กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดประชุมสัมมนาปฐมนิเทศโครงการงานจ้างที่ปรึกษาศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทาช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณว่า…กรุงเทพฯ จะมีรถไฟฟ้าสายใหม่มาแต้มสีสัน  

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. กล่าวเปิดการประชุมฯ ว่า รถไฟฟ้าสายสีเทา เป็นรถไฟฟ้าสายที่ 3 ดำเนินการโดย กทม. หลังจากดำเนินการและเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสายสีทอง เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชนไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีอีก 1 โครงการที่รัฐบาลมอบให้ กทม. ดำเนินการด้วย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) สายบางนา-สุวรรณภูมิ อยู่ระหว่างศึกษาและจะให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับสายสีเทา

ปลัด กทม. แจกแจงด้วยว่า สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ศึกษาความเหมาะสม จัดทำแบบเบื้องต้น และจัดเตรียมเอกสาร พร้อมทั้งศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ตั้งแต่ปี 58 แบ่งแนวเส้นทางเป็น 3 ระยะ รวมระยะทาง 40 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กม. 15 สถานี, ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-พระราม 3 ระยะทาง 12.2 กม. 16 สถานี และระยะที่ 3 ช่วงพระราม 3-ท่าพระ ระยะทาง 11.5 กม. 9 สถานี 

ผลการศึกษาเสนอแนะให้ดำเนินการระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เป็นโครงการนำร่องก่อน วงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2.75 หมื่นล้านบาท

ด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมเลี่ยนแปลงไปจากเมื่อปี 58 ประกอบกับ กทม. มีแผนพัฒนา โครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) จึงได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษาให้ดำเนินการทบทวน และปรับปรุงผลการศึกษาเมื่อปี 58 เพื่อให้เป็นปัจจุบัน อาทิ แนวเส้นทาง สถานี การคาดการณ์ผู้โดยสาร รายได้ และมูลค่าลงทุน 

พร้อมทั้งศึกษาวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ด้วย มีระยะเวลาดำเนินการ 200 วัน คาดว่าจะจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วง วัชรพล-ทองหล่อ แล้วเสร็จปี 65 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 66 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมทุน ในปี 67-68 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี (ปี 69-72) และเปิดให้บริการปี 73  

ในส่วนของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานอีไอเอ ครั้งสุดท้าย เพื่อนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาต่อไป

นายชยภัทร รักพานิชย์มณี วิศวกรโครงการ เพิ่มเติมข้อมูลว่า รถไฟฟ้าสายสีเทาจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 5 สี แนวเส้นทางช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ตามผลการศึกษาเดิม มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางเชื่อมระหว่างถนนรามอินทรา กับถนนประดิษฐ์มนูธรรม สามารถเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีวัชรพล จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรมฝั่งทิศทางขาออก โดยวางโครงสร้างบนพื้นที่ด้านข้างทางเท้า และทางจักรยาน ข้ามถนนประเสริฐมนูกิจ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ที่สถานีคลองลำเจียก แนวเส้นทางยังคงมุ่งลงใต้ข้ามถนนลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีฉลองรัช ผ่านถนนประชาอุทิศ และข้ามทางพิเศษศรีรัชที่แยกพระราม 9-ประดิษฐ์มนูธรรม เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีพระราม 9

จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวที่แยกเอกมัยเหนือมาทางทิศตะวันตก เข้าสู่แนวเกาะกลางถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และเลี้ยวลงมาทางใต้เข้าสู่ถนนทองหล่อ จนกระทั่งมาสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณถนนซอยสุขุมวิท 55 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีทองหล่อ มีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ที่สถานีคลองลำเจียก 

โครงการใช้รูปแบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ขับเคลื่อนด้วยล้อยาง และบังคับทิศทางด้วยคานรางเดี่ยว (Guideway Beam) รองรับผู้โดยสารได้ 8,000-30,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ระยะเวลาการเดินทางไป-กลับ ประมาณ 62 นาที ความเร็วในการให้บริการเฉลี่ย 35 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) สูงสุด 80 กม.ต่อ ชม.

นายชยภัทร บอกด้วยว่า โครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าจะวิ่งไปตามแนวทางเท้าช่วงถนนประดิษฐ์มนูธรรม และเกาะกลางถนนช่วงถนนทองหล่อ โดยมีช่วงระยะห่างระหว่างเสาประมาณ 25-30 เมตร มีความสูงของทางวิ่งเฉลี่ย 14-15 เมตรจากผิวจราจร แต่มีบางช่วงที่ต้องข้ามรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือทางด่วน อาจต้องสูง 26 เมตร และบางช่วงอาจสูง 18-22 เมตร 

ส่วนจุดตัดระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเทากับรถไฟฟ้าทั้ง 5 สีนั้น จะเชื่อมต่อด้วยทางเดินลอยฟ้า (สกายวอล์ก) ไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร ขณะที่อัตราค่าโดยสาร จะมีค่าแรกเข้า และบวกเพิ่มตามระยะทาง ส่วนจะเป็นในอัตราใดต้องรอผลการศึกษาก่อน

เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเทาแล้วเสร็จ จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ เข้าสู่ใจกลางเมือง อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย ส่วนการดำเนินการในระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-พระราม 3 และระยะที่ 3 ช่วงพระราม 3-ท่าพระนั้น ตามผลการศึกษาเดิมระบุว่า หลังจากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 อีกประมาณ 10 ปี จะเปิดให้บริการในช่วงระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป

รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วยเติมโครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสีให้คนกรุงเทพฯ.

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง