หนึ่งในปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดในนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะแมลงสัตว์กัดต่อย อาการคันจากผิวแห้ง และผิวไหม้จากแสงแดด ดังนั้นก่อนออกเดินทาง ควรศึกษาข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวจะได้เตรียมความพร้อมป้องกันตัว ซึ่ง รศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ รศ.พญ.กัญญรัตน์ กรัยวิเชียร และ อ.พญ.สุพิชชา กมลรัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย แทคทีมกันให้ข้อมูล โดยชู “ตัวก่อโรค” แต่ละชนิด เริ่มกันที่การท่องเที่ยวทางทะเล

รศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ รศ.พญ.กัญญรัตน์ กรัยวิเชียร และ อ.พญ.สุพิชชา กมลรัตนกุล

1.ริ้นทะเล (ปึ่ง) เป็นแมลงบินขนาดเล็กกว่ายุง อยู่กันเป็นฝูงตามชายหาดและป่าชายเลน ตัวเมียดูดเลือดสัตว์เป็นอาหารเพื่อใช้ในการผลิตไข่ ส่วนตัวผู้กินแมลง ซากเน่าเปื่อย ออกหากินเวลาเช้าตรู่และพลบคํ่า ทั้งนี้ ส่วนของปากที่ใช้ดูดเลือดมีอวัยวะตัดเฉือนเนื้อเยื่อ ทำให้ผื่นผิวหนังของคนที่ถูกริ้นทะเลดูดเลือดจะมีรูตรงกลางเห็นได้ชัด บางครั้งผื่นอาจเป็น คล้ายจํ้าเลือด เพราะขณะที่ริ้นทะเลกัดจะปล่อยสารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นการป้องกัน ไม่ไปเดินเล่นชายหาด บริเวณที่มีพุ่มไม้รก หรือป่าชายเลน ช่วงโพล้เพล้ ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยากันแมลงพ่นที่ตัวเรา

2.พยาธิชอนไชผิวหนัง เกิดจากการเคลื่อนที่ตัวอ่อนของพยาธิสัตว์บนผิวหนังชั้นนอกของคน อย่างไรก็ตามคน ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเติบโตได้ พยาธิตัวอ่อนจึงอยู่ได้แค่ในผิวหนังกำพร้าแล้วตายไปในที่สุด แต่จะทำให้เกิดผื่นผิวหนัง เริ่มจากตุ่มเล็ก ๆ สีแดง คันมาก เมื่อตัวอ่อนพยาธิเริ่มเคลื่อนที่จะเห็นผื่นเป็นเส้นนูนคดเคี้ยว สีแดงกว้าง 2-3 มิลลิเมตร อาจมีความยาวถึง 20 ซม. สำหรับการป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า หรือใช้อวัยวะสัมผัสดินปนทรายนาน

เห็บ

3.แมงกะพรุนไฟ พบได้ทั้งฝั่งทะเลอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย พบมากในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. โดยแมงกระพรุนไฟมีเข็มพิษจำนวนมากบริเวณหนวด เมื่อสัมผัสผิวหนังเข็มพิษจะแตกออก ปล่อยพิษเข้าสู่คน ทำให้เป็นผื่นแดง ไหม้ พุพอง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ทำตามลำดับ ดังนี้ 1.เรียกให้คนช่วย อยู่นิ่ง ๆ 2.ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนหรือราดนํ้าจืด เพราะจะทำให้มีการปล่อยพิษเพิ่มขึ้น ให้ราดนํ้าส้มสายชูบริเวณที่มีร่องรอยจากการสัมผัสแมงกะพรุนให้ทั่วนานอย่างน้อย 30 วินาที จากนั้นค่อย ๆ ดึงเข็มพิษออกจากผิวหนังอย่างระมัดระวัง

4.หอยเม่น เมื่อถูกหนามหอยเม่นตำ จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือเป็นแผล และมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา หอยเม่นบางชนิดมีเข็มพิษทำให้ปวดมาก การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ใช้ปากคีบดึงหนามออก แช่มือหรือเท้าบริเวณที่ถูกตำในนํ้าร้อน 45 องศาเซลเซียส นาน 30-90 นาทีเพื่อทำลายพิษจากหอยเม่น

ส่วนการ “เที่ยวป่า ภูเขา นํ้าตก” ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน ส่วนใหญ่พบต้นตอ ดังนี้ 1.เห็บ มักอยู่ตามพุ่มไม้ บริเวณที่รก ดูดเลือดคนหรือสัตว์เป็นอาหาร ตอนถูกกัดมักไม่รู้สึกเพราะเห็บจะค่อย ๆ สอดส่วนปากลงไปในผิวหนังและนํ้าลายของเห็บมีสารที่ทำให้รู้สึกชา สารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด สารยับยั้งการอักเสบของร่างกาย ส่วนปากที่อยู่เหนือผิวหนังจะทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดผื่น การป้องกันใส่เสื้อผ้ามิดชิด ไม่เดินไปในที่รก ใช้ยากันแมลงพ่นที่ตัว ถ้าถูกกัดให้ใช้ปากคีบจับที่ส่วนหัวของเห็บดึงออกในแนวตรงให้ส่วนปากออกมาให้ครบ และทำความสะอาดด้วยการฟอกสบู่และทายาฆ่าเชื้อโรค

2.ริ้นดำ (คุ่น) รูปร่างลักษณะคล้ายริ้นทะเล จะวางไข่บริเวณก้อนหินบนลำธารนํ้าไหล ชอบอากาศเย็น พบบริเวณลำธารบนภูเขาทางภาคเหนือของไทย ออกหากินทั้งเวลากลางวันกลางคืน ตัวเมียจะดูดเลือดสัตว์เป็นอาหาร ผื่นผิวหนังจากริ้นดำกัดจะมีลักษณะคล้ายกับที่โดนริ้นทะเล การป้องกัน ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยาทากันแมลง

เรือด

ขณะที่ ตาม “โรงแรมที่พัก โฮมสเตย์” มักพบ “ตัวเรือด” ลำตัวแบนสีนํ้าตาลแดง ขนาด 6-7 มิลลิเมตร ไม่มีปีก อาศัยอยู่ตามซอกรอยแตก ตะเข็บที่นอน หมอนหรือเฟอร์นิเจอร์ โดยจะออกดูดเลือดจากสิ่งมีชีวิตตอนกลางคืน บริเวณใบหน้า คอ แขน ลำตัว รอยกัดจากตัวเรือดจะเป็นตุ่มแดงคันขนาด 2-5 มิลลิเมตร ไม่เจ็บ ส่วนมากจะเรียงตัวกันเป็นแนว 3-4 ตุ่ม ผื่นเกิดหลังถูกกัด เป็นชั่วโมงหรือหลายวันได้ รอยกัดของตัวเรือดเป็นอาการเฉพาะที่ หายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ตอนเก็บกระเป๋าต้องดูให้ดีเพราะอาจจะติดตามกระเป๋ากลับบ้านมาด้วย ซึ่งกำจัดยากต้องใช้ความร้อนสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้เมื่อรู้แล้วว่าต้นตอก่อโรคผิว หนังแต่ละสถานที่ท่องเที่ยวเป็นอย่างไร จะได้ไม่พลาดเรื่องการเตรียมป้องกันตัวเองอย่างถูกวิธีเมื่อจะเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา จะได้เที่ยวอย่างสบายใจขึ้น และที่สำคัญในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เที่ยวที่ไหนต้องไม่ลืมรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง