คืนวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1960 เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้หญิงและคนยุคนั้นอย่างยากที่จะลืมเลือน นั่นคือ กรณีการสังหารสามสาวพี่น้องชาวโดมินิกัน ตระกูลมิราเบิล ได้แก่ แพทเทรีย, มาเรีย และ มิเนอร์วา ซึ่งถูก ลอบสังหารอย่างทารุณ ด้วยเหตุผลของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองใน ยุคเผด็จการทรูจิลโล สมัยที่ ราฟาเอล ทรูจิลโล เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน บาดแผลในวันนั้นนำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

หลังจากนั้นร่วม 20 ปี ใน ค.ศ. 1999 องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women)

สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้ เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น ‘เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี’ โดยทั่วโลกได้มีการใช้สัญลักษณ์ ‘ริบบิ้นสีขาว’ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวด้วย

ความสำคัญที่จำเป็นจะต้องมี การยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เนื่องมาจากว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น พบว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย มากกว่าร้อยละ 90 ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเหล่านี้เป็นคนไม่ดี เพราะโดยธรรมชาติแล้วไม่มีใครที่ชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แต่คนที่ใช้ความรุนแรงนั้นมักจะมีประสบการณ์ไม่ดีในวัยเด็ก หรือค่านิยมดั้งเดิมที่ปลูกฝังว่า การใช้ความรุนแรงเป็นอำนาจที่จะใช้ควบคุมหรือบังคับผู้อื่นได้ ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะการทำร้ายร่างกายเท่านั้น ยังพบว่ามีหลายรูปแบบ เช่น การใช้ความรุนแรงต่อจิตใจ อารมณ์ การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน และ ความรุนแรงที่แสดงออกทางพฤติกรรมอื่น ๆ  ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้ มักไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน จึงทำให้ปัญหาความรุนแรงยังคงสะสมอยู่ตลอดเวลา