ความหวังของผู้คนทั่วโลกทั้งหลายต่างล้วนที่จะได้มีโอกาสเฉลิมฉลองในเทศกาลแห่งความสุข ในห้วงเวลาปลายปี 2564 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2565 ซึ่งมีทั้งวันคริสต์มาส วันนับถอยหลังส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และวันตรุษจีน ต้องพังครืนลงโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นโควิด-19 สายพันธุ์ที่ 5 กำลังระบาดใหญ่ไปในทั่วโลก ซึ่งจะเป็นสายพันธุ์หลักเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน

โอมิครอน (Omicron) เป็นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบและได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 64 โดยได้ถูกจัดให้เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ถูกจัดให้อยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern – VOC) ต่อจากสายพันธุ์อัลฟา (AlphA) สายพันธุ์เบตา (Beta) สายพันธุ์แกมมา (Gamma) และสายพันธุ์เดลตา (Delta) ทั้งนี้ กลุ่มที่ปรึกษาทางเทคนิคด้านวิวัฒนาการของโรคซาร์ส (Technical Advisory Group on SARS-CoV-2 Virus Evolution หรือ TAG-VE) ซึ่งได้ติดตามและประเมินวิวัฒนาการของ โรคซาร์ส (SARS-CoV-2) มาเป็นระยะๆ รวมถึงการประเมินการกลายพันธุ์ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบสายพันธุ์โอมิครอน พบว่ามีการกลายพันธุ์บนหนามแหลม (spike) ที่เรียกว่า กรดอะมิโน (amino acid) ตำแหน่ง 69-70 หายไป 2 ตัว องค์การอนามัยโลกระบุว่า ได้รับรายงานครั้งแรกจากประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 64 ซึ่งเป็นการยืนยันการติดเชื้อ B.1.1.529 ครั้งแรกจากตัวอย่างที่เก็บรวบรวมเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 64

ไวรัสโอมิครอน B.1.1.529 มีการสะสมการกลายพันธุ์ที่น่าตกตะลึง โดยมีหลักฐานซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds- VOC) อื่นๆ

นายแพทย์เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “โอมิครอนกำลังแพร่ระบาดในอัตราความเร็วที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ และขณะนี้ได้ระบาดไปยัง 77 ประเทศแล้ว ความจริงก็คือ ขณะนี้โอมิครอนได้ไปยังประเทศส่วนใหญ่ของโลกแล้ว แม้ว่ายังไม่ถูกตรวจพบในบางประเทศก็ตาม… ดับเบิลยูเอชโอมีความกังวลต่อการที่ประเทศส่วนใหญ่เข้าใจว่าโอมิครอนเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง ซึ่งเรายังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าไวรัสสายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการของโรคที่เบากว่าหรือรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้… เราได้เรียนรู้ว่าเราได้ประเมินไวรัสสายพันธุ์นี้ต่ำเกินไป เพราะต่อให้โอมิครอนไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่การที่สายพันธุ์นี้สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วก็จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศที่ไม่ได้เตรียมตัวรับมือมาก่อน”

(ซ้าย) Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus (ขวา) Maria van Kerkhove

แพทย์หญิงมาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าแผนกโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “เราทราบว่าผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนสามารถแสดงอาการของโรคได้ทุกอย่าง นับตั้งแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง ไปจนถึงมีอาการหนัก หรือเสียชีวิตได้… การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์โอมิครอนจะทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข และหากระบบดังกล่าวล่มสลายลง ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิต

(ซ้าย) Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus (ขวา) Maria van Kerkhove

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.64 นพ.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แสดงความกังวลและความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน โดยกล่าวว่า “เขาทราบดีว่าทุกคนเบื่อหน่ายเต็มทนกับการระบาดของโรคโควิด-19 ทุกคนอยากจะจัดงานเลี้ยงฉลองกับครอบครัวและเพื่อนๆ ต้องการให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว อีกทั้งการยกเลิกการจัดงานเลี้ยงฉลองปีใหม่จะเป็นเรื่องที่ทุกคนตัดสินใจลำบาก แต่ WHO ขอแนะนำให้ทุกคนคิดถึงผลดีในระยะยาว การยกเลิกการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์แค่ครั้งเดียวดีกว่าต้องเสียใจในภายหลังเพราะหมดโอกาสจัดงานเลี้ยงไปตลอดชีวิต… ท่ามกลางหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี ยกระดับมาตรการควบคุมโรคให้เข้มข้นยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจำกัดการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ เนเธอร์แลนด์ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ รณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอน

​นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในปีหน้า โดยระบุว่าว่า “ปี 2565 ต้องเป็นปีที่ยุติการแพร่ระบาด….หากเราต้องการยุติการแพร่ระบาดในปีหน้า เราต้องยุติความไม่เท่าเทียมด้านวัคซีนด้วยเช่นกัน”

Worldometer​ รายงานข้อมูลสถานการณ์​การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั่วโลกเมื่อวันที่ 21​ ธ.ค.​ 64 ดังนี้ ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 275,777,577 ราย รักษาหายสะสม 247,345,311 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 545,626 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 5,376,416 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่เพิ่มขึ้น 4,939 ราย

การเผชิญเหตุเพื่อรับมือของประเทศต่างๆ กับสถานการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน กำลังดำเนินไปด้วยมาตรการที่เข้มข้น อาทิ เนเธอร์แลนด์บังคับใช้มาตรการปิดเมืองเข้มงวดในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ โดยสั่งปิดร้านค้าและบริการที่ไม่มีความจำเป็น รวมถึงร้านอาหาร ร้านทำผม พิพิธภัณฑ์ และโรงยิม ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.64 ไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค.65 และกำหนดให้โรงเรียนทุกแห่งปิดทำการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังจำกัดการรวมกลุ่มของประชาชนสูงสุดไม่เกิน 2 คนในสถานที่สาธารณะ และให้แต่ละครัวเรือนรับแขกผู้มาเยือนครั้งละไม่เกิน 2 คน อังกฤษออกมาตรการขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางพบปะสังสรรค์กับผู้คนในช่วงนี้ พร้อมยกระดับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อังกฤษสามารถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster dose) ให้แก่ประชาชนได้มากถึง 745,183 คนมากสุดเป็นประวัติการณ์ ฝรั่งเศสประกาศยกเลิกงานเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ งดจัดงานการแสดงดอกไม้ไฟในคืนวันที่ 31 ธ.ค.64 ที่ถนนฌ็องเซลิเซ กรุงปารีส

สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ประจำวันที่ 22 ธ.ค.64 มีดังนี้ ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,199,061 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,532 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่เพิ่มขึ้น 31 ราย รักษาหาย 3,191 ราย กำลังรักษา 38,202 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 18,903 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 19,299 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 845 ราย ผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 231 ราย

จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด 5 อันดับแรกของประเทศ ระหว่างวันที่ 15 -22 ธ.ค.64 มีดังนี้ กรุงเทพมหานคร 4,163 ราย นครศรีธรรมราช 1,390 ราย ชลบุรี 1,307 ราย สมุทรปราการ 1,053 ราย และสงขลา 834 ราย

กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 64 พบว่าเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยและชาวไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนรวม 104 ราย 2 รายในจำนวน 104 รายนั้น​ รายที่ 1​ เป็นหญิงไทยที่ติดเชื้อจากสามี ซึ่งเป็นนักบินชาวต่างชาติ รายที่ 2 เป็นหญิงไทยที่ติดเชื้อจากลูกเขยซึ่งเป็นชาวต่างชาติ​ ยังไม่มีการระบาดภายในประเทศ​

พึงทราบว่า​ การได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19​ ตามคำแนะนำ​ของกระทรวงสาธารณสุข​มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล​ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยป้องกันจากการได้รับเชื้อและลดความรุนแรงจากการได้รับเชื้อ​ การประพฤติปฏิบัติตนอย่างรอบคอบและเคร่งครัดจะเป็นหนทางทำให้มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตในทุกกรณี

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม
ขอขอบคุณภาพจาก : XINHUA และ Wikipedia