วันที่ 6 มิ.ย. 2568  กระทรวงการคลังกำหนดลงนามสัญญาเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank, ADB) วงเงิน 2,440 ล้านบาท  ในโครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่…ส่วนต่อขยายมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา

ชื่อเต็มๆ ตามสัญญาเงินกู้  โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์)  หมายเลข 7 หรือ M7ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา    โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอกู้เงินADBโครงการM7ส่วนต่อขยายฯ  กรอบวงเงิน 68.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,440 ล้านบาท  

มีสาระสำคัญ อาทิ  เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้โครงการฯ  ใช้อนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาท  ตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับเงินกู้ ADB  อนุมัติให้รมว.คลัง หรือผู้ที่รมว.คลังมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยในสัญญาเงินกู้โครงการฯ   มอบหมายกรมทางหลวง(ทล.) บริหารสัญญาและกำกับดูแลผู้รับจ้างให้ดำเนินโครงการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ และเบิกจ่ายเงินกู้ตามระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น

หลังจากลงนามสัญญาเงินกู้แล้ว   กรมทางหลวงจะเชิญผู้รับจ้างที่ชนะการประกวดราคาด้วยวิธีนานาชาติ มาลงนามสัญญาก่อสร้างต่อไป ล่าสุดกรมทางหลวง ได้ประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคา ได้แก่ บริษัท Sino-Thai Engineering & Construction Public dampany Limited (STECON) ที่เสนอราคาและยืนยันราคาค่าก่อสร้าง 2,651,988,700 บาท  ได้นำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา และผู้มีอำนาจได้อนุมัติการว่าจ้างเรียบร้อยแล้ว 

คาดว่าจะลงนามสัญญาก่อสร้างในเร็วๆนี้  และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2568  ใช้เวลาก่อสร้าง 1,080 วันหรือประมาณ 36 เดือนเปิดบริการประมาณปี  2571-2572

ครม.อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 วงเงิน 4,508 ล้านบาท  กรมทางหลวงได้ปรับแบบก่อสร้างและลดวงเงินเหลือ 3,092 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 2,787 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 304 ล้าน  ใช้เงินกู้ ADB  2,440.ล้านบาท (78.90%) อีก21.10%ใช้เงินงบประมาณปี 2568จำนวน 652ล้านบาท   ส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 108 ล้านบาท ใช้ประมาณรายจ่ายประจำปี

รูปแบบมอเตอร์เวย์สายนี้ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรไปกลับ  ระยะทาง 1.920 กม.มีจุดเริ่มต้นกม.148+328 ถัดจากด่านเก็บเงินอู่ตะเภา  ข้ามทางรถไฟสายตะวันออก ขนานแนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  มีจุดสิ้นสุดเป็นทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัด ทล.3 (ถนนสุขุมวิท)    เชื่อมต่อถนนโครงข่ายเข้าอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่สนามบินอู่ตะเภา และมีทางบริการระดับพื้นรองรับการสัญจรใต้ทางยกระดับ ก่อสร้างช่องทางเลี้ยว และทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัด ทล.3   พร้อมขยายทล.3จาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจรระยะทาง 5.650 กม.

จะช่วยลดเวลาการเดินทางสู่สนามบินอู่ตะเภาจากเดิม 5 กม. เหลือ 1.92 กม.โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง(ฟรี) เนื่องจากอยู่นอกด่านอู่ตะเภา และไม่สร้างด่านเพิ่ม 

สำหรับผู้ยื่นข้อเสนอทั้งหมด 3 ราย  บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)  บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือITD และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง

ใจความสำคัญของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ( U-Tapao Rayong-Pattaya International Airport) หรือที่เรียกกันชินปากว่า  สนามบินอู่ตะเภา/ สนามบินพัทยา/ สนามบินกองทัพเรือ  เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกองทัพเรือ  อยู่ในพื้นที่ ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ห่างจ.ระยองประมาณ 30 กม. ห่างเมืองพัทยา จ. ชลบุรี 40 กม. และห่างกรุงเทพฯ 190 กม. ช่วงก่อนโควิด-19 เมื่อปี 2562 มีผู้โดยสาร 1.63 ล้านคน  ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 4.4 แสนคน  ปี 2567 ประมาณ 6 แสนคน  มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร ได้ประมาณ 3 ล้านคนต่อปี   

รัฐบาลมีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  ในพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 217.949 ล้านบาท  ตามยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของพื้นที่EEC  ทั้งขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสาร  สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่  ศูนย์ขนส่งสินค้าภาคพื้น  อาคารขนส่งสินค้าทางอากาศ ศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) เป็นต้น  เพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้ 60 ล้านคนต่อปี   ยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3″ เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด)  ทำให้ทั้ง 3 สนามบินรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และศูนย์กลางการบินด้วย”มหานครการบินภาคตะวันออกหรือเมืองการบิน” ประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย  ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมืองประมาณ 30 กม. สามารถเชื่อมโยงการเดินทางแบบไร้รอยต่อสะดวกรวดเร็วปลอดภัยทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ  มีแผนเปิดบริการบางส่วนในปี 2571 

สถานะเมืองการบินยังอยู่ในฝัน  ขณะที่โครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. มูลค่าลงทุน  224,544 ล้านบาท ที่ลงนามในสัญญากับกลุ่มซีพีมาตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 2562 ผ่านมา 6 ปี เสาตอม่อสักต้น ยังไม่เห็น  เพราะไม่ได้เริ่มก่อสร้าง…..ตื่นเถิด!!   มอเตอร์เวย์สายใหม่ มารอแล้วว….

……………………………………………….
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…