กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งด้วยชื่อใหม่“โครงการทางพิเศษ(ทางด่วน) จังหวัดภูเก็ต” มูลค่าโครงการทั้งหมด 87,489 ล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนโครงการเพื่อจูงใจภาคเอกชนให้ร่วมลงทุน

สำหรับโครงการทางด่วนสายกะทู้ – ป่าตอง จ.ภูเก็ต (ชื่อเดิม) วงเงินลงทุน 14,670.57 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792.24 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 8,878.34 ล้านบาท ที่เคยเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) เข้าร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) รูปแบบ Net Cost รัฐรับผิดชอบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792.24 ล้านบาท

ที่เหลือเอกชนรับผิดชอบทั้งหมดรวมทั้งการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) แลกกับการได้รับเงินค่าผ่านทางทั้งหมด ระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 35 ปี เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566 แต่ไม่มีรายใดมายื่นข้อเสนอลงทุนโครงการฯ  แม้ว่าจะมีเอกชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมาซื้อเอกสารไปถึง 13 ราย เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจซบเซา ทั้งจากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ และต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นสูงกว่ามูลค่าโครงการที่กทพ.กำหนด 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มี.. 2568 กทพ.ได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Opinion Hearing) งานศึกษาทบทวนความเหมาะสม และจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพ...ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.. 2562 (PPP) โครงการทางด่วนจังหวัดภูเก็ต โดยรวมโครงการระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงกะทู้ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ที่ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนขึ้นกว่า 2 พันล้านบาท เป็น 16,759 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 9,975 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานระบบจัดเก็บค่าผ่าน และระบบควบคุมการจราจร 712 ล้านบาท, ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 279 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,793 ล้านบาท

และเฟสที่ 2 ช่วงเมืองใหม่เกาะแก้วกะทู้ ระยะทาง 30.62 กม. วงเงินลงทุน 45,930 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างงานโยธา 22,620 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง และระบบควบคุมการจราจร 1,518 ล้านบาท, ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 604 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 21,188 ล้านบาท เข้าด้วยกันทั้ง 2 เฟสระยะทาง 34.60 กม. วงเงินลงทุนทั้งหมด 62,689 ล้านบาท

โดยจะให้เอกชนลงทุนเฉพาะค่าก่อสร้างงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง และระบบควบคุมการจราจร ทั้ง 2 เฟสรวม 2,230 ล้านบาท และค่าดำเนินการและบำรุงรักษา (O&M) ทั้ง 2 เฟส (ระยะเวลา 30 ปี) ประมาณ 24,800 ล้านบาท รวมเป็น 27,030 ล้านบาทเพื่อนำความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มาประกอบการจัดทำรายงานการศึกษา และวิเคราะห์โครงการฯ สรุปรายละเอียดนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการกทพ. บอกว่า ภายในปี 2568 กทพ.จะเริ่มก่อสร้างโครงการเฟสแรกกะทู้-ป่าตองได้แน่นอน เนื่องจากครม.อนุมัติโครงการแล้ว แต่จะเสนอครม.พิจารณาอนุมัติปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนใหม่เพื่อจูงใจเอกชนมาร่วมทุน โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี ส่วนเฟส2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ และ PPP งานระบบฯ คาดว่าจะเสนอ ครม. พิจารณาได้ประมาณปลายปี 2568 เริ่มก่อสร้างปี 2569 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 2573 พร้อมกันทั้ง 2 เฟส

การประมูลครั้งก่อนไม่มีเอกชนรายใดมายื่นข้อเสนอ เนื่องจากตัวเลขผลตอบแทนทางการเงินไม่เป็นที่คาดหวังของเอกชน ไม่คุ้มค่าในการร่วมลงทุน จึงกลับมาทบทวนใหม่เปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยกทพ.จะลงทุนค่าก่อสร้างโครงการด้วย

สำหรับการจัดเก็บค่าผ่านทางของโครงการเฟสที่ 1 จัดเก็บอัตราเดียว (Flat Rate) ค่าผ่านทาง ณ ปีเปิดให้บริการ (ปี 2573) เท่ากับ 15/ 40/ 85/ 125 บาท สำหรับรถจักรยานยนต์/ รถ 4 ล้อ/ รถ 6-10 ล้อ/ รถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ และเฟสที่ 2 จัดเก็บค่าผ่านทางตามระยะทาง (Distance-Based Rate) มีค่าแรกเข้า 40/ 80/ 120 บาท และค่าผ่านทางต่อระยะทาง 1.50/ 3.00/ 4.50 บาทต่อกม.สำหรับรถ 4 ล้อ/ รถ 6-10 ล้อ/ รถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ

คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดบริการ (ปี 2573) ประมาณ 69,386 คัน/วัน โครงการมีอัตราผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) เท่ากับ 1.82% และอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับ 18.85%

ด้านภาคเอกชนที่เข้าร่วมงานกว่า 60 บริษัท อาทิ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ให้ความสนใจเรื่องปริมาณการจราจร รวมถึงความเต็มใจในการจ่ายค่าผ่านทางของประชาชน ซึ่ง กทพ. ยืนยันว่า ได้สำรวจเรื่องความเต็มใจของประชาชนแล้ว

ในส่วนของที่ปรึกษาหอการค้าไทย-จีน แสดงความกังวลถึง FIRR 1.82% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก เกรงว่าจะไม่มีใครร่วมลงทุน กทพ. ชี้แจงว่า ตัวเลขรวมงานโยธาเข้ามาด้วย จึงดูต่ำ แต่หากตัดส่วนนี้ออกซึ่งภาครัฐลงทุนงานโยธา FIRR อยู่ที่ 40% ทำให้ที่ปรึกษาหอการค้าฯ เชื่อว่าถ้าตัวเลข FIRR อยู่ที่ 40% จะได้รับความสนใจในการลงทุน.

โครงการทางด่วน จ. ภูเก็ต มีสถานะเป็นทางด่วนสายแรกที่จะก่อสร้างในต่างจังหวัด และทางด่วนสายแรกของประเทศไทย (เฉพาะเฟส1)ที่เปิดให้รถจักรยานยนต์ใช้บริการได้ ตามข้อเรียกร้องของคนในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุ แจ้งเกิดเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่มาเกือบ 20 ปีแล้ว…..รอวันตอกเสาเข็มสร้างจริง.

…………………………………………………
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…