริตในกองทัพจีน น่าจะทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสามารถของพวกเขา ในการบรรลุเป้าหมายทางทหาร และการฟื้นฟูครั้งยิ่งใหญ่ ตามที่สีคาดหวังไว้” นางเฮเทอร์ วิลเลียมส์ ผู้อำนวยการโครงการประเด็นนิวเคลียร์ จากศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) ระบุ
นอกจากนั้น การปราบปรามการทุจริตอย่างหนักเช่นนี้ กลับทำให้เกิดคำถามว่า ผู้นำจีนเหลือใครที่ไว้วางใจได้บ้าง และเรื่องอื้อฉาวที่ทำให้ต้องปลดเจ้าหน้าที่คนสำคัญ จะฝังรากลึกแค่ไหน.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP