คอรินน์ ฮัตตัน เคยรับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเมื่อสามปีก่อน และต้องผ่านการทำกายภาพบำบัดอย่างเข้มข้นวันละ 4 ชั่วโมง เพื่อฝึกใช้มือคู่ใหม่ให้คล่อง คอรินน์ต้องหัดหมุนข้อมือเพื่อยกแก้วน้ำดื่มและกิริยาสามัญอื่น ๆ ที่แสนง่ายดายสำหรับคนปกติ แต่ไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่ใช้มือเทียม

คอรินน์เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอจึงต้องฝึกฝนเพื่อทำสิ่งเหล่านี้พร้อมกับดูแลลูกชายวัยรุ่นของเธอไปด้วย

คอรินน์สูญเสียสองมือและขาทั้งสองข้างเนื่องจากเกิดภาวะเป็นพิษจากการติดเชื้อเมื่อปี 2556 ภาวะเป็นพิษเพราะการติดเชื้อจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีเชื้อโรคจนเกินระดับที่เหมาะสม (ในกรณีของเธอคือการติดเชื้อจากโรคปอดบวม) และทำให้เลือดไม่ไปหล่อเลี้ยงแขนขาและอวัยวะอื่นๆ 

อาการป่วยดังกล่าวทำให้คอรินน์ต้องถูกตัดขาและมือทิ้งทั้งหมด เธอต้องเรียนรู้วิธีทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันแบบใหม่ โดยอาศัยขาเทียมและท่อนแขนที่ยังเหลืออยู่ ในขณะนั้น ‘รอย’ ลูกชายของเธออายุเพียง 4 ขวบ ทุกอย่างจึงดูยากไปหมด

ต่อมาเธอก็ได้รับมือเทียมข้างซ้ายแบบไบโอนิค ซึ่งสามารถรับคลื่นสัญญาณจากสมอง ทำให้เธอทำกิริยาอาการด้วยมือได้มากขึ้น เช่น การชี้นิ้วหรือกำหมัด ซึ่งมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะชีวิตปัจจุบันที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น มือไบโอนิคนี้ทำให้เธอสามารถใช้งานอุปกรณ์แบบจอสัมผัสได้

ในปี 2560 เธอกลายเป็นคนไข้คนแรกของอังกฤษที่ลงชื่อรอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมือทั้งสองข้าง หลังจากที่เธอได้ติดต่อกับศาสตราจารย์ไซมอน เคย์ ที่ปรีกษาแผนกศัลยกรรมพลาสติกขององค์กรบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS Trust) ในเมืองลีดส์ 

ศาสตราจารย์เคย์ เป็นหัวหน้าแผนกผ่าตัดปลูกถ่ายมือและเคยประสบความสำเร็จในการผ่าตัดใส่มือใหม่ให้คนไข้มาแล้วเมื่อปี 2555 และตัวเขาเองก็เคยสูญเสียมือเพราะโรคเกาต์ แต่เขาได้รับบริจาคอวัยวะและผ่าตัดปลูกถ่ายมือใหม่ซึ่งใช้งานได้ดีจนสามารถผ่าตัดให้ภรรยาของเขารอดชีวิตได้ในปี 2559 เมื่อเธอเกิดอาการหัวใจวาย

คอรินน์ ต้องรอถึง 5 ปีถึงได้อวัยวะที่เข้ากับร่างกายของเธอได้ เธอเข้ารับการผ่าตัดในปี 2562 ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี และเธอเป็นคนไข้รายที่ 6 ที่รับการผ่าตัดซึ่งถือว่าเป็นการบุกเบิกครั้งใหม่ของวงการศัลยกรรม

คอรินน์ ฮัตตัน ขณะกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสที่เธอได้รับปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์จาก Open University ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ

คอรินน์กลับไปฝึกกายภาพบำบัดอีกครั้งพร้อมกับมือคู่ใหม่ ในเวลาราวครึ่งปีหลังการผ่าตัด เธอต้องไป ๆ มา ๆ จากบ้านและโรงพยาบาลเพราะเกิดอาการติดเชื้อหลายรอบ แต่แล้วทุกอย่างก็ค่อย ๆ ดีขึ้น จากตอนแรกที่มือคู่ใหม่ของเธอไม่ส่งผ่านความรู้สึกใด ๆ เลย คอรินน์ก็เริ่มรู้สึกถึงความร้อน-เย็น และผิวสัมผัสของวัตถุที่เธอหยิบจับ และเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น เธอก็รับความรู้สึกจากมือได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เธอสามารถชี้นิ้วได้ และที่ดีไปกว่านั้นคือเธอสามารถลูบศีรษะลูกชายและรู้สึกได้ว่าเส้นผมของเขาไหลผ่านมือเธอไป

การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมือต่างจากอวัยวะอื่น ๆ ที่มักจะปกปิดตัวตนของผู้บริจาค แต่กรณีของมือ ผู้รับบริจาคและทีมแพทย์ผ่าตัดจะต้องได้รับอนุญาตจากญาติของเจ้าของอวัยวะเสียก่อน คอรินน์ยอมรับว่าเธอเคยพบหน้าครอบครัวของเจ้าของมือใหม่ของเธอ แต่ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดเพราะต้องการให้ความเคารพความเป็นส่วนตัวของพวกเขา

ปัจจุบัน คอรินน์ช่วยงานการกุศล ระดมทุนเพื่อองค์กรต่าง ๆ และเริ่มฝึกกีฬาใหม่ เช่น ขี่จักรยาน เล่นสกีและปีนผาจำลอง เธอยังมีนัดทำเล็บทุกสองสัปดาห์ โดยเธอถือว่าเป็นหน้าที่ของเธอที่ต้องดูแลรักษามือคู่นี้ให้ดีเพื่อตอบแทนบุญคุณของเจ้าของมือคนเดิม

“ทุกครั้งที่ฉันไปทำเล็บ ฉันจะขอบคุณผู้บริจาคมือให้ ฉันอยากแน่ใจว่าตัวเองจะไม่เคยลืมสำนึกถึงบุญคุณนี้” 

แหล่งข้อมูล

https://www.dailymail.co.uk/health/article-10365803/Having-double-hand-transplant-means-ruffle-sons-hair-again.html

เครดิตภาพ : Getty Images