อาทิตย์ที่ผ่านมา เราพูดถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศจากการศึกษาเรื่อง “เกลียด / โกรธ / กลัว : ความรุนแรงทางเพศ / เพศสภาพในพื้นที่ออนไลน์ ของ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พบว่า เราเห็นเรื่องการนิยามความพึงประสงค์ของร่างกาย หน้าที่ของแต่ละเพศ มาใช้ในการตอกย้ำความรุนแรงระหว่างเพศมากโดยผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ และในยุคนี้ เรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ โจมตีออนไลน์

ซึ่งการใช้พื้นที่ออนไลน์นั้นเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่กำลังมีพลังมากขึ้น โดยการใช้แฮชแทค ( # ) เพื่อเชื่อมโยงว่า “เราต่างก็กำลังพูดเรื่องเดียวกันอยู่” เช่น การต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศโดยใช้แฮชแทค เช่น #metoo ที่ลือลั่นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ในการเปิดโปงฮาร์วี่ย์ ไวนสไตน์ เจ้าพ่อแห่งวงการฮอลลีวู้ดว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงหญิง และทำให้ผู้ หญิงที่ถูกล่วงละเมิดลุกขึ้นมากล้าแสดงตัวว่าเราเป็นเหยื่อ เราต้องได้รับการชดเชยความเสียหายไม่ใช่สิ่งที่น่าอับอาย

การต่อสู้กันด้วยแฮชแทคในโลกอินเทอร์เนตมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อต่างฝ่ายต่างตอบโต้หรือเบี่ยงประเด็นกันไปมา อย่างในปีที่ผ่านมา เมื่อขโมยผิวดำรายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐอเมริกาใช้เข่ากดคอจนหายใจไม่ออกแล้วเสียชีวิต ก็มีการเคลื่อนไหวด้วยแฮชแทค black lives matter ทำให้คนดำออกมาก่อจลาจลในหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา และเรียกร้องจนกลายเป็นประเด็นใหญ่ มีการเผาทำลายทรัพย์สินของเอกชนและสาธารณะ

กลุ่มเหยียดชาติพันธุ์ก็พยายามเคลื่อนไหวโดยใช้แฮชแทก white lives matter ซึ่งกลายเป็นชนวนสร้างความหวั่นวิตกว่าจะมีการปะทะระหว่างสองกลุ่ม แต่การต่อสู้เพื่อป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลายเป็นมิติที่น่าสนใจคือ ในแฮชแทค white lives matter ในทวิตเตอร์ กลับมีกลุ่ม ARMY หรือแฟนคลับของบอยแบนด์เกาหลี BTS โพสต์มิวสิควีดิโอของ BTS รัวๆ จนการเคลื่อนไหว white lives matter สะดุดไปโดยปริยาย

หรือกระทั่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มเหยียดเพศ ที่มีการใช้ #proudboy ซึ่งมีโอกาสเกิดความรุนแรงกับกลุ่มรักร่วมเพศได้ กลายเป็นกลุ่มรักร่วมเพศใช้ #proudboy ในการโพสต์ภาพคู่แบบรักร่วมเพศ เพื่อตอบโต้กลุ่มเหยียดเพศ  ตัวอย่างที่กล่าวมาคือความไม่เท่าเทียมและการเหยียดอัตลักษณ์ที่แตกต่างเคลื่อนย้ายพื้นที่มาสู่อินเทอร์เนตและมีการต่อสู้ตอบโต้กลับกันไปมาได้ตลอดเวลา ด้วยคุณสมบัติของโซเชี่ยลมีเดียที่มีการ ‘นิรนาม’ผู้โพสต์ได้และหาตัวไม่เจอง่ายๆ

ในการเสวนาครั้งนั้น มีการพูดว่า  ความรุนแรงออนไลน์ เรามีแนวโน้มที่จะพึ่งพารัฐให้เป็นฝ่ายจัดการ แต่ถ้าให้รัฐควบคุมจัดการก็แปลว่า เราปล่อยให้รัฐลดทอนเสรีภาพได้ และอย่าลืมว่ารัฐก็คือผู้เล่น ที่บางครั้งก็ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ดังนั้น ถ้ามีหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแลเรื่องการใช้ความรุนแรงออนไลน์เหล่านี้ต้องพิจารณาว่าหน่วยงานนั้นเป็นใคร บทบาท หน้าที่อย่างไร ทางออกคือต้องใช้พื้นที่ออนไลน์ให้คนตั้งคำถามแลกเปลี่ยนกันว่าจะจัดการอย่างไร

เวลาเสนอเรื่องเกี่ยวกับเพศ ก็ต้องถกกันว่า เราถูกนำเรื่องนี้มาใช้เป็นความรุนแรงแค่ไหน ที่สำคัญคือ ‘อย่าให้เสรีภาพในการใช้สื่อออนไลน์กลับมาเป็นดาบที่บาดมือเราเอง’ ไม่ใช่การแสดงความเห็นเพียงว่าสิ่งที่เรานำเสนอออกไปคือเสรีภาพ อย่าลืมว่าเสรีภาพมันต้องมีข้อจำกัดเพราะมิฉะนั้นมันจะเป็นสิ่งที่ทำลายคนอื่นได้ เราต้องเข้าใจตรงนี้และจะนำไปสู่ความคิดที่ว่า มนุษย์จัดการความแตกต่างได้ โดยไม่ต้องใช้กฎหมายแก้ปัญหาทุกอย่าง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน ( iLAW ) มีข้อเสนอเรื่องธรรมชาติของอินเทอร์เนตว่า การปฏิสัมพันธ์ออนไลน์มีธรรมชาติที่สำคัญคือสามารถตอบโต้ได้ และถ้าใครพูดอะไรที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้ถูกประณามกลับได้ มันก็ทำให้เกิดความกลัวสิ่งที่เรียกว่า ‘ทัวร์ลง’ แต่การเมืองยังมีความรักชอบชังอยู่ ก็จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้หญิงหรือกลุ่มหลากหลายทางเพศในฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบ

ยิ่งชีพระบุว่า กฎหมายที่ใช้จัดการได้คือกฎหมายหมิ่นประมาท มาตรา 326,328 เช่นการทำให้ขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล หรือมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 ว่าด้วยเรื่องทำให้เกิดความกลัว หรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท กฎหมายนี้ใช้ได้ถ้าเป็นการคุกคาม แต่การตีความกฎหมายที่กว้างเกินไปก็เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อีก

เขายกตัวอย่างว่า หากมีการแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ( 2 ) เรื่องการนำเข้าข้อมูลไม่เหมาะสม ก็อาจถูกขยายมาใช้ทางการเมือง เราไม่ต้องการให้นำกฎหมายมาแก้ปัญหาทุกอย่าง เพราะกระบวนการยุติธรรมบ้านเรายังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น โทษที่จำกัด และต้องกลับมาตั้งคำถามว่า การคุกคามทางเพศถ้าให้เป็นโทษติดคุกจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ และกระบวนการยุติธรรมก็ยังช้า 

เราอาจต้องพิจารณาเพิ่มโทษชนิดอื่นเช่นการขอโทษ การบำเพ็ญประโยชน์ซึ่งไม่มีในสารบบโทษกฎหมายของประเทศไทย การมุ่งใช้กฎหมายมันยังแก้ไขอะไรได้ไม่มากนัก นอกจากต้องเพิ่มบทลงโทษแบบอื่น หรือมีการแก้ไขในระบบอินเทอร์เนตให้ติดธงข้อความที่เป็นปัญหา สิ่งที่ควรจะเพิ่มเติมคือไม่ใช่การประณาม โจมตี หรือแบนคนที่ยังใช้เรื่องเพศขึ้นมาโจมตีกัน แต่เราต้องหาช่องทางให้เขาเปลี่ยนความคิดให้เหมาะสมให้ได้

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม มองว่า การสร้างความเข้าใจมีความสำคัญ หรือหากบังคับใช้กฎหมาย ความเข้าอกเข้าใจว่าอะไรคือการละเมิดเป็นสิ่งที่สำคัญ  กระบวนการตำรวจควรมีนายร้อยตำรวจหญิงหรือพนักงานสอบสวนหญิงเข้ามาทำคดีเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายต้องขายหน้า และในระบบการศึกษาเอง ครูบาอาจารย์ก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องสิทธิของผู้หญิงและการเคารพสิทธินั้น การเปลี่ยนระบบคดีต้องใช้การไต่สวน ไม่ใช่การกล่าวหาที่ให้คนตกเป็นเหยื่อหาหลักฐานเอง ศาลก็ต้องมีความเข้าใจต่อคดีความทางเพศเป็นพิเศษการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเพศเป็นเรื่องของความรุนแรงลักษณะหนึ่ง ระบอบปิตาธิปไตยหรือระบอบยึดสองเพศ ทำให้ผู้หญิงและกลุ่มหลากหลายทางเพศต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงนั้น โดยเปลี่ยนความหมายของความรุนแรงเป็นเรื่องของการวิจารณ์ หรือความขบขันอะไรก็ตามแต่ แต่สุดท้ายมันก็คือการด้อยค่า การสร้างความเข้าใจเรื่องการเคารพตัวตน การมองข้ามอคติไปถึงคำว่า “ถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกอย่างไร” ยังเป็นสิ่งที่ต้องบ่มเพาะในสังคมต่อไป

เนื่องในโอกาสที่ไทยมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 บังคับใช้แล้ว และในปีนี้ก็ครบ 6 ปีที่กฎหมายตัวนี้บังคับใช้ ก็มีการเสนอให้กรมกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) แก้ไขกฎหมายให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นได้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูแลฝ่ายต่างๆ เช่นกฎระเบียบที่ล้าหลัง แต่อนุกรรมการก็มีปัญหายังไม่ค่อยได้ประชุมกันเท่าไรนักเนื่องจากสถานการณ์โควิด

ความเสมอภาคทางเพศ ยังเป็นสิ่งที่เรียกร้องกันเสมอ เพื่อเป้าหมายหนึ่งคือ “คนเท่ากัน”.

……………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”