ทั้งนี้ กับการประกวดที่มีการจัดขึ้นมากในปัจจุบัน อีกทั้งมีการประกวดเวทีสำหรับกลุ่มเพศหลากหลายอีกต่างหาก กล่าวเฉพาะ “เวทีประกวดนางงามยุคใหม่” ก็มีนักวิชาการให้ความสนใจศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้…

มี “มุมมองสังคมวิทยามานุษยวิทยา”

ในฐานะอีก “ปรากฏการณ์ทางสังคม”

ที่ “ยุคปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาไกล??”

สำหรับเรื่องนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล ที่เป็นการ “อธิบายปรากฏการณ์นางงาม” เป็นข้อมูลจาก เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จากบทความชื่อ “นางงามจักรวาล (Miss Universe) : อำนาจกับการสร้างความหมายของความงามในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน” โดย จุฑามณี สารเสวก ซึ่งสะท้อนปรากฏการณ์นี้ไว้ โดยสังเขปมีว่า… “ประกวดนางงาม” เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนในสังคมพูดถึงตลอดมา จนอาจเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่ไม่เคยตกกระแส ซึ่งกระแสที่เกิดแต่ละช่วงเวลาจะเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงบริบทผู้คนแต่ละยุคแต่ละสมัย

ในบทความฉายภาพ “ปรากฏการณ์นางงามยุคใหม่”ไว้ว่า… การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและบริบทด้านสังคมในช่วงรอยต่อระหว่างปลายศตวรรษที่ 20 กับ 21 ที่เป็นระยะเปลี่ยนผ่านของการก้าวสู่โลกหลังสมัยใหม่ที่มีผลจาก การขยายตัวของนวัตกรรมเทคโนโลยีสื่อสาร รวมถึงการที่สังคมสมัยใหม่ มีสื่อดิจิทัลเกิดขึ้น กรณีนี้ยิ่งช่วยส่งเสริมช่องทางให้บุคคล กลุ่ม องค์กร มีปฏิสัมพันธ์กันง่ายขึ้น รวมถึงลดช่องว่างการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ส่งต่อได้รวดเร็วไร้พรมแดน จนส่งผลให้เกิดการเคลื่อนตัวของค่านิยมและความเชื่อทางสังคม จนเชื่อมโยงผู้คนทั้งโลกให้เกิดความรู้สึกร่วมกันในฐานะพลเมืองโลก…

ทำให้ “รู้สึกอินกับกระแสได้ง่ายยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำบทความดังกล่าวระบุไว้อีกว่า… แม้คนยุคนี้จะมีความเป็นพลเมืองโลกร่วมกัน หรือมีความรู้สึกร่วมกันได้ง่ายมากขึ้น แต่ก็พบว่า…ผู้คนบางกลุ่มก็เริ่มปฏิเสธมาตรฐานหรือกติกาชุดใดชุดหนึ่งเพียงชุดเดียวในการอยู่ร่วมกันเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องนี้เพราะหลายคนต้องการทลายกรอบความเชื่อของสังคมแบบเดิม ๆ เปิดโอกาสให้ความแตกต่างเติบโตอย่างอิสระ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องมีจุดเน้นร่วมกัน เพื่อการทำความเข้าใจและยอมรับอัตลักษณ์ทางสังคมอันหลากหลาย ซึ่ง อิทธิพลจากพลวัตต่าง ๆ ก่อให้เกิดประเด็นสังคมใหม่ ๆ ขึ้นมาก หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “ความงาม”

แม้เวทีการประกวดนางงามระยะหลังจะดำเนินกิจกรรมในรูปแบบธุรกิจหวังผลกำไรเต็มตัว แต่ก็ไม่อาจเลี่ยงถูกวิพากษ์วิจารณ์และเกิดข้อถกเถียงถึงความสำคัญทางสังคม จนถูกตั้งคำถามถึงภาพลักษณ์ของการประกวดนางงามที่ผลิตซ้ำภาพจำมาตรฐานความงามของผู้หญิง ซึ่งหลายคนมองว่าสวนทางกับการให้คุณค่ากับความหลากหลาย โดยกระแสเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวทางประกวดในปัจจุบัน”

กับ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นนี้ ในบทความได้ชี้ไว้ว่า… ความท้าทายต่อกระแสสังคมที่มีต่อการประกวดนางงามในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้คนบางส่วนปฏิเสธความเชื่อเกี่ยวกับวาทกรรมความงามที่ผูกขาดอำนาจของกองประกวดเพียงผู้เดียว ซึ่งสะท้อนได้จากปรากฏการณ์ประกวดนางงามยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ในหลาย ๆ ประเทศในแถบยุโรปค่อย ๆ ลดความนิยมในการจัดการประกวดนางงาม ส่งผลให้เวทีประกวดสาวงามในยุคหลัง ๆ “ต้องปรับตัวยกใหญ่” ด้วยการ มุ่งเฟ้นหาผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้น มากกว่าจะยึดรูปแบบการประกวดแบบเดิม ๆ …นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีการชี้ไว้

พร้อมทั้งมีการยกตัวอย่าง “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวทีนางงามยุคใหม่” ไว้ว่า…จากความต้องการที่อยากจะฟื้นฟูความนิยมให้กลับมาอีกครั้ง แนวคิดหลักของเวทีประกวดจึงเปลี่ยนแปลงจากอดีต โดยสาวงามที่เข้าประกวดต้องมีคุณสมบัติเด่น ๆ อาทิ มีความสวย บุคลิกโดดเด่น มีทัศนคติมองโลกที่ดี อีกทั้งยัง ต้องเป็นคนที่พร้อมจะสื่อถึงพลังผู้หญิง หรือ มีเรื่องราวที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงยุคใหม่ได้ เพื่อที่เวทีประกวดจะสามารถเน้นย้ำให้สังคมและผู้คนเห็นถึงความสำคัญของการประกวดนางงาม …และนี่ก็เป็น “ภาพจำใหม่” ที่เวทีประกวดยุคใหม่ “ต้องการเน้นย้ำ”

เพื่อ “ลบภาพจำเดิมของการประกวด”

ทั้งนี้ “เกณฑ์ตัดสินสาวงามยุคใหม่ก็เปลี่ยนไป” จากอดีต ซึ่งในบทความโดย จุฑามณี สารเสวก ระบุไว้ว่า… เวทีประกวดยุคนี้ พยายามเน้นน้ำหนักที่การตอบคำถาม เพื่อสื่อให้สังคมเห็นถึงทัศนคติที่ดีความรู้เท่าทันกระแสโลก ของผู้เข้าประกวด อีกทั้ง เปิดพื้นที่ให้แสดงออกทั้งประเด็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม มากกว่าในอดีต ด้วย ซึ่งเหล่านี้สะท้อน “ความพยายามสร้างความหมายใหม่ของความงาม” ในยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่าน โดย “ปรากฏการณ์ที่เกิดกับเวทีขาอ่อนยุคใหม่” นอกจากเรื่องภาพลักษณ์ภาพจำแล้ว ยัง “สะท้อนการปรับตัวเพื่ออยู่รอด”ในโลกธุรกิจ

ในยุคดิจิทัล “ยุคความคิดหลากหลาย”

กับ “เวทีนางงามก็ต้องมีวิวัฒนาการ”

เพื่อ “เลี่ยงดราม่า…อยู่ต่อ-ไปต่อได้”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์