เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานไฟพระฤกษ์แก่กระทรวงวัฒนธรรมโดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นผู้แทนเข้ารับการประทานไฟพระฤกษ์ เพื่อเชิญไปถวายเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ จุดในพิธีสวดมนต์ข้ามปี 2564 โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมพิธีรับไฟพระฤกษ์ประทานหน้าพระรูปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่ออัญเชิญไปถวายแด่เจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ นำไปมอบแก่เจ้าอาวาสวัดที่จัดพิธีสวดมนต์ข้ามปี ส่งท้ายปีเก่าวิถีใหม่ พุทธศักราช 2564 ต้อนรับศักราชใหม่ 2565 ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2564–1 มกราคม 2565

การดำเนินกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีจะเป็นไปในรูปแบบการจัดงานวิถีใหม่ (New Normal) โดยจัดงานภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด การจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในครั้งนี้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ความรุ่งโรจน์ ความสำเร็จ ความสามัคคี อันเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมในพิธี และเป็นสิริมงคลยิ่งของการเข้าสู่ศักราชใหม่

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2564 นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว การจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมากอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อดังกล่าวได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จึงเห็นควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจัดกิจกรรมเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยประชาชนจะยังสามารถเข้าร่วมสวดมนต์ข้ามปีได้ผ่านทางสื่อและช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น ในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร ร่วมสวดมนต์ข้ามปีไปพร้อมกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามผ่านทางเฟซบุ๊กวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและ เฟซบุ๊กกรมการศาสนา ตั้งแต่เวลา 22.30 น. เป็นต้นไป หรือร่วมสวดมนต์ข้ามปีไปพร้อมกับวัดอรุณราชวราราม ผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ในเวลา 23.30–00.15 น. หรือรับชมออนไลน์ผ่านทาง เฟซบุ๊กกรมการศาสนา นอกจากนี้สามารถร่วมรับชมพิธีตักบาตรรับอรุณวันใหม่ต้อนรับศักราช 2565 ผ่านทาง เฟซบุ๊กไลฟ์กรมการศาสนาได้อีกด้วย

วัดพระธาตุดอยตุง

ในส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ ร่วมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ภาคใต้ ร่วมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และวัดที่จัดสวดมนต์ข้ามปีทั่วประเทศนอกจากนี้ องค์การศาสนาต่างๆ ได้มีการปรับรูปแบบกิจกรรมตามบริบทของพื้นที่ ประกอบพิธีในรูปแบบออนไลน์ ตลอดจนเปิดศาสนสถานให้ประชาชนสักการะ เพื่อเสริมสิริมงคลต้อนรับศักราชใหม่ โดยดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

วัดโพธิสมภรณ์

ชาวพุทธพึงทราบว่าการสวดมนต์จะเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดนั้น จะต้องสวดมนต์ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นการสวดมนต์ด้วยกุศลจิตและกุศลเจตนา

วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์

ไม่ใช่สวดมนต์ด้วยความโลภมุ่งหวังให้ได้มาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ประการสำคัญการสวดมนต์นอกจากจะต้องสวดด้วยความเคารพนอบน้อมต่อพระรัตนตรัยแล้ว ยังต้องเข้าใจความหมายในคำที่สวดมนต์ที่เป็นภาษาบาลีอีกด้วย โดยน้อมระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

บทไตรสรณคมน์

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ (ที่พึง)

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ 2

ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ 2

ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ 2

ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ตติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ 3

ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ตติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ 3

ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ตติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ 3

บทนมัสการพระพุทธเจ้า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

นะโม หมายถึง ความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า

ตัสสะ หมายถึง พระองค์นั้น คือ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ผู้ทรงประกอบด้วยพระคุณเหมือนกันทั้งหมด กล่าวคือ ทรงจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์โลก ทรงห่างไกลจากกิเลส ทรงตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ภวคโต หมายถึง ผู้ทรงหักราคะ โทสะ โมหะและบาปธรรมทั้งหลายได้แล้วเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งภพ เป็นผู้คลายการไปในภพทั้งหลายทรงเป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์โลกต่อไปคำว่าผู้ทรงห่างไกลจากกิเลส

อรหโต หมายถึง เป็นผู้ดับกิเลสได้หมดสิ้น ทำลายข้าศึกคือกิเลสเสียได้ ทำลายซี่กำแห่งสังสารจักรได้ เป็นผู้ควรได้รับทักษิณาทานมีปัจจัย ๔ (อาหารบิณฑบาตร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) เป็นต้น เป็นผู้ไม่มีที่ลับในการทำบาป และคำว่าทรงตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

สัมมาสัมพุทธัสสะ หมายถึง ทรงตรัสรู้สภาพธรรมด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ ด้วยพระบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาและเมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็ทรงยังผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามด้วย

คำบูชาพระรัตนตรัย

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา สมเด็จพระผู้มีพระภาคผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ ข้าพเจ้าถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

สะหวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว

ธัมมัง นะมัสสามิ ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว

สังฆัง นะมามิ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์

บทพระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ

แม้ด้วยเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู

ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ(ความรู้และความประพฤติ) เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ

ทรงเป็นฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า

สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

ทรงเป็นครูผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้ตื่น ทรงเป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

บทพระธรรมคุณ

สะหวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก

พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง

อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก

เป็นสิ่งที่ปฏิบัติและให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ

เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

บทพระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว

อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติตรงแล้ว

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติสมควรแล้ว

ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐปุริสะปุคคะลา

ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ คู่แห่งบุรุษ 4 คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ 8 บุรุษ

เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

นั้นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขา จัดไว้ต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี

อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

ในโอกาสปีพุทธศักราช 2565 ที่กำลังจะเวียนมาถึงนี้

ขอเชิญชาวพุทธฟังการสนทนาธรรมในหัวข้อเรื่อง “ชีวิตใหม่” โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในวันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม 2565 เวลา 09.00–10.00 น. ทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คลื่น เอ.เอ็ม.1107 กิโลเฮิรตซ์ ทางเว็บไซต์ www.radio.ku.ac.th และ www.dhammahome.com เพื่อความเป็นสิริมงคลของการเริ่มต้นปีพุทธศักราช 2565

เริ่มต้นปีพุทธศักราช​ 2565 ฟังธรรม​ “ชีวิตใหม่” โดย​ สุจินต์​ บริหารวนเขตต์

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม