กลายเป็นปรากฎการณ์ “อาฟเตอร์ช็อกการเมือง” ที่รุนแรงอีกครั้งหนึ่ง สำหรับสถานการณ์ของ พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นผลพวงมาจาการพ่ายศึกเลือกตั้งซ่อม ชุมพร-สงขาล ที่ส่งผลให้รอยร้าวภายในบาดลึกมากยิ่งขึ้น จนสุดท้ายจบลงด้วย การขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค พร้อมด้วย ส.ส.อีก 20 คนพ้นจากพรรค แต่สถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทนากับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเพื่อถอดรหัสผลกระทบทางการเมืองหลังการเลือกตั้งซ่อมในครั้งน

โดย ดร.เจษฎ์  เปิดฉากถึงเรื่องสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ ที่จะส่งผลต่อรัฐบาลว่า เรื่องนี้ดูได้ 2 ด้าน หากเดิมทีข้อขัดแย้งในพรรคมาจากการที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และบรรดา ส.ส.ที่เป็นพรรคพวกกัน แต่พอ รอ.ธรรมนัส และ ส.ส.เหล่านั้นออกจากพรรค สถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐอาจจะดีขึ้น และหาก ร.อ.ธรรมนัส และพรรคพวกที่ยังไม่รู้จะอยู่พรรคไหน มีโอกาสที่จะอยู่พรรคฝ่ายค้าน มันก็จะทำให้เสถียรภาพภายในของรัฐบาลดีขึ้น เพราะจะเหลือแค่ความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐที่มีอยู่เดิม และถ้าหากว่า ร.อ.ธรรมนัสเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคนั้น มันก็จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐลดน้อยลงไปด้วย

“ดังนั้นในด้านหนึ่งจึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐ และสถานการณ์ของรัฐบาลอาจจะดีขึ้น แต่ก็เป็นเพียงแค่ชั่วคราว เพราะยังมีศึกเลือกตั้งทั่วไปที่รออยู่เบื้องหน้า ซึ่งไม่ว่า ร.อ.ธรรมนัสกับพรรคพวกไปอยู่ที่ไหน แต่ก็จะเป็นปฏิปักษ์กับพรรคพลังประชารัฐ และยังไม่รู้จะเป็นปฏิปักษ์กับ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยหรือไม่”

แต่หากเกิดภาวการณ์ที่ พรรคที่ก่อตั้งใหม่โดยคนที่เคยเป็นกลจักรสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ หากสามารถคุยกันลงตัวและจับมือกันได้กับพรรคที่ ร.อ.ธรรมนัส และพรรคพวกย้ายไปอยู่ รวมทั้งพรรคกล้า รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะร่วมมือกันในอนาคต และยังไม่รู้ว่าจะมีพรรคไหนก่อเกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ เพราะมีใครหลายคนที่บอกว่าเตรียมจะทิ้งพรรคพลังประชารัฐด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นในแง่นี้ก็จะกลายเป็นอีกด้านเลย ภาวการณ์ของพรรคพลังประชารัฐก็กำลังจะเริ่มถอดถอยและปักหัวลงเรื่อยๆ พรรคจะเริ่มแตกเป็นริ้วๆแตกเป็นส่วนๆ จนกระทั่งท้ายที่สุดไม่สามารถประคับประคองพรรคอยู่ได้

@ สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร?

ส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพรรค แต่ก็ผูกโยงกับพรรค แต่ไม่รู้ว่าผูกโยงมากขนาดไหน หากผูกโยงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐมาก สถานการณ์ที่ดีขึ้นของพรรคพลังประชารัฐก็จะส่งผลดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ สถานการณ์ที่แย่ก็จะส่งผลในทางลบ แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ผูกโยงกับพรรคพลังประชารัฐน้อย และอาจเตรียมไปอยู่ที่อื่นด้วย สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะเป็นสถานการณ์แยกกันกับพรรคพลังประชารัฐในอนาคต

“ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบหรือฟันธงได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาล แต่มันรอวันข้างหน้าที่จะเป็นผลเสียแน่นอน”

@หากเกิดการเลือกตั้งในอนาคต ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ยังขายได้หรือไม่?

ลำพัง ตัว พล.อ.ประยุทธ์เองตนว่าขายไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะได้เปรียบคือ 1.คำสั่งและสิ่งที่ตกทอดมาจากสมัยคสช.ยังมีอยู่บ้าง ซึ่งพอใช้ประโยชนืได้อยู่  2.มี ส.ว. ซึ่งก็จะใช้ได้น้อยลงไปเรื่อยๆ และ 3. การที่ยังมีคนที่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ คิดดี และหวังดี แต่ก็ค่อยๆหายไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมนต์ขลังของความเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติมันไม่มี และคนเขาก็เห็นแล้วว่าฝีมือการบริหารราชการแผ่นดินที่จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างไร คนเขาก็รู้แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์กับเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นลำพัง พล.อ.ประยุทธ์ขายลำบาก ต้องมีพรรคหนุนหลังที่ดี ต้องเกื้อกูลกันพอสมควร

@ ผลพวงจากการเลือกตั้งซ่อม ชุมพร-สงขลา กับทิศทางทางการเมืองในอนาคต

ผลการเลือกตั้ง ชุมพร-สงขลา เป็นผลดีกับ 2 พรรค คือพรรคกล้า ที่จะเรียนรู้ว่าต้องเพิ่มศักยภาพอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ไปเสริมยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการหาเสียงในการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ เพื่อดึงคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์มาไว้กับตัวเองได้ ขณะที่ พรรคก้าวไกล ก็จะได้ปรับตัวว่าตอนที่เป็นพรรคอนาคตใหม่ดะแนนหลักหมื่นแต่การเลือกตั้งซ่อมได้คะแนนหลักพันนั้น จะได้เรียนรู้ว่าควรจะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอย่างไร

แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ พอไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีในอนาคต สิ่งที่เคยเป็นความได้เปรียบเดิมจะเสียไป และที่สำคัญระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปเกื้อกูลการแข่งกันแบบหัวชนหัว ไม่สามารถเอื้อเฟื้อคะแนนกันได้ แตกต่างจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ส.ส.เขตเอื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ หรือเอื้อระหว่างพรรคหากพรรคอื่นได้ ส.ส.เขต อีกพรรคก็มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบคู่ขนาน หรือระบบเสียงข้างมากซ้อน ต่างคนต่างต้องสู้กัน ทั้งในพรรคเองต่างคนต่างไม่ต้องสนใจกัน และระหว่างพรรคก็ไม่มีอะไรที่จะเกื้อกูลกัน ดังนั้น 2 พรรคใหญ่ก็จะยิ่งทะเลาะกัน ส่วนพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็สู้กันในคะแนนฝั่งนั้นเอง ว่าใครจะได้มากกว่ากัน แต่อาจจะได้คะแนนเพิ่มมาจากการที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ทะเลาะกันจนประชาชนรู้สึกว่าเลือกพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกลดีกว่า ซึ่งจะกลายเป็นการประเคนคะแนนไปให้อีกฝั่ง กลายเป็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหตุทั้งหมดที่ทะเลาะกันไปมา จนมีการฟ้องร้องกัน มันจะอยู่กันลำบาก จะกลายเป็นการสาวไส้ให้กากิน

“ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐต่างคนต่างก็เสีย แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.มา แต่ก็กลับมาจำนวนเท่าเดิม พรรคพลังประชารัฐแม้จะไม่ได้ก็ไม่ได้เสียอะไร เพราะแต่เดิมก็ไม่ได้ ส.ส.ในเขตดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ความร้าวฉานที่เกิดจากเหตุของการพยายามที่จะผลักดันให้ได้ผลการเลือกตั้งในชุมพร-สงขลา จะทำให้ความร้าวฉานยิ่งบาดลึก และยิ่งแตกแยกในอนาคต”