เพราะประเทศไทยนั้น “การท่องเที่ยว” ถือว่าเป็น 1 ในเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหา เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะ “นักท่องเที่ยวจีน” ที่หลัง ๆ มานี้เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหลักของไทย “ลดลง” อย่างเห็นได้ชัด โดยรายงานสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยนั้น…
นักท่องเที่ยวจีน “ลดฮวบลงกว่า 50%”
ถามว่า “อะไรบ้างเป็นปัจจัยสาเหตุ??”
และ “ไทยควรจะต้องทำเช่นไรบ้าง??”

ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล
เกี่ยวกับเรื่อง “นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยลดลง” ทาง ผศ.ดร.ภูษิต ผู้อำนวยการ ศูนย์ที่ปรึกษาและสร้างการเติบโตทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนแง่มุมผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะแบ่งเป็น กลุ่มตลาดระยะใกล้ (Short-haul) นักท่องเที่ยวจากประเทศที่อยู่ใกล้ ๆ เช่น จีน สิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม และอีกกลุ่มก็ กลุ่มตลาดระยะไกล (Long-haul) นักท่องเที่ยวที่บินมาจากระยะไกล เช่น จากทางฝั่งยุโรป อเมริกา เป็นต้น ซึ่งหลัง ๆ นักท่องเที่ยวจากระยะไกล ทั้งเยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สเปน ออสเตรเลีย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา ตัวเลขก็โตต่อเนื่อง ขณะที่ไทยให้ความสนใจตัวเลขนักท่องเที่ยวจากกลุ่มระยะใกล้ที่มีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะจากจีนที่มีคนจำนวนมหาศาล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น หากดูตัวเลขนักท่องเที่ยว คือพบว่า “นักท่องเที่ยวจีนลดลง”…
โดย “มีปัจจัยทั้งจากภายนอก–ภายใน”
ทาง ผศ.ดร.ภูษิต แจกแจงถึงปัจจัยว่า…มีทั้งเรื่อง “ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย”นักท่องเที่ยวจีนกังวล จากกรณี เกิดอาชญากรรมต่าง ๆ กับนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทย เช่น มีการจับตัวนักท่องเที่ยวจีนเรียกค่าไถ่ นอกจากนี้ กรณี นักแสดงชาวจีนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลักพาตัว รวมถึงการ เกิดแผ่นดินไหว ตึกถล่ม ก็ก่อผลกระทบ ซึ่งเหล่านี้มีการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย โดยที่จีนใช้โซเชียลมีเดียกันเยอะ…จึงลุกลามไปกันใหญ่ ทำให้คนจีนเกิดความกลัว ไม่กล้ามาเที่ยวไทย
อีกเรื่องคือ “เศรษฐกิจประเทศจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่” ทำให้การบริโภคต่าง ๆ หดตัวลง ถ้าสังเกตจะพบว่า คนจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง แต่ท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจีนมีการส่งเสริมให้คนเที่ยวในประเทศมากขึ้น มีการโปรโมทการท่องเที่ยวในประเทศมากพอสมควร มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศมาก ก็มีผลทำให้การท่องเที่ยวนอกประเทศของคนจีนน้อยลง ซึ่งไม่ใช่แค่ที่ไทยประเทศเดียวที่ประสบปัญหา หลาย ๆ ประเทศก็เหมือน ๆ กัน
เรื่อง “พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนจีนเปลี่ยนไป” นี่ก็ปัจจัย สมัยก่อนจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบเป็นหมู่คณะเป็นทัวร์ แต่ ปัจจุบันมีการท่องเที่ยวที่ไม่ได้เป็นหมู่คณะ จำนวนคนมาเที่ยวก็ลดลง และอีกเรื่องคือ “การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวสูงขึ้น”ประเทศคู่แข่งไทย อย่างเวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มีการทำโปรโมทการท่องเที่ยวหนักมาก ออกแคมเปญต่าง ๆ เต็มไปหมด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งมีผลอย่างมากทำให้ นักท่องเที่ยวจีนมีทางเลือกใหม่ ๆ นอกจากไทย

ส่วนปัจจัยในประเทศไทยตรง ๆ นั้น ผศ.ดร.ภูษิต วิเคราะห์ว่า… “ไทยไม่มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่” แหล่งท่องเที่ยวเดิม ๆ ไม่ว่าจะทะเล ธรรมชาติ ก็เริ่มจะช้ำ ซึ่งอาจเป็นปัญหา เนื่องจากนักท่องเที่ยวมาเที่ยวซ้ำ ๆ ก็จะไม่เกิดความน่าสนใจแล้ว
ทั้งนี้ กับคำถามที่ว่า “ไทยจะต้องมีการปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อดึงนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาเที่ยวไทย?” นั้น ทาง ผศ.ดร.ภูษิต มองว่า… เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบระยะยาวไทยต้องเร่งปรับภาพลักษณ์ เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเร่งยกระดับความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องอาชญากรรม การลักพาตัว การต้มตุ๋น
นอกจากนั้นก็ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่จะเป็นประสบการณ์ดี ๆ ขยายการเติบโตของตลาดกลุ่มเป้าหมายที่มีการใช้จ่ายสูง อาทิ นวดแผนไทย สปา โยคะ เวลเนสประเภทต่าง ๆ อาหารสุขภาพ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยว และ เพิ่มกลุ่มสปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ส่งเสริมกีฬาระดับโลก และงานเทศกาลต่าง ๆ เทศกาลดนตรี ศิลปวัฒนธรรม และก็ควรขยายกลุ่ม Digital Nomad และ Workation กลุ่มชาวยุโรปที่ชอบมาทำงานในไทย ควบคู่ด้วย
และสำหรับการดึงนักท่องเที่ยวจีน อีกเรื่องสำคัญที่นักท่องเที่ยวจีนไม่กล้ามาเที่ยวไทย…มาจากโซเชียล เพราะฉะนั้นจึงอาจต้อง ใช้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาช่วยโปรโมท เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยกลับมามีภาพลักษณ์ที่ดี อย่างล่าสุดประเทศไทยก็จะมีการจัดงานใหญ่ มีโปรเจ็กต์ที่จะดึงอินฟลูเอนเซอร์จากจีน 300 คนมาช่วยฟื้นความเชื่อมั่นท่องเที่ยวไทย
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ภูษิต ทิ้งท้ายด้วยว่า… “แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คนไทยต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดี ดูแลบ้านให้ดี ทั้งในโลกออฟไลน์ และออนไลน์ด้วย สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางทีคนไทยเราเองที่ไปโพสต์เรื่องไม่ดีของไทย โพสต์อะไรที่ทำให้ประเทศเสื่อมเสียชื่อเสียง พอคนจีนเห็นก็ไปแปลเป็นภาษาจีนและก็ขยายความจนไปกันใหญ่โต ซึ่งต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียมีอำนาจทำให้เกิดผลกระทบสูง วันนี้จะต้องช่วยกันไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง…
ทั้งผู้ประกอบการไทย คนไทย…
ทุกคนต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดี”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์