การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจมากขึ้น หลังนายเจสัน สแตนลีย์ ศาสตราจารย์ด้านปรัชญา จากมหาวิทยาลัยเยล และผู้เชี่ยวชาญด้านลัทธิฟาสซิสต์ ประกาศว่า เขาจะรับตำแหน่งใหม่ในแคนาดา เนื่องจาก “แนวโน้มเผด็จการ” ของรัฐบาลทรัมป์ และเขาตัดสินใจในเสี้ยววินาที เมื่อมหาวิทยาลัยโคลัมเบียยอมถอยให้ทรัมป์
อนึ่ง มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ถูกรัฐบาลวอชิงตันขู่ว่าจะตัดงบประมาณครั้งใหญ่ ส่งผลให้ทางมหาวิทยาลัยตกลงที่จะเข้าควบคุมการประท้วงสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ รวมถึงดำเนินการอื่น ๆ
“นี่ไม่ใช่เวลาที่จะขยาดกลัว และมันไม่ต้องสงสัยเลยว่า สหรัฐเป็นประเทศเผด็จการ” สแตนลีย์ กล่าวเพิ่มเติม
นักวิจัยหลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของเสรีภาพทางวิชาการในสหรัฐ เนื่องจากทรัมป์ข่มขู่มหาวิทยาลัยแห่งอื่นในลักษณะเดียวกัน และเมื่อรวมกับการตัดงบประมาณของรัฐบาลกลาง นักวิจัยบางคนจึงกลัวว่า สาขาการวิจัยของประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นที่อิจฉาของคนทั้งโลก อาจสูญเสียความรุ่งโรจน์ไป
ผลการสำรวจชาวอเมริกันมากกว่า 1,600 คน ซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า นักวิทยาศาสตร์มากกว่า 75% กำลังพิจารณาย้ายออกจากประเทศ เพราะนโยบายของทรัมป์ และแนวโน้มข้างต้นมีความชัดเจนเป็นพิเศษในกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่
ท่ามกลางความไม่แน่นอน สถาบันการศึกษาหลายแห่งประกาศระงับการจ้างงาน และปรับลดจำนวนตำแหน่งนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งน.ส.แดเนียลลา โฟเดรา นักศึกษาปริญญาเอกที่ถูกยกเลิกทุนวิจัย จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า ผู้คนต่างหวาดกลัวกันมาก และสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ จะทำให้กระบวนการทางวิชาการยุ่งเหยิงอย่างแน่นอน
สืบเนื่องจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นในหมู่นักวิจัยของสหรัฐ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในยุโรปและแคนาดา จึงเปิดตัวโครงการริเริ่มต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้มีทักษะความสามารถบางส่วน แม้พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องพยายามมากนักก็ตาม เพราะนักศึกษาชาวอเมริกันหลายคน รวมถึงโฟเดรา ต่างเริ่มมองหาตำแหน่งงานในยุโรปและต่างประเทศอย่างจริงจังแล้ว
“มันเริ่มชัดเจนมากขึ้นแล้วว่า ภาคส่วนการวิจัยของสหรัฐ จะประสบกับภาวะสมองไหลครั้งใหญ่” นายเจพี ฟลอเรส นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพันธุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา กล่าว
ทั้งนี้ นักวิจัยด้านสภาพอากาศรุ่นใหม่คนหนึ่ง กล่าวว่า เธอเริ่มดำเนินการขอสัญชาติสหภาพยุโรป (อียู) แล้ว และเพื่อนร่วมงานในยุโรปทุกคนต่างแสดงความเห็นอกเห็นใจ ต่อสถานการณ์ที่เธอเผชิญอยู่
อย่างไรก็ตาม เธอชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีทรัพยากรจำกัด เช่น นักศึกษาจบใหม่จำนวนมาก มีแนวโน้มน้อยที่สุดที่จะได้เข้าสู่สถาบันในยุโรป และอาจตัดสินใจออกจากวงการวิทยาศาสตร์ไปเลย ซึ่งเธอเตือนว่า มันคือการสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของวิทยาศาสตร์ในทุกสาขาวิชา.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP