ซึ่งปัจจุบันนี้นอกจากจะเป็นอาจารย์ประจำสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และดำรงตำแหน่งรักษาการรองอธิการบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ของมหาวิทยาลัยแล้ว เธอยังเป็น “นักจัดรายการวิทยุ” ชื่อรายการ “ทันข่าว-ทันกฎหมาย” เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายกับประชาชนผ่านทาง FM 100.5 MCOT News Network อีกด้วย ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับเธอคนนี้ให้มากขึ้น…

“ดร.กิ๊ฟ” หรือ “ผศ.ดร.ประภาภรณ์ โรจน์ศิริรัตน์” นอกจากบทบาทอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย เธอยังเป็นนักกฎหมายที่มีประกาศนียบัตรวิชาชีพ สอบได้เนติบัณฑิต มีใบอนุญาตว่าความ เธอจึงอยากนำความรู้ที่มีมาถ่ายทอดให้ประชาชนได้มีความรู้ผ่านอีกอาชีพที่เธอตั้งใจทำเช่นกัน นั่นคือในฐานะนักจัดรายการวิทยุ โดยปัจจุบัน ดร.กิ๊ฟ แต่งงานมีครอบครัวแล้ว มีลูกชายวัย 6 ขวบ ชื่อ “ด.ช.กิติ์ ประกอบกิจ” ทั้งนี้ ประวัติส่วนตัวของ ดร.กิ๊ฟ เกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ โดยเป็นลูกสาวคนโตของ “คุณพ่อจักรกฤษณ์ โรจน์ศิริรัตน์” กับ “คุณแม่นันท์นภัส นัทชาทรัพย์มณี” โดยเธอเรียนที่โรงเรียนเซนโยเซฟคอนแวนต์ ตั้งแต่ชั้น ป.1 จนถึง ม.6 ที่เดียว ซึ่งคุณแม่เป็นคนเลือกโรงเรียนให้เธอและน้องสาว โดยคุณแม่ของเธอเล่าไว้ว่าตอนนั้นคุณแม่ต้องไปต่อคิวเพื่อซื้อใบสมัครเข้าเรียนตั้งแต่ตี 4 เพราะอยากให้ลูกได้เข้าเรียนที่นี่ เพราะคุณแม่เชื่อมั่นที่นี่

“เราเป็นคนเรียนไม่เก่ง เวลานั่งเรียนก็แทบจะนั่งหลังห้อง ยิ่งช่วง ม.1ถึง ม.3 นี่ไม่ตั้งใจเรียนเลย (หัวเราะ) แล้วก็ไม่ชอบเรียนเลข คุณแม่เลยบอกว่าไม่ได้ ยังไงเธอก็ต้องเรียน คุณแม่จ้างครูมาสอนพิเศษด้วย เพราะถ้าเกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.00ครูจะให้เซ็นใบยินยอมว่า ถ้าเกรดไม่ถึงจะต้องลาออก เราก็เอาใบนี้ไปให้คุณแม่เซ็น คุณแม่ก็บอกว่าไม่เป็นไร ทำให้ดีที่สุด ถ้าทำไม่ได้ก็หาโรงเรียนใหม่ ประโยคนี้ของคุณแม่นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตให้กลับมาฮึดสู้เรียน จนเปลี่ยนจากเด็กหลังห้องกลายมาเป็นเด็กหน้าห้อง จนได้เรียนต่อ ม.4จนถึง ม.6 จนจบ โดยสอบได้เลขตัวเดียวมาตลอด ซึ่งพอย้อนกลับมาคิดดู ที่เราเปลี่ยนตัวเองได้ก็เพราะคำพูดของคุณแม่จริง ๆ”
ดร.กิ๊ฟ เล่าต่อว่า ด้วยความที่เธอชอบเรียนภาษา จึงเลือกเรียนสายศิลป์-ภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ จนสอบเอน ทรานซ์เข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีได้ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เพราะไกลบ้านมาก เรียนได้เทอมเดียวก็เปลี่ยนมาเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งเธอก็เรียนจบที่นี่ แถมได้เกียรตินิยมจนทำให้ที่บ้านภูมิใจ

เมื่อครั้งจบปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา
“ตอนที่จะเปลี่ยนมหาวิทยาลัยและย้ายสาขาเรียน ก็เป็นคุณแม่อีกนั่นแหละที่สนับสนุน เพราะคุณแม่เป็นคนมีวิสัยทัศน์ แล้วตัวท่านเองก็เพิ่งมาเรียนจบปริญญาตรีตอนที่อายุมากแล้วที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะตอนเราเล็ก ๆ คุณแม่ต้องทำงาน ทำให้ไม่มีโอกาสได้เรียน คุณแม่จึงสนับสนุนทุกเส้นทางของเราเสมอ”
ทั้งนี้ หลังเรียนจบปริญญาตรี เธอจึงทำตามความใฝ่ฝันที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งประเทศเดียวที่เธออยากไป คือสหรัฐอเมริกา และด้วยความมุมานะกับการที่เธอมีแนวคิดที่ยึดถือว่า หากคนเราตั้งใจทำอะไรจริงจังก็จะทำมันได้สำเร็จ ทำให้เธอสามารถคว้าทุน Fulbright ได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมาย 2 ใบ โดยใบแรกเป็นที่ Suffolk University และใบที่สองคือที่ Fordham University
“การได้ไปเรียนต่อที่อเมริกาเป็นความใฝ่ฝันเดียวในชีวิต จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่คิดว่าจะมีความฝันอะไรอีก ทุกวันนี้คือเกินจากฝันมามากแล้ว ส่วนสาเหตุที่ฝันไปเรียนต่อที่อเมริกา เพราะยุคนั้นเป็นยุคทองของฮอลลีวูด ทีนี้หลังเรียนปริญญาโทจบกลับมา ทางคุณพ่อก็อยากให้สอบเป็นผู้พิพากษา แต่เรารู้สึกว่าการเป็นผู้พิพากษาต้องไปตัดสินชีวิตคนอื่น เราอยากเป็นครูมากกว่า เพราะได้สร้างคน แต่ใจก็อยากจะทำตามความฝันของคุณพ่อคุณแม่ ก็เลยตกลงจะไปสอบ แต่การจะสอบเป็นผู้พิพากษาได้ก็ต้องไปเก็บคดีก่อน เราก็ไปกับพี่ ๆ ที่สำนักงานทนายความ จำได้ว่าเป็นคดียาเสพติด ตอนนั้นรู้สึกว่าสะเทือนใจมาก และสอบมาหลายสนามก็ยังไม่ได้ จึงขอสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่จบมา แต่ก็พยายามสอบเป็นผู้พิพากษาอีก แต่ก็สอบไม่ได้”ทาง ดร.กิ๊ฟ เล่า

“ดร.กิ๊ฟ” กับ “น้องกิติ์” ลูกชายวัย 6 ขวบ
ส่วน “ความสำเร็จในวันนี้” เจ้าตัวบอกว่า มาจากแรงกำลังกายและใจของคุณพ่อคุณแม่ที่คอยสนับสนุน และให้โอกาส พร้อมทั้งยังเข้าอกเข้าใจลูกเป็นอย่างดี ดังนั้นที่เธอเดินมาได้ไกลขนาดนี้ก็เกิดจากคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นคนขยัน เป็นคนค้าขายเก่ง และมองการณ์ไกล ซึ่งที่บ้านของ ดร.กิ๊ฟ นั้นทำธุรกิจขายส่งเครื่องประดับ อยู่ที่ย่านฮอลลีวูดสตรีท และด้วยความที่ธุรกิจของที่บ้านจำหน่ายกิ๊ฟติดผม คุณพ่อคุณแม่ก็เลยตั้งชื่อลูก ๆ ตามสินค้าที่ขาย โดยเธอได้ชื่อ “กิ๊ฟ” ส่วนน้องสาว (ชมพูนุท โรจน์ศิริรัตน์) ได้ชื่อ “โบว์” โดยเธอเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็ก ๆ เธอและน้องสาวได้ติดตามคุณพ่อคุณแม่ไปฮ่องกงทุกเดือน เพื่อไปซื้อเครื่องประดับมาขาย
“เรากับน้องสาวก็ชอบค้าขาย จากที่เปิดร้านกิ๊ฟช็อป ยุคต่อมาก็เปลี่ยนมาขายเสื้อผ้าผู้หญิงแบบเป็นชุด ซึ่งขายดีมาก ๆ แถมคุณแม่ยังยุให้เราสองคนพี่น้องไปเป็นนางแบบเด็ก ทำให้ตอนนั้นเราสองคนพี่น้องรู้สึกสนุกมาก ซึ่งคุณแม่เป็นคนที่คอยสนับสนุนกับให้กำลังใจเราในทุก ๆ เรื่อง อย่างเช่นแม้แต่การร้องเพลง คุณแม่ก็ยังส่งให้ไปเรียนร้องเพลงกับครูดัง ๆ เพราะคุณแม่มองว่าการร้องเพลงเป็นการสร้างพลังบวก สร้างความสุข และทำให้รู้จักการเข้าสังคมได้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่คิดเลยว่าพอโตมาจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ จากสิ่งที่คุณแม่ปูพื้นฐานไว้ให้ตั้งแต่เด็ก ๆ”
ทุกวันนี้ ดร.กิ๊ฟ ยังมีบทบาทหน้าที่ในฐานะนักวิชาการที่ทำงานเพื่อสังคมอีกด้วย ผ่านอาชีพนักจัดรายการวิทยุ โดยรายการให้ความรู้ทางกฎหมายที่เธอจัดอยู่นี้ เคยได้รับรางวัลนาฏราช ครั้งที่ 13 ประเภทรายการข่าวและสาระยอดเยี่ยม

รางวัลในฐานะนักจัดรายการวิทยุ
“หน้าที่ของเราคือ เอาข่าว และเอากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้น มาช่วยให้ไอเดียกับสังคมในการแก้ปัญหา กฎหมายมันมีข้อดี คือมันจบที่ตัวมันเอง ไม่มีดราม่า เราก็เอามุมวิชาการมาคุยให้สังคมรับรู้ ซึ่งไม่ต้องตัดสินใครก็ได้ แต่เป็นการให้ความรู้กฎหมายกับสังคม งานทุกงานที่ทำคือความสุข” เธอกล่าวเรื่องนี้
พร้อมกับบอกอีกว่า ความสุขของเธอคือการได้ถ่ายทอดความรู้มากกว่าไปตัดสินชีวิตผู้อื่น จึงเลือกเป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างคน โดยเธอตั้งใจจะช่วยคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะที่ผสมผสานระหว่าง Human Skills กับ AI เพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือช่วยสร้างสังคมที่เป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นการนำความรู้กฎหมายไปรับใช้สังคมอีกด้วย ซึ่งตอนนี้ทาง มศว ก็จัดทำโครงการ “SWU Scholar Hub” ขึ้นเพื่อให้นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ มีเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่ความรู้ไปสู่สังคม ที่เป็นงานบริการวิชาการฟรี

ถ่ายเซลฟี่กับนิสิตวันรับปริญญา
“ดร.กิ๊ฟ-ผศ.ดร.ประภาภรณ์” ทิ้งท้ายกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า ถ้าถามว่าบทบาทไหนทำได้ดีที่สุด หรือชอบมากที่สุด ส่วนตัวแล้วคิดว่าน่าจะเป็นอาชีพอาจารย์ หรืองานสอนหนังสือ แต่กับหมวกอื่น ๆ เธอก็รู้สึกสนุกและมีความสุขที่ได้ทำเช่นกัน ทั้งบทบาทนักวิชาการ ทั้งบทบาทนักกฎหมาย หรือแม้แต่งานทางสื่อสารมวลชน โดยเธอย้ำว่า“ส่วนตัวมองว่าคนเราสามารถทำได้หลายหน้าที่ หลากหลายบทบาท หรือหลายอาชีพ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม…ขอให้ทำแล้วเป็นตัวเองที่สุด”.

สนใจ ‘ธรรมะ’ สนใจ ‘จิตวิญญาณ’
นอกจากชีวิตการทำงานจะประสบความสำเร็จทั้งบทบาทอาจารย์และนักกฎหมายสตรีแล้ว “ดร.กิ๊ฟ-ผศ.ดร.ประภาภรณ์” ยังได้เล่าให้ฟังถึง “ความสนใจส่วนตัว” ของเธอ ที่มีต่อ “ธรรมะ” ว่า มองว่าธรรมะสามารถนำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้ โดยเชื่อว่าการเข้าใจทุกอย่างตามความเป็นจริงจะช่วยลดความทุกข์ให้คนเราได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เธอสนใจเรื่องนี้ เธอบอกว่ามาจากจุดเปลี่ยนช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเธอสนิทกับอาม่าที่กำลังป่วย ด้วยความที่อยากช่วยให้อาม่าหายป่วย จึงพาอาม่าไปปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคมฯ แต่สุดท้ายอาม่าก็เสียชีวิต เนื่องจากอายุมากแล้ว แต่ช่วงก่อนที่อาม่าจะเสีย ช่วงที่ไปร่วมปฏิบัติธรรมกับอาม่านั้น เธอมองเห็นว่า “ธรรมะคือเรื่องที่พิเศษ” ทำให้ตอนนี้แม้อาม่าจะไม่อยู่แล้ว แต่เธอก็ยังไปเข้าร่วมทำกิจกรรมเสมอ ๆ จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสมาคม โดย ดร.กิ๊ฟ บอกว่าสนใจด้านจิตวิญญาณ หรือ Spiritual ซึ่งไม่ใช่ที่เกี่ยวกับภูตผีหรือวิญญาณ แต่เป็นการให้ความสำคัญกับจิตใจ โดยธรรมะคือการปฏิบัติที่ทำให้คนไม่ต้องทุกข์มาก หรือสุขก็รู้ว่าสุข ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์“ส่วนตัวก็ไม่ได้เป็นคนเคร่ง ทำบุญก็ทำตามโอกาส จะยึดหลักสายกลางมากกว่า โดยนำธรรมะมาใช้ในการดำเนินชีวิต เนื่องจากมองว่าถ้าข้างในใจเราเข้มแข็ง ทุก ๆ อย่างก็จะผ่านไปได้ด้วยดี”.
เชาวลี ชุมขำ : รายงาน