อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Midfield Satellite 1: SAT-1)  วงเงินก่อสร้าง 3.9 หมื่นล้านบาทเปิดบริการแบบ Soft Opening มาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566   ปัจจุบันมีสายการบินใช้บริการไม่ต่ำกว่า 50 สายการบินต่อวัน ประมาณ 150 เที่ยวบินต่อวัน  ช่วยเพิ่มขีดความสามารรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี  จาก 45-50 ล้านคนต่อปี เป็น 65 ล้านคนต่อปี   

รูปแบบอาคารสูง 4 ชั้น  มีพื้นที่ใช้สอย 2.16 แสนตารางเมตร (ตร.ม.)  แบ่งเป็นชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 รถไฟฟ้าไร้คนขับ( APM ) รับส่งผู้โดยสารเชื่อมอาคารผู้โดยสารหลัก   ชั้น B1 งานระบบ  ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้า ร้านอาหาร    มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร(Contact Gate) รวม 28 หลุมจอดอากาศยาน

ได้รับรางวัล Prix Versailles สนามบินสวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024) จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ร่วมกับ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization หรือ UNESCO ในหมวดหมู่ สนามบิน สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคาร (Exterior) 

ด้วยแนวคิดการออกแบบที่ต่อยอดสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคารหลักให้เกิดความกลมกลืนอย่างเป็นธรรมชาติ และถ่ายทอดความวิจิตรของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทย นำจุดเด่นทางวัฒนธรรมมาออกแบบ ตกแต่งภายในอาคารผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัยครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และวิถีชีวิต

อาทิ  รูปทรงหลังคาแบบโค้งจากรูปทรงของกูบโบราณที่สง่างาม ส่วนกลางยกให้สูงขึ้นกว่าส่วนอื่น ๆ เลียนแบบการไล่ระดับหลังคาเป็นชั้น ๆในสถาปัตยกรรมไทย ติดตั้งช่องแสงระหว่างหลังคาที่เหลื่อมกันของโครงสร้าง และเพื่อให้เกิดพื้นที่โอ่โถง พร้อมเว้นจังหวะกระจกด้านข้างอาคารช่วยนำแสงธรรมชาติเข้าในตัวอาคาร

ส่วนของฝ้าเพดานโครงสร้างแบบโค้งตัดทแยง เติมแถบระแนงสีไม้ระหว่างช่องช่วยให้จินตนาการถึงลายผ้าไหมไทยหรือลายตะกร้าจักสานของไทยสร้างความโดดเด่นสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์  โครงสร้างค้ำชายคาประยุกต์เป็นโครงสร้างเสารับหลังคามีรูปทรงคล้ายกิ่งต้นไม้แต่ลดทอนรายละเอียดของรูปปั้นพญานาคเพื่อให้ดูร่วมสมัย 

นอกจากนี้ยังมีปะติมากรรมช้างเผือก “คชสาร(น)” ขนาด 7 เมตร และ 5 เมตร  บริเวณโถงกลาง ชั้น 3 ที่สานวัสดุสแตนเลสด้วยมือ ห้องน้ำบริเวณชั้น 2 และ 3ออกแบบโดยคำนึงถึงความสะดวกสบายและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก นำประเพณีวัฒนธรรม เช่น ลอยกระทง และมวยไทย มาตกแต่ง  จัดสวนแนวตั้งบริเวณชั้น 2 และ 3 เพิ่มพื้นที่สีเขียว  ออกแบบอาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Design) ใช้วัสดุก่อสร้างที่ดูแลรักษาได้ง่าย ช่วยประหยัดพลังงานตอบสนองนโยบายสนามบินสีเขียว (Green Airport) สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้โดยสารจากทั่วโลก 

ขณะที่รันเวย์ที่ 3 วงเงินก่อสร้างประมาณ 2 หมื่นล้านบาท   เปิดใช้งานมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2567 ช่วยรองรับเที่ยวบินได้มากขึ้นจาก 64 เที่ยวบินต่อชม.เป็น 96 เที่ยวบินต่อ ชม. ทำให้ปัญหาการรอขึ้นลงของเครื่องบิน และการบินวนรอบน่านฟ้าหมดไป  

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า   ในปี 2567 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)  มีผู้โดยสารประมาณ 60 ล้านคนต่อปี คาดว่าในปี 2568 จะอยู่ที่ 64 ล้านคน มากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 2562 ที่มี 62 ล้านคน  

มีแผนพัฒนา ทสภ. ให้รองรับผู้โดยสารได้150 ล้านคนต่อปี เพื่อเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)การบินที่สำคัญของโลก โดยในเดือน พ.ค.2568  จะเปิดประมูลโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion)  พื้นที่ 6 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) วงเงิน1.2 หมื่นล้านบาท เริ่มก่อสร้างไม่เกินเดือน พ.ย.2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 2571  รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 80 ล้านคนต่อปี

ขณะเดียวกันยังมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (SouthTerminal) รวมทั้งอาคาร SAT-2 รถไฟฟ้าAPM และรันเวย์ที่ 4 วงเงินรวม 1.3 แสนล้านบาท เริ่มก่อสร้างปี 2570 ใช้เวลา 6 ปี เปิดบริการปี 2576

รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 70 ล้านคนต่อปีเป็น 150 ล้านคนต่อปีตามเป้าหมายให้”สนามบินสุวรรณภูมิ” เป็นท่าอากาศยาน 1 ใน 10 ของโลกด้านขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารสูงสุด .

……………………………………………….
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…