ทั้งนี้ ในตอนที่แล้วได้พลิกแฟ้มสะท้อนย้ำการวิเคราะห์ของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คือ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ หรือ “หมอแนต” ที่สะท้อนไว้ว่า… “พฤติกรรมโหดของวัยรุ่น” ลักษณะนี้ ที่เกิดโดย “ผู้ก่อเหตุมีอายุน้อยลง” นี่เป็น “ปรากฏการณ์ที่ยิ่งน่าตกใจ!!” ที่เกิดจากการ “มีปัจจัยบ่มเพาะ” ทั้งเชิงจิตวิทยา และเชิงสังคม
“แก๊งวัยรุ่นโหด” นั้น “ยุคนี้ยิ่งเกิดง่าย”
และ “ง่ายที่จะกลายเป็นยุวอาชญากร”
ไม่รีบร่วมกันแก้ “ปัญหาจะยิ่งซับซ้อน”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ปัญหานี้ นอกจากการวิเคราะห์ “วัยรุ่นตั้งแก๊งก่อเหตุรุนแรง” ในมุมจิตวิทยาแล้ว กับสถานการณ์ที่ถึงขั้นเป็น “ปัญหายุวอาชญากร” นี่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะพลิกแฟ้มสะท้อนย้ำเพื่อฉายภาพให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาเรื่องนี้อีกครั้ง ว่า… ปัญหาดังกล่าวนี้ ปัญหา“อาชญากรวัยรุ่น-ยุวอาชญากร”ก็เป็นเรื่องที่ ผูกโยงทั้งปัญหาทางกฎหมาย-ปัญหาทางสังคม โดยถ้าไม่มีมาตรการสกัดกั้น “สังคมไทยจะยิ่งแก้ปัญหานี้ยากขึ้นเรื่อย ๆ”…
นอกจากมุมวิเคราะห์ทางจิตวิทยาแล้ว ในมุมมองทางสังคม-ทางอาชญวิทยา กรณีนี้ก็มีแง่มุม-มีบทวิเคราะห์น่าสนใจ โดย ผศ.ร.ต.อ.ดร.คทารัตน์ เฮงตระกูล ที่ได้สะท้อนไว้ผ่านทางบทความใน วารสารกระบวนการยุติธรรม (Journal of Thai Justice System) โดยได้ชี้ไว้ถึง “ปัจจัย” ที่อาจเป็น “เครื่องบ่มเพาะยุวอาชญากร”ซึ่ง “สังคมไทยต้องตระหนัก”
การสะท้อนไว้โดยผู้สันทัดกรณีท่านดังกล่าว ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อ-สะท้อนย้ำ ณ ที่นี้ หลักใหญ่ใจความได้มีการระบุถึงปัญหานี้ไว้ว่า… “ปัญหาอาชญากรเด็ก” นั้นเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย หลาย ๆ องค์ประกอบ อาทิ ปัจจัยทางกายภาพ ปัจจัยทางสังคม ปัจจัยทางจิตที่เป็น “ตัวกระตุ้น”จนทำให้ “มีอาชญากรเด็กเพิ่มขึ้น”ในยุคนี้…
ทาง ผศ.ร.ต.อ.ดร.คทารัตน์ ได้มีการขยายความถึงเรื่องปัจจัยเอาไว้อีกว่า… ในเรื่องของตัวกระตุ้นจาก “ปัจจัยทางกายภาพ” นั้น ก็มีแนวคิดหนึ่งที่เชื่อว่า… บุคคลที่มีญาติหรือสมาชิกในครอบครัวเป็นอาชญากร สืบสายโลหิตมาจากผู้ที่เป็นอาชญากร มีความเป็นไปได้ว่า…บุคคลนั้นมีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรมตามญาติหรือสมาชิกครอบครัว?? โดยเคย มีผลศึกษาในต่างประเทศที่น่าแปลกใจ ว่า…บุตรบุญธรรมที่มีบิดาตัวจริงเป็นอาชญากร แม้ไม่เคยติดต่อบิดาตัวจริงเลย ก็อาจมีแนวโน้มที่จะมีแรงกระตุ้นในการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 เท่า?? เมื่อเทียบกับผู้ที่บิดาไม่ได้เป็นอาชญากร

ผู้สันทัดกรณี-ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ท่านเดิม ยังแจกแจงไว้ถึง “ตัวกระตุ้น” ที่ก็จัดเป็น ปัจจัยทางกายภาพ ที่อาจ “บ่มเพาะ” ทำให้เกิด “ยุวอาชญากร” โดยระบุไว้ว่า… “ภาวะทุพโภชนาการ” เรื่องนี้ก็ อาจเป็นอีกปัจจัยทำให้เกิดอาชญากรเด็กขึ้นได้!! จากการที่เด็กหรือเยาวชนได้รับสารอาหารตามช่วงวัยที่ไม่ถูกสัดส่วนทางโภชนาการ ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างพัฒนาการไม่ครบถ้วน จน ส่งผลต่อระบบร่างกาย อาทิ กรณี “มีน้ำตาลในเลือดต่ำ” ซึ่งกรณีนี้ก็อาจจะทำให้คน ๆ นั้นมีการแสดงพฤติกรรม ก้าวร้าวต่อคนรอบข้าง หรือมักจะทำให้ มีปัญหาด้านการปฏิสัมพันธ์ กับสังคม…
“สำหรับในประเทศไทยนั้น ค่านิยมที่มองการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ กับการแพร่หลายของสารเสพติด ก็เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้วัยรุ่นมีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมด้วย”…เป็นการชี้ไว้ถึง “อีกปัจจัย” กรณีนี้
ขณะที่ “ปัจจัยทางจิต” นั้น ข้อมูลโดยสังเขปที่ ผศ.ร.ต.อ.ดร.คทารัตน์ เฮงตระกูล ได้ระบุไว้ มีว่า… จากผลศึกษาของกลุ่มจิตวิทยาอาชญากรรม ซึ่งศึกษา “บุคลิกของอาชญากร” พบว่า… “ปัจจัยทางจิตใจ” คือ “ตัวกำหนดการกระทำผิด” ที่จะผลักดันหรือกระตุ้นทำให้คน ๆ หนึ่งกระทำผิดได้ อย่างไรก็ตาม แต่ปัจจัยนี้ที่จะกระตุ้นให้คนทำความผิดได้นั้นก็จะต้องมีพัฒนาการมาแต่เยาว์วัย จนอาจ ติดตัวมาเป็นนิสัย และกระตุ้นให้ทำผิดซ้ำซากขึ้นได้ ส่วน ปัญหาจิตเวช นั้นก็มีส่วนได้เช่นกัน เช่น มีระบบความคิดบกพร่อง สมองบกพร่อง หรืออยู่ภายใต้ความกดดันทางจิตใจ ขาดความมั่นคงทางจิตใจ
ในส่วนของ “ปัจจัยทางสังคม” กรณีนี้ทางผู้สันทัดกรณีท่านเดิมระบุไว้ว่า… หัวข้อนี้อาจหมายรวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวอาทิ สภาพครอบครัว และชุมชนรอบตัว ที่สามารถ เป็นปัจจัยส่งผลโดยตรงต่อการเป็น “ยุวอาชญากร” ได้ นอกจากนี้ ในมุมมองอาชญวิทยาสังคม ปัญหาการคบเพื่อนที่ไม่ดีก็มีผลชักนำไปสู่เส้นทางการประกอบอาชญากรรมได้เพิ่มขึ้น จากการที่เยาวชนได้เรียนรู้ทั้งวิธีการและเทคนิคจากกลุ่มเพื่อน ๆ ที่ไม่ดี หรือแม้แต่ได้รับแรงจูงใจและการกระตุ้นจากกลุ่มเพื่อน ๆ ซึ่งมีผลกับการ “เลียนแบบอาชญากรรม” ในวัยรุ่น รวมไปถึง “ความถี่ในการก่ออาชญากรรม” ด้วย
“การเป็นยุวอาชญากร อาจเป็นได้จากหลายปัจจัยเสริมกัน ซึ่งมีทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้และควบคุมได้ ดังนั้นการเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เข้าสู่วงการอาชญากรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทุกฝ่ายควรศึกษาทำความเข้าใจ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อจำนวนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากร” …เป็นอีกส่วนที่ ผศ.ร.ต.อ.ดร.คทารัตน์ ได้ชี้ไว้
สังคมต้องเข้าใจ…“สังคมต้องช่วยกัน”
เพื่อนำสู่การ “กู้ระเบิดสังคมลูกใหญ่”
“ต้องร่วมกันแก้ไขกรณียุวอาชญากร”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์