“5 ธันวาคม” ของทุกปี เป็น “วันสำคัญของชาติไทย” ในฐานะ “วันชาติ” “วันพ่อแห่งชาติ” และที่สำคัญยิ่ง…เป็น “วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9” เป็นอีกโอกาสสำคัญที่ปวงไทยทั้งผองจะได้น้อมรำลึกถึงพระเมตตาที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า ผ่าน “โครงการพระราชดำริ” ที่เกิดขึ้นมากมายทั่วไทยและแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานแก่ปวงไทยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาชาติไทยทั้งนี้ นํ้าพระทัยพระเมตตาที่แผ่ไพศาลนั้น รวมถึง “โครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” พื้นที่ บ้านนํ้าซับ อ.วังนํ้าเขียว จ.นครราชสีมา ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ รับไว้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการพิเศษประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)…

“พระองค์ท่านยังคงสถิตอยู่ในใจของพวกเราทุกคน“ …เสียงจาก อำนาจ หมายยอดกลาง ผู้อำนวยการ โครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วังนํ้าเขียว ระบุกับ “ทีมวิถีชีวิต” ถึงความรู้สึกภายในใจของผู้คนที่ชุมชนแห่งนี้ ซึ่งเป็น “หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ในเวลานี้ ทั้งนี้ ผู้คนที่นี่มุ่งมั่นดำเนินชีวิตตาม “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ได้พระราชทานไว้แก่คนไทย ผู้คนที่นี่มุ่งมั่นในการพลิกฟื้นผืนดินแห่งนี้ให้เป็น “แผ่นดินทอง” ของชาวบ้านทุกคน ซึ่ง “บ้านนํ้าซับ” เป็นที่ตั้งของ ศูนย์กสิกรรมไร้สารพิษตามโครงการพระราชดำริ โดยชาวบ้านที่นี่ น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” มาใช้เป็น “เข็มทิศชีวิต” จนผู้คนที่นี่ พลิกฟื้นจากชีวิตที่ลำบาก กลับกลายมามีชีวิตที่ดี อยู่ดีกินดี พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน…

อำนาจ หมายยอดกลาง

ทั้งนี้ ทาง “ทีมวิถีชีวิต” มีโอกาสไปสัมผัสเรื่องราวของผู้คนที่นี่จากการร่วมคณะ ธ.ก.ส. หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ไปเยี่ยมชมอาชีพเกษตรที่ทาง ธ.ก.ส. ร่วมสนับสนุนส่งเสริม ซึ่งในส่วนของ อำนาจ หมายยอดกลาง ผอ.โครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วังนํ้าเขียว ได้เล่าย้อนให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า… เขาเดินทางมายังพื้นที่แห่งนี้โดยมีความสนใจมากเรื่อง “การปลูกต้นไม้ตามแนวพระราชดำริ” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นคือ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ซึ่งหลังจากได้ลงมือปฏิบัติ ผลลัพธ์ที่ได้ตระหนักนั้น นอกจากจะได้พืชที่เป็นอาหาร ได้ไม้ไว้ใช้สอย และได้ไม้ที่ช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังช่วยในเรื่องการอนุรักษ์ดินและนํ้าอีกด้วย…

“ทำให้ชาวบ้านเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เขาจึงเชื่อและทำตาม ผมเริ่มโดยใช้ป่ามันสำปะหลังกับป่าอ้อย 30 ไร่เป็นพื้นที่ทดลอง  จนปัจจุบันพลิกฟื้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวบ้านหันมาสนใจปลูกพืชผสมผสานเพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากกว่าปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยว จากนั้นผมจึงค่อย ๆ ขยายด้วยการทำให้เห็นว่า สามารถสร้างรายได้และอยู่ได้แบบยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชอาหารที่ทุกบ้านต้องกิน และค่อย ๆ ทำให้เชื่อว่าการทำกสิกรรมไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีก็ได้ โดยผมเริ่มทดลองทำคนเดียวและนำไปขายที่สวนจตุจักร จนชาวบ้านเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์สามารถสร้างรายได้ได้ดี และจะช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้

ผอ.อำนาจ เล่าย้อนเพิ่มเติมต่อไปว่า… ปี 2540 เขาเริ่มจัดอบรมการทำเกษตรไร้สารพิษให้ชาวบ้านที่สนใจ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้เข้าใจการทำเกษตรอินทรีย์ โดยสมัยแรก ๆ นั้นยังไม่มีห้องอบรม ก็อาศัยพื้นที่ใต้กอไผ่เป็นสถานที่ในการอบรมให้ชาวบ้าน หรือบางทีก็ใช้วิธีกางเต็นท์อบรมบ้าง จากนั้นก็ตั้งกลุ่มขึ้นมาโดยใช้ชื่อ “กลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษวังนํ้าเขียว” โดยหลังจัดตั้งกลุ่มแล้ว เขาได้ทำหนังสือไปถึงมูลนิธิชัยพัฒนา และในวันที่ 9 ตุลาคม 2541 ก็มีหนังสือแจ้งมา ใจความสำคัญคือ… “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ทรงรับกลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษวังนํ้าเขียวไว้ภายใต้ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

ในปี 2542 เมื่อกลุ่มฯ มีสมาชิกมากขึ้น มีผลผลิตมากขึ้น ทางอำนาจบอกว่า… ทำให้คิดว่าจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือมาประกอบส่วนกันเพื่อเชื่อมโยงกัน และทำให้เกิดการต่อยอด จึงได้จัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนเกิดเป็น สหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังนํ้าเขียว ขึ้นมา

“กลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษวังนํ้าเขียว เป็นองค์กรที่เป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน นั่นคือ ด้านหนึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ที่อยู่ภายใต้โครงการพระราชดำริ เพื่อให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน และช่วยเรื่องการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้การทำกสิกรรมไร้สารพิษให้สมาชิก ประชาชน เยาวชน นักศึกษา รวมถึงชาวต่างประเทศที่สนใจ รวมทั้งเพื่อเป็นโมเดลที่จะสามารถนำไปขยายผลสู่เกษตรกรทั่วทั้งพื้นที่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือเป็นสหกรณ์ที่รวมชาวบ้านในเรื่องของการวางแผน การปลูก การส่งเสริม เพื่อบริหารจัดการการตลาดและเงินทุนให้กับสมาชิก“ …อำนาจ ระบุถึงกลุ่มสหกรณ์ฯ ที่ทำให้ “ชุมชนบ้านนํ้าซับ” กลายเป็น “หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” โดยชาวบ้านกว่าร้อยละ 70 ยึดวิถีทำกินแบบเกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ จนค้นพบ “ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ดีขึ้น” เมื่อเทียบกับในอดีต

บุ๋ม-จุฑารัตน์ เสียมกำปัง

บุ๋ม-จุฑารัตน์ เสียมกำปัง ทายาทผู้สืบทอดวิถีเกษตรอินทรีย์จากรุ่นพ่อแม่ ก็ได้เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า… ครอบครัวเธอก็เข้าร่วมโครงการฯ โดยคุณแม่เข้าร่วมโครงการกสิกรรมไร้สารพิษตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งนอกจากจะปลูกผักปลอดสารพิษแล้ว ก็ยังปลูกพืชอื่น ๆ ผสมผสาน ทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น และเธอก็ได้สัมผัสวิถีการทำการเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยในช่วงวันหยุดเรียนเธอก็จะช่วยคุณแม่ทำเกษตรอยู่ตลอด จนต่อมาหลังจากเธอเรียนจบปริญญาตรีจากคณะพยาบาลศาสตร์ เธอก็ได้เข้าทำงานที่โรงพยาบาลอยู่ 2 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจเดินกลับมาสู่วิถีชีวิตดั้งเดิมของครอบครัวเธอ คือการทำอาชีพเกษตกร โดยเจ้าตัวบอกว่า…

“ตัดสินใจออกจากงานพยาบาลเพื่อกลับมาทำการเกษตร โดยที่ตอนนั้นตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม อยู่ได้ไหม แต่ก็ขอเวลาจากครอบครัว 2 ปี เพื่อพิสูจน์ว่าจะทำได้จริง ๆ ไหม ซึ่งหลังลาออกจากพยาบาล เราก็ไปฝึกงานด้านการทำการเกษตรที่ญี่ปุ่นอยู่ 1 ปีด้วย พอกลับมาไทยก็มาฝึกงานกับครอบครัวต่ออีก จนเริ่มทำแปลงปลูกของตัวเอง ซึ่งถึงตอนนี้ก็ทำเกษตรอินทรีย์แบบนี้มาเข้าปีที่ 8 แล้ว“ …บุ๋ม เล่าสรุปถึงเส้นทางชีวิตของเธอจากอดีตมาถึงวันนี้ พร้อมกับเผยความรู้สึกของตนเองให้ฟังอีกว่า… จริง ๆ แล้วเธอก็อยากทำการเกษตรอยู่แต่เดิมแล้ว โดยมองว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่สามารถทำกินเพื่อให้มีรายได้พอเลี้ยงตัวได้ ซึ่งการที่เธอและพี่น้องในครอบครัวทุกคนเติบโตและได้เล่าเรียนก็มาจากนํ้าพักนํ้าแรงของคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นเกษตรกร เธอจึงมั่นใจว่าสามารถใช้ชีวิตได้ภายใต้เส้นทางของอาชีพเกษตรกร

และมีอีกเหตุผลที่ผลักดันให้เราก้าวสู่เส้นทางนี้ ตอนเราทำงานพยาบาล เราเห็นว่าแนวโน้มผู้ป่วยมีเยอะขึ้น แล้วเราเองได้เติบโตจากสิ่งแวดล้อมที่ดีมาตั้งแต่เด็ก จึงมองว่าอาหารที่ดีน่าจะเป็นการป้องกันการป่วยของผู้คนได้ดี งานพยาบาลที่เราทำเป็นการทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพคนให้มีสุขภาพดี ซึ่งการปลูกผักอินทรีย์ก็น่าจะเป็นแนวทางที่เหมือนกัน เพราะเป็นการทำให้คนได้กินอาหารที่ดี ที่ไม่มีสารพิษ ก็เป็นการส่งเสริมให้คนมีสุขภาพดีเช่นกัน ดังนั้นเราจึงไม่ต้องลังเลใจอะไรมาก เมื่อเลือกแล้วว่าอยากกลับมาทำอาชีพของครอบครัว“ …บุ๋ม บอกเรื่องนี้ด้วยนํ้าเสียงมีความสุข

ทองเย็น แม่นปืน

ด้าน ทองเย็น แม่นปืน เกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ อีกหนึ่งสมาชิกของสหกรณ์ฯ ก็เล่าให้เราฟังว่า… ก่อนหน้าที่จะหันมาปลูกผักไร้สารพิษ แต่เดิมทำไร่มันสำปะหลังมา 30 กว่าปี โดยที่ผ่านมาจะมีรายได้จากการทำไร่มันสำปะหลังเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่หลังจากหันมาปลูกผักปลอดสารพิษ และเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ชีวิตก็พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ… “หลังจากเปลี่ยนมาทำวิถีเกษตรแนวนี้ ทำให้ผมมีรายได้เข้ามาตลอดทั้งปี โดยเฉลี่ยแล้วจะมีรายได้อยู่ที่ปีละประมาณ 500,000 บาท ซึ่งเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ครอบครัวก็ได้กินดีอยู่ดีมากขึ้น ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามไปด้วยครับ“ …ทองเย็น กล่าว

 …ด้วย “วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์” ของ“ชาวบ้านนํ้าซับ อ.วังนํ้าเขียว จ.นครราชสีมา และที่สำคัญคือ…มี “เข็มทิศชีวิตมงคล” จากการ น้อมนำหลัก “เกษตรทฤษฎีใหม่” และหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” มายึดถือปฏิบัติ “วิถีชีวิตชุมชนเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย” แห่งนี้ วันนี้จึง “ดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งความยั่งยืน ด้วยพระเมตตาบารมี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงไทยอย่างหาที่สุดมิได้ แห่ง “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” …ทั้งนี้ แม้พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ชั้นฟ้าแล้ว หากแต่วันนี้ และสืบไปนิรันดร์…

พระองค์ยังคงสถิตอยู่ในใจปวงไทยทุกคน…