วันก่อนเห็นข่าวความเคลื่อนไหวเรื่อง “จำนำข้าว” ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด กรณีต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกหรือไม่ เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่? หลังจากศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเมื่อเดือน เม.ย. 64 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท ตามคำสั่งของกระทรวงการคลัง
ถ้ายังจำกันได้ช่วงกลางปี 67 กระทรวงพาณิชย์ยุครัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เปิดประมูลขายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ จำนวน 15,000 ตันสุดท้าย! เป็นข้าวหอมมะลิที่เก็บรักษาไว้ในคลังที่ จ.สุรินทร์ เป็นเวลา 10 ปี แต่ยังขายได้ 18.00 บาท/กก. (ตันละ 18,000 บาท)
หลังการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 57 มีข้าวสารโครงการรับจำนำข้าวอยู่ในคลัง ประมาณ 18 ล้านตัน ถ้าไม่มี “อคติ” กันจนเลยเถิด! บริหารคลัง-โกดัง อย่างยุติธรรมไม่ประมูลเป็นอาหารสัตว์ แต่หมุนกลับมาเป็นอาหารคน! แล้วคิดถัวเฉลี่ยขายได้ 15 บาท/กก. (ตันละ 15,000 บาท) ข้าวสาร 18 ล้านตัน จะขายได้เงิน 270,000 ล้านบาท ปิดบัญชีทั้งโครงการฯ รัฐบาลจะเข้าเนื้อพอ ๆ กับการ “ประกันรายได้” นั่นแหล่ะ
“พยัคฆ์น้อย” เพิ่งคุยกับนายบัญชา เดชเจริญศิริกุล สส.พรรคกล้าธรรม เจ้าของโรงสีข้าวขนาดใหญ่ใน จ.นครสวรรค์ สส.บัญชาบอกว่าราคาข้าวปัจจุบันเป็นไปตามกลไกของผู้ส่งออกและตลาดโลก เมื่ออินเดียหันมาส่งออกข้าวตามปกติ ราคาข้าวไทยจึงร่วง ตอนนี้ราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ตันละ 6,500-7,200 บาท จึงอยากให้รัฐบาลมีโครงการออกมาช่วยชาวนา ไม่เช่นนั้นยิ่งทำนา ยิ่งเป็นหนี้ ทางออกสุดท้ายคือ “ขายนา”
“ระหว่างประกันรายได้ กับจำนำข้าว จำนำดีกว่า ชาวนาได้ราคาเต็มเม็ดเต็มหน่วย โรงสีก็ได้ด้วย รัฐก็ใช้เงินพอ ๆ กับประกันรายได้นั่นแหล่ะ แต่ประกันรายได้ จะไม่ได้นำตลาด แถมที่นาจะเพิ่มขึ้นมาก และเจ้าของที่ดินตัวจริง ให้เช่านาแต่ไม่ให้สิทธิในการรับเงินประกัน ส่วนแนวทางของผมคือ 1.กลับมาทำจำนำข้าวอีก แต่กำหนดไว้ที่ตันละ 12,000 บาทก็พอ ที่ความชื้นไม่เกิน 15% ชาวนาจะได้เงินจริง ๆ ตันละ 9,000-10,000 บาท แฮปปี้ทั้งชาวนา และรัฐบาลจะใช้งบประมาณไม่สูงเหมือนตันละ 15,000 บาท 2.โครงการชะลอการขายข้าวเปลือก คือเอาโครงการชะลอขายมาทำแทนการจำนำ ราคาข้าวจะดีขึ้นแน่นอน”
ที่ผ่านมาโรงสีตกเป็นจำเลยมาตลอดว่าเป็นผู้กำหนดราคา รวมหัวกันไม่ซื้อเพื่อกดราคา แต่จริง ๆ ไม่ใช่! เพราะคนกำหนดราคาคือ “ผู้ส่งออก” ซึ่งมีประมาณ 10 รายเท่านั้น ขณะที่โรงสีทั่วประเทศมีมากกว่าพันโรง และราคาข้าวถูกแบบนี้ แต่โรงสีไม่อยากซื้อข้าวเปลือกเก็บไว้ เพราะซื้อไว้ก็ขาดทุน เจ็บตัวแน่นอน
ปัญหาตอนนี้ คือชาวนาปลูกข้าวพันธุ์เวียดนามกันมาก เป็นข้าวพื้นนิ่ม เมล็ดสั้นกว่าข้าวพันธุ์ไทย ชาวนาชอบปลูกข้าวเวียดนาม เพราะอายุสั้น (เก็บเกี่ยวเร็ว) ทนโรค ผลผลิตต่อไร่สูง (1 ไร่=ตันเศษ) 2. ฤดูการปลูกที่ผ่านมา ข้าวราคาดี (อินเดียงดส่งออก) จึงปลูกกันมากถึง 80% ทั้งที่ใช้ประโยชน์ในประเทศแค่ 20%
ข้าวพื้นนิ่ม เอาไปทำอาหารสัตว์ ส่วนปลายข้าวเอาไปเข้าโรงผลิตเส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ก็ไม่ดีเหมือนข้าวพื้นแข็ง (ข้าวพันธุ์ไทย) แต่ตอนนี้ผสมปนเปกันหมด จึงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับอนาคตข้าวไทย
กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ต้องเร่งวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยออกมาให้เป็นที่ยอมรับของชาวนา และควรกำหนดโซนการปลูก ตรงไหนพื้นที่ดอน ตรงไหนน้ำท่วมเร็ว ภาคไหนควรปลูกข้าวพันธุ์อะไร ไม่ใช่ปล่อยให้ปลูกข้าวเวียดนามเต็มไปหมด ยิ่งส่งผลกระทบระยะยาวอย่างต่อเนื่องกับชาวนา.
……………………………………………………
พยัคฆ์น้อย