เชื่อได้ว่าทุกวันนี้…บรรดาแมลงเม่าน้อยใหญ่ในตลาดหุ้นไทยคงใจไม่เป็นสุข เพราะไม่รู้ว่าตลาดหุ้นไทยจะสามารถผงกหัวฟื้นตัวขึ้นมาได้กี่โมง? เพราะนับตั้งแต่เปิดปี 2568 เป็นต้นมาจนถึงเวลานี้ ดัชนีหุ้นไทยร่วงลึกไปแล้วกว่า 200 จุด หลังปิดส่งท้ายปี 2567 ด้วยดัชนี 1,400.21 จุด โดยปรากฏว่าดัชนีเปิดตลาดในภาคเช้าของวันที่ 28 ก.พ. 68 กลับต่ำเตี้ยเรี่ยราดหลุด 1,200 จุด โดยอยู่ที่ 1,194.28 จุดเท่านั้น!!
เรียกได้ว่า…เป็นการลดลงจนถึงจุดต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีเศษ นับจากวันที่ 30 ต.ค.63 ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดตลาดที่ 1,194.95 จุด ในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
อย่างไรก็ตามหากมาย้อนดูแต่ละกลุ่มนักลงทุนด้วยแล้วจะเห็นว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ.68 นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 11,088.36 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,695.08 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 10,486.51 ล้านบาท
หลากหลายปัญหารุมเร้า
ปีนี้จึงถือเป็น “ปีมหาโหด” จากสารพัดปัจจัยที่มะรุมมะตุ้มกันเข้ามาทั้งเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดน้อยลงจากกรณีที่มีการโกงหุ้น นำหุ้นไปจำนำ จนเกิดความเสียหายหนัก รวมไปถึงปัจจัยภายนอกจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สามวันดีสี่วันไข้ทยอยขึ้นกำแพงภาษีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งแม็กซิโก แคนาดา จีน ไปจนถึงข่าวเตรียมปรับขึ้นภาษียานยนต์ ยา และชิป ที่ทำเอาธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องปั่นป่วนไปหมดจนนำไปสู่ความกังวลว่าจะเกิด “สงครามการค้า” ขึ้น

ขายแอลทีเอฟฉุดตลาด
ส่วนหนึ่งยังมาจากแรงเทขายกองทุนหุ้นรวมระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่ครบกำหนดพร้อมขายในปีนี้ ซึ่งเห็นได้จากยอดแอลทีเอฟในเดือน ม.ค. 68 ลดลง 31,400 ล้านบาท หรือ 14.5% เหลือ 188,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี หรือเฉลี่ย 10 ปีเดือน ม.ค. มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทุกกองทุน ลดลง 8,000 ล้านบาท ส่งผลให้นักลงทุนทั่วไปขายหุ้นและนักลงทุนทั่วไปไม่กล้าซื้อหุ้น
ขณะเดียวกันผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 67 ที่ผ่านมา ไม่ได้ดีอย่างที่คาดการณ์กันไว้ เห็นได้จากกำไรกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่กอดคอกันร่วงจากกำลังซื้อชะลอตัว ธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ อุปทานล้น โดยเฉพาะบรรดากลุ่มบ้านเดี่ยวที่โอเวอร์ซัพพลายในทุกระดับราคา เช่นเดียวกับกำไรธนาคารบางรายที่ยังลดลงจากการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งบริษัทใหญ่ในกลุ่มพลังงานเองกำไรต่างพากันรูดลงระนาว
ติดกับดักหุ้นตัวใหญ่
ในอีกด้าน พบว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงติดกับดักอิทธิพลหุ้นรายตัวไซซ์ใหญ่ ๆ อย่าง เดลต้า เอโอที ซีพีออลล์ ฮานา ซึ่งจะสังเกตได้ชัดว่า ทุกครั้งที่หุ้นเหล่านี้เกิดปัญหาจะดึงภาพรวมดัชนีร่วงลงมาทันที เห็นได้จากเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา หุ้นเดลต้าผลประกอบการต่ำกว่าคาด ส่วนหุ้นเอโอทีลูกหนี้สำคัญคือ คิงเพาเวอร์มีปัญหาสภาพคล่อง จนเกิดความกังวลผลประกอบการว่าออกมาต่ำกว่าที่คิด ส่งผลให้ในวันนั้นดัชนีหุ้นร่วงหนักไปถึง 35 จุด

“โดยนักวิเคราะห์เคยได้ออกมาให้ข้อมูลอยู่ว่า ในการเปลี่ยนแปลง 1 บาท ของหุ้นเอโอทีจะกดดันดัชนีให้ลดลง 1.15 จุด และกดดันดัชนีเซ็ต 50 ลดลง 1 จุด และทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงของเดลต้าจะกดดันดัชนีให้ลดลง 1 จุด และกดดันดัชนีเซ็ต 50 ลดลง 0.9 จุด”
นอกจากนี้ ความเปราะบางของตลาดหุ้นไทยส่วนหนึ่งยังเกิดมาจาก “มูลค่าซื้อขาย” ที่หล่อเลี้ยงตลาดได้ลดน้อยถอยลงไปแทบทุกปี โดยล่าสุดในปี 68 เหลือเพียงวันละ 39,000 ล้านบาท ขณะที่เมื่อปี 67 มูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 44,900 ล้านบาท ส่วนในปี 66 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 50,700 ล้านบาท ขณะที่ในปี 65 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 71,000 ล้านบาท ส่งผลให้เมื่อมีปัจจัยเข้ามากระทบก็จะกดดันให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลงลึกมากกว่าปกติ
รัฐงัดสารพัดดึงเชื่อมั่น
แม้ที่ผ่านมาทั้งรัฐบาล ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรง อย่าง กระทรวงการคลัง สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ได้ “เทคแอ็กชัน” งัดสารพัดวิธีเพื่อมาช่วยพยุงตลาดหุ้นไทย ทั้งการตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารหลักทรัพย์ของรัฐและพัฒนาตลาดทุนไทยเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปร่วมลงทุนผ่านหน่วยลงทุนประเภท ก. มีการรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% และสูงสุดไม่เกิน 9% ต่อปี
นอกจากนี้ยังได้ปรับเกณฑ์ในกองทุนไทยอีเอสจี ให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มจาก 100,000 บาท เป็น 300,000 บาท หรือไม่เกิน 30% ของรายได้ และยังลดเวลาถือครองจาก 8 ปี เหลือ 5 ปี นับจากวันลงทุน เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนในช่วงปลายปี 67 โดยเฉพาะผู้ที่มีการลดหย่อนภาษีมากขึ้น
รวมไปถึงออกนโยบายดูแลการชอร์ตเซลอย่าง “อัพติ๊ก รูล” เพื่อป้องกันการปั่นราคาหุ้น และลดความผันผวนของตลาดโดยกำหนดให้ขายชอร์ตในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายทุกครั้ง โดยเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 67 นั้น ก็ยังทำให้ดัชนีหุ้นในช่วงนั้นร่วงลงอยู่ดี เพราะนักวิเคราะห์บางรายมองว่า อาจทำให้เกิด Cover Short สำหรับหุ้นที่มีปริมาณการขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืนต่อจำนวนหุ้นเรียกชำระแล้วอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ 1%
เตรียมฟื้นแอลทีเอฟ
กระทั่งขณะนี้เองยังอยู่ระหว่างเตรียมแผนฟื้นฟูตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการ “ฟื้นชีพ” กองทุนแอลทีเอฟ โดยโยกเข้ามาอยู่ในกองทุนไทยอีเอสจี เพื่อพยุงหุ้นในช่วงขาลง และทบทวนการใช้อัพติ๊ก แทนที่จะใช้กับทุกหลักทรัพย์ เป็นมาตรการใหม่ คือใช้เกณฑ์เฉพาะรายหลักทรัพย์ที่มีราคาลดลงเมื่อเทียบกับราคาวันก่อนหน้า
ล่าสุด ทีมผู้บริหาร ตลท. ยังได้ยกทีมเข้าพบ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษ สำหรับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้าร่วมในโครงการจั๊มพ์พลัส คือขอยกเว้นกำไรส่วนเพิ่มตลอดในช่วง 3 ปี ของ บจ.ที่เข้าร่วมจั๊มพ์พลัสกรณี บจ.ที่เสนอแผนเพิ่มมูลค่าบริษัทแล้วสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายพร้อมขอนิรโทษกรรมภาษี สำหรับกรณี บจ.ที่เข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการกับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งอาจมีการทำบัญชีสองเล่ม ไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังในส่วนที่ไม่ได้รายงานบัญชีเพื่อยื่นเสียภาษีก่อนหน้านี้ เพื่อช่วยลดอุปสรรคและกระตุ้นให้ บจ. กล้าควบรวมกิจการกับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก และทำให้มีการเติบโตได้เร็ว
ลุ้นคลอดมาตรการใหม่
จากนี้ไป…คงต้องรอลุ้นฝีมือกันต่อไปว่ารัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งคลอดมาตรการใหม่ ๆ และเร่งฟื้นความเชื่อมั่นมาพยุงหุ้นที่ดิ่งลงใกล้แตะก้นเหวนี้ได้ทันเวลาหรือไม่? เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มาตรการที่ออกมา ไม่สามารถงัดให้หุ้นไทยกลับขึ้นมาได้ มิหนำซ้ำยังกลายเป็นว่าบรรดานักลงทุนกลับแปลความหมายของมาตรการในเชิงกลับกันด้วยช้ำไป จึงทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าหุ้นไทยไม่ได้ตอบรับกับมาตรการ โดยไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดว่าเป็นผลมาจากมาตรการโดยแท้จริง
แม้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ไม่แน่นอนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็จริงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 68 นี้ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างหนักมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยลดลงทิ้งห่างเบอร์ 2 อย่างตลาดหุ้นคูเวตไปแล้ว!!!แต่ถ้าหันกลับมามองตลาดหุ้นไทยแล้ว เป็นเพราะ “หุ้นไทยขาดเสน่ห์แล้วจริง ๆ” หรือไม่? จึงทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดน้อยลงไปทุกวัน!!.