เป็นอีกกรณีเกี่ยวกับ “โควิด-19” ที่ต้องติดตามว่าจะอย่างไรแบบใดกันบ้าง?? หลังจากมีกลุ่มครูและผู้ปกครองบางส่วน “เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการเข้มที่ใช้กับโรงเรียน-นักเรียน” โดยให้เหตุผลว่า…สร้างความเดือดร้อน เด็ก ๆ ต้องทรมานจากมาตรการคุมเข้ม ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ ถึงวันนี้มีการตอบรับหรือไม่?-อย่างไร? นั่นก็ว่ากันไป…อย่างไรก็ตาม กับเรื่อง “การเรียนในยุคโควิด-19” นั้น ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า… ทั้งสถานศึกษา ผู้ปกครอง รวมถึงเด็กนักเรียน ต่างก็ต้อง “ปวดเศียรเวียนเกล้ากันไม่ใช่น้อย ๆ” ถึงแม้จะมีการนำแนวทางต่าง ๆ มาปรับใช้ให้สอดรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา รวมถึงกรณีการให้ “เรียนออนไซต์สลับกับเรียนออนไลน์” ทั้งนี้ กับเรื่องนี้ก็มีข้อมูลที่นำเสนออยู่ใน เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ ที่น่าพิจารณา…

มี “ข้อเสนอแนะการเรียนในยุคโควิด” ที่น่าสนใจ

เพื่อที่จะ “ช่วยเด็กไทยในการต้องรับศึก 2 ด้าน!!

ทั้ง “โรคระบาด” และปัญหา “การเรียนรู้ถดถอย

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นบทความโดย ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโสนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ของ ทีดีอาร์ไอ โดยมีการระบุไว้ในบทความว่า… เป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักเรียนหลายล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน และในระหว่างนี้ ก็ได้มีงานวิจัยจำนวนมากที่เริ่มชี้ให้เห็นโทษของการปิดเรียนเป็นเวลานาน ทั้งในแง่การเรียนรู้ อารมณ์-จิตใจ และโอกาสในอนาคต โดยที่… เด็กเล็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากด้านการเรียนรู้ ขณะที่ เด็กวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านจิตใจสูงที่สุด …นี่เป็น “ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยวัยเรียน” กับเด็กกลุ่มต่าง ๆ ที่บทความนี้สะท้อนไว้

นอกจากนี้ ยังมีการสะท้อนไว้อีกว่า… แม้ทางโรงเรียนจะพยายามทดแทนการเรียนปกติที่โรงเรียนด้วยการเรียนรูปแบบอื่น ๆ เช่น ออนไลน์ ออนแฮนด์ ออนแอร์ แต่ปัญหาจาก ความไม่พร้อมในการเรียนที่บ้าน ก็ยังคงมีอยู่ โดยจากผลสำรวจสถานศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ ก็พบว่า… โรงเรียนส่วนใหญ่ยังประสบอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ปัญหาจากผู้เรียนมีฐานะยากจน…ทำให้เข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ ปัญหาจากการที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลนักเรียน…สำหรับการเรียนที่บ้าน ปัญหาจากคุณภาพการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์…ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ความไม่พร้อม“ นั้น มีทั้งฝ่ายบ้าน-ฝ่ายโรงเรียน”…

โดย… “อุปสรรคที่สำคัญอีกประการที่สำรวจพบก็คือ…แม้กระทรวงศึกษาธิการจะกำหนด “เงื่อนไขการเปิดโรงเรียน” ไว้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 ทว่า…ผลสำรวจในเดือน พ.ย. 2564 กลับพบว่า… ถึงแม้สถานศึกษาจำนวนร้อยละ 97 จะประเมินตนเองว่ามีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ก็ตาม แต่เอาเข้าจริงก็ ยังมีสถานศึกษาถึงร้อยละ 34 ที่ไม่สามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้!!!  ซึ่งมีสาเหตุเกิดจาก “ข้อจำกัด-เงื่อนไข” ที่ “ไม่สามารถปฏิบัติตามได้

อุปสรรคที่ทำให้สถานศึกษาหรือโรงเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้นั้น ในบทความโดยนักวิจัยทีดีอาร์ไอสะท้อนไว้ว่า… ประกอบด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ดังนี้… ประการแรก เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติมีมากและยุ่งยากในทางปฏิบัติ เช่น ต้องมีห้องแยกกักตัวสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อในโรงเรียน (School Isolation), ต้องจัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู บุคลากรในสถานศึกษา, ต้องมีการควบคุมดูแลการเดินทางเข้า-ออกของนักเรียนจากบ้านมาโรงเรียนอย่างเข้มข้น (Seal Route) เป็นต้น

ประการที่สอง เกี่ยวกับหน่วยงานในพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่ คือ ดุลพินิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้การเปิดเรียนที่โรงเรียนของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่มีความยาก-ง่ายแตกต่างกัน เช่น กรณีมีผู้ติดเชื้อโควิดประปรายในชุมชน ที่โรงเรียนยังอาจเปิดสอนได้ แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมโรคในพื้นที่ก็อาจสั่งปิดโรงเรียนทั้งจังหวัดได้ทันที

และข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคอีกประการก็คือ กลไกการตัดสินใจที่ต้องใช้เวลานานเกินไป ทำให้มติที่ได้นั้นไม่ทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากกระบวนการในปัจจุบันนั้น โรงเรียนจะต้องนำเสนอแผนเปิดเรียน และต้องผ่านการพิจารณาจากสาธารณสุขอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด จนถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเสียก่อน จึงจะได้รับอนุญาตให้เปิดเรียนเพื่อทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ สถานการณ์การระบาดในพื้นที่ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแล้ว

เหล่านี้เป็น “อุปสรรค” ที่ในบทความได้สะท้อนไว้…

ที่ทำให้ “โรงเรียนอยู่ในสภาวะปิดง่าย-เปิดยาก!!

ทั้งนี้ กับ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” ที่ในบทความโดยนักวิจัย ทีดีอาร์ไอ เสนอแนะไว้ มีว่า… เมื่อ เด็กไทยต้องรับ “ศึก 2 ด้านที่ด้านหนึ่งคือ โรคระบาด อีกด้านคือ การเรียนรู้ถดถอย ดังนั้น การตัดสินใจเปิด-ปิดโรงเรียนควรตั้งอยู่บนสมดุลระหว่างการป้องกันการแพร่ระบาดกับการสร้างโอกาสการเรียนรู้เป็นสำคัญ ซึ่งเงื่อนไขต้องไม่ง่ายเกินไปจนทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง แต่… เงื่อนไขก็ต้องไม่ยากเกินไป จนทำให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ อาทิ วางมาตรการป้องกันการระบาดในสถานศึกษาให้ใกล้เคียงกับสถานประกอบการอื่น ๆ โดยคงไว้เพียงมาตรการที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าเพียงพอ รวมไปถึงควรตัดเงื่อนไขที่อยู่นอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบของสถานศึกษาออกไป …นี่เป็นแนวทางที่ “น่าพิจารณา” …

“เด็กวัยเรียน” มีโควิดโอมิครอนก็ยังเจอศึก 2 ด้าน

น่าพิจารณา “ยกเครื่องช่วยเด็กเรียนในยุคโควิด

ช่วยเด็กวัยเรียนสู้ศึก 2 ด้าน”…อย่าง “สมดุล” .