ข้อมูลการคาดประมาณของเว็บไซต์ LGBT–Capital.com ในปี 2562 ถึงปัจจุบัน ระบุว่า มี LGBT ทั่วโลกประมาณ 371 ล้านคน และไทยมี LGBT ประมาณ 3.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลนิธิเอ็มพลัส และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการลูกแก้ว “เริ่มต้นโอบรับทุกความหลากหลายและสร้างการมีส่วนร่วม: Embracing Diversity and Inclusion” เพื่อส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โดยภาพรวมดูเหมือนสังคมไทยจะเปิดกว้าง และมีทัศนคติเชิงบวกต่อกลุ่ม LGBTIQN+ มากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ LGBTIQN+ ทุกกลุ่มจะมีพื้นที่ในสังคมหรือถูกมองเห็นอย่างเท่าเทียมกัน กลุ่ม LGBTIQN+ ยังคงเป็นบุคคลที่ ถูกเลือกปฏิบัติ ตีตรา ถูกกลั่นแกล้ง รังแก และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
“สสส. ดำเนินงานพัฒนายุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ 5 ด้าน ได้แก่
1. คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
2. พัฒนาฐานข้อมูลและการบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ
3. สร้างระบบบริการสุขภาวะที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้
4. สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและชุมชน
5. พัฒนาศักยภาพด้านการเสริมสร้างสุขภาวะ
โครงการลูกแก้วมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์นี้ สสส. จึงสนับสนุนโรงเรียน ส่งเสริมสุขภาวะที่มีสภาพแวดล้อม เอื้อต่อการสร้างเสริมความเข้มแข็งของเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น จัดอบรมพัฒนาศักยภาพ พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ ให้บริการปรึกษาสุขภาพจิต สร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของเด็กและเยาวชนให้มีสุขภาวะที่ดี และเป็นต้นแบบการสร้างสังคมที่โอบรับความหลากหลายได้อีกด้วย” นางภรณี กล่าว
นายสุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการลูกแก้วจะเริ่มดำเนินการนำร่อง 15 โรงเรียนในกรุงเทพฯ ผ่านกิจกรรมเดิมที่มีอยู่ เช่น โครงการ To Be Number One และเสริมสร้างศักยภาพ ครู นักเรียน ให้เป็นแกนนำในการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในโรงเรียน เพื่อสร้างต้นแบบโรงเรียนที่เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างทางเพศ โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจาก สสส. และภาคีเครือข่าย ช่วยกันขับเคลื่อนให้วัยรุ่น และเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศมีสุขภาวะที่ดี กทม. มี 4 นโยบายหลัก ได้แก่
1.เรียนดี ให้การศึกษาพัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก
2.สร้างสรรค์ดี เศรษฐกิจดี สนับสนุนการจัดเทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ (Pride Month)
3.ปลอดภัยดี หน่วยงานของ กทม. ต้องเข้าใจสนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ
4.สุขภาพดี พัฒนาคลินิกสุขภาพทางเพศหลากหลายกรุงเทพฯ (BKK PRIDE CLINIC)
นายพงศ์ภีระ พัฐภีระพงศ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส กล่าวว่า การทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของมูลนิธิเอ็มพลัส ที่ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียม และสะท้อนความหลากหลายทางเพศที่มีในสังคมไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านจิตสังคมของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTIQN+ โดยเน้นการเสริมสร้างทักษะชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนร่วม ยอมรับในความแตกต่าง และเคารพซึ่งกันและกันในกลุ่มวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงพัฒนาตนเองในทางที่ดีขึ้นสู่การเป็นวัยรุ่นที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและสุขภาวะดีในอนาคต