ปัจจุบันนี้ โควิดก็ยังเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกิดความสูญเสียทางระบบสุขภาพและสาธารณสุขมหาศาล สำหรับประเทศไทยเอง มียอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสมร่วม 2.2 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากโควิดรวมกว่า 2.1 หมื่นคน และสถานการณ์เองก็ยังถือว่าน่าเป็นห่วง จากที่เชื้อเดิมที่มีการแพร่ระบาดมากคือ “สายพันธุ์เดลตา” ขณะนี้มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาคือ “โอมิครอน” ที่ว่ากันว่าสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดลตาถึง 2.45 เท่า และขณะนี้ โอมิครอน
กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขในบางประเทศในยุโรป

เราก็ต้องระวังรักษาสุขภาพให้ดีเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ ที่สำคัญคือรักษาความสะอาด รักษาระยะห่างจากผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์พกไปได้

แต่ยังมีความโชคดีที่วิทยาการสามารถผลิตวัคซีนป้องกันการป่วยหนักเมื่อติดเชื้อได้ และผลิตยารักษาโรคได้ อย่างไรก็ตาม โควิดเป็นโรคทางเดินหายใจ เมื่อมีอาการติดเชื้อมีโอกาสที่ปอดจะได้รับความเสียหาย อย่างที่เราทราบกันว่ามีข่าวเรื่องการเอกซเรย์ปอดผู้ติดโควิดแล้วพบว่าปอดเป็นฝ้า การรักษาที่รวดเร็วจึงจำเป็นมาก และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือเมื่อหายจากโควิด ก็ต้องฟื้นฟูร่างกาย หลีกเลี่ยงการติดเชื้ออีกครั้ง

นพ.นิพนธ์ จิริยะสิน

นพ.นิพนธ์ จิริยะสิน อายุรแพทย์ เฉพาะทางโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บางรายที่ต้องพักรักษาตัวค่อนข้างนาน จึงต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของตัวเองเพื่อความแข็งแรง โดยแบ่งเป็น

1.การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย บางคนร่างกายจะยังไม่สดชื่น กระปรี้กระเปร่า เพราะนอนพักรักษาตัวเป็นเวลานาน วิธีที่ควรใช้คือ ควรมีการออกกำลังกายเบา ๆ สมํ่าเสมอ การฝึกหายใจ โดยหายใจเข้าลึก ๆ ให้อากาศเข้าสู่ปอด และค่อย ๆ หายใจออกยาว ๆ จนสุด ทำเซตละ 5–6 ครั้ง วันละ 3 เซต

นอกจากนั้นยังต้องมีการฟื้นฟูกล้ามเนื้อหากต้องนอนรักษาเป็นเวลานาน แรกเริ่มควรใช้การบริหารร่างกายเบา ๆ ด้วยการบริหารกล้ามเนื้อแขน และขา หรือการฟื้นฟูกล้ามเนื้อด้วยนักกายภาพบำบัด

2.โควิดเป็นโรคที่ติดต่อง่าย ผู้เคยติดเชื้อบางคนอาจยังมีความกังวล ตื่นตระหนก กลัวติดซํ้า หรือไม่สบายใจคิดว่าคนรอบข้าง
จะกลัว อาจต้องมีการฟื้นฟูจิตให้หลุดพ้นจากภาวะเครียด วิธีที่ดีคือ
การร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนที่เข้าใจ ออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หางานอดิเรกทำ

บางราย ผลกระทบจากโควิด อาจทำให้เกิดภาวะป่วยทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง หรือที่เรียกว่า Post-Traumatic Stress Disorder – PTSD หากมีอาการหวาดกลัว ตื่นตระหนก หลีกเลี่ยงการพูดถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ นอนไม่หลับนานเกิน 1 เดือนควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

3.สังเกตอาการลองโควิด (Long COVID) แม้หายจากอาการป่วย ร่างกายยังสามารถเกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่องได้ หรือยังฟื้นฟูร่างกายได้ไม่เต็มที่ หากพบว่ายังมีอาการหายใจลำบาก รับออกซิเจนได้ไม่เต็มปอด อ่อนเพลียหรืออาจเจ็บหน้าอก ใจสั่นหรืออื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันสูง โรคไต ภาวะอ้วน หากยังมีอาการควรรีบพบแพทย์ทันที

4.การดูแลเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย นพ.นิพนธ์เน้นว่า ต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สารอาหารที่สำคัญคือโปรตีน พวกเนื้อแดง เพื่อช่วยสร้างเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ วิตามินซีช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และต้านการอักเสบ อาหารที่มีวิตามินสูงเช่นส้ม ฝรั่ง พริกหยวก

วิตามิน D3 ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัด โดยสามารถรับได้จากแหล่งพลังงานหลักจากแสงแดด จึงควรตากแดดเป็นประจำวันละ 15–30 นาทีต่อวัน

สังกะสี ลดการติดเชื้อในร่างกาย พบได้จาก อาหารทะเล เต้าหู้ ข้าวกล้อง เห็ด ผักโขม งาดำ เนื้อสัตว์ ถั่ว

โพรไบโอติกแบคทีเรีย ที่เป็นแบคทีเรียตัวดีในร่างกาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลำไส้ได้ดีขึ้น ช่วยทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายและเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยพบได้จากโยเกิร์ต กิมจิ นัตโตะ ผักดองต่าง ๆ ที่ผ่านการดองที่สะอาดและถูกสุขลักษณะ และพรีไบโอติก เป็นอาหารของแบคทีเรียตัวดี เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในลำไส้ พบได้จาก หอมหัวใหญ่ หอมแดง อาหารมีกากใยต่าง ๆ เป็นต้น

“การรับประทานอาหารอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอที่ร่างกายต้องการทุกวัน การเลือกรับประทานวิตามินเสริมอาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากการฟื้นฟู และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 แล้ว สิ่งสำคัญคือกำลังใจของสมาชิกในครอบครัว และตัวเอง ที่จะทำให้สามารถมีพลังและมีวินัยในการฟื้นฟูร่างกาย ให้กลับมาปกติอีกครั้ง” นพ.นิพนธ์ ระบุ

หากมีปัญหาหรือข้อซักถามเพิ่มเติมในการดูแลฟื้นฟูร่างกายหลังโควิด สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลนครธน มีบริการถาม-ตอบปัญหาสุขภาพผ่าน LINE official @Nakornthon และเฟซบุ๊กเพจ FB : Nakornthon Hospital

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง