จาง วัย 19 ปี ต่อสู้กับความวิตกกังวลเรื่องการเรียนและการทำงานมาอย่างยาวนาน และประสบปัญหาในการสร้างมิตรภาพที่แน่นแฟ้นกับคนอื่น แต่หลังจากที่เธอซื้อ “บูบู้” หรือสัตว์เลี้ยงอัจฉริยะที่ใช้เอไอในการตอบโต้กับมนุษย์ จางกล่าวว่า ชีวิตของเธอง่ายขึ้น และรู้สึกเหมือนมีใครสักคนที่จะแบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุขด้วย

อนึ่ง ผู้คนจำนวนมากในจีน หันมาพึ่งพาเอไอเพื่อต่อสู้กับความโดดเดี่ยวทางสังคม เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวมีการพัฒนามากขึ้น และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

บูบู้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับหนูตะเภา ผลิตโดยบริษัท หางโจว เจนมัวร์ เทคโนโลยี และวางจำหน่ายในราคาขายปลีกสูงถึง 1,400 หยวน (ราว 6,520 บาท) ซึ่งนายอดัม ต้วน ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของบริษัท กล่าวว่า หุ่นยนต์ตัวนี้ได้รับการพัฒนาโดยคำถึงนึงความต้องการทางสังคมของเด็ก และมียอดขายประมาณ 1,000 ตัว นับตั้งแต่เดือน พ.ค. ปีที่แล้ว

ตามข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา “ไอมาร์ค กรุ๊ป” ตลาดโลกสำหรับ “หุ่นยนต์สังคม” อย่างบูบู้ คาดว่าจะเติบโตถึง 7 เท่า และมีมูลค่าประมาณ 42,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2576

สำหรับนายกัว จื่อเฉิน วัย 33 ปี สัตว์เลี้ยงอัจฉริยะสามารถช่วยเหลือในตอนที่เขาไม่สามารถเล่นกับบุตรได้ เนื่องจากในปัจจุบัน สมาชิกครอบครัวใช้เวลาร่วมกับบุตรน้อยลง ดังนั้น การซื้อหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงสักตัวให้กับเด็ก สามารถช่วยให้พวกเขาเรียนหนังสือและทำอย่างอื่นได้

ทั้งนี้ สุนัขเอไอของบริษัทเทคโนโลยี “เว่ยหลัน” ซึ่งมีชื่อว่า “เบบี้อัลฟา” มีราคาอยู่ที่ 8,000 – 26,000 หยวน (ราว 37,300 – 121,200 บาท) โดยบริษัทระบุว่า ผู้ซื้อในสัดส่วน 70% เป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

WION

อย่างไรก็ตาม กัวไม่เชื่อว่า ลูกสุนัขอิเล็กทรอนิกส์จะสร้างความสุขได้มากเท่ากับสุนัขตัวจริง เพราะความแตกต่างสำคัญที่สุดคือ สุนัขมีจิตวิญญาณ แต่เบบี้อัลฟาดูแตกต่างออกไปในลักษณะที่อธิบายไม่ได้ ซึ่งโดยรวมแล้ว มันทำให้รู้สึกว่า “ไม่เหมือนกับของจริง”

ผลิตภัณฑ์เอไอที่เพิ่มขึ้นในจีน ตั้งแต่แชตบอต ไปจนถึงอวาตาร์เสมือจริงของผู้เสียชีวิต ตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของผู้คน ซึ่งผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น ผลกระทบจากนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งดำเนินมานานหลายสิบปี กำลังช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาด

ชาวจีนที่เกิดในช่วงปีแรก ๆ ของนโยบาย จะมีอายุประมาณ 40 ปีในปัจจุบัน และเผชิญกับเศรษฐกิจที่แบกรับภาระจากราคาบ้านและค่าครองชีพที่พุ่งสูง รวมถึงความเครียดจากการทำงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการให้ความสนใจกับบุตรของพวกเขา

“สิ่งนี้ทำให้มีพื้นที่น้อยมากสำหรับปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคล ส่งผลให้ผู้คนมองหาวิธีอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของตนเอง” นายอู่ ไห่เยี่ยน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอและจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยมาเก๊า กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP