จากจุดเริ่มต้น ที่ โป๊ยเซียน-ปราชญา มหาเปารยะ และ กวิน เทียนวุฒิชัย สองหนุ่มสาวคู่รักตั้งใจเปิดเพจ เฟซบุ๊ก Sundae Kids เพียงต้องการรวบรวม ผลงานภาพวาดประกอบไว้เป็นพอร์ตโฟลิโอ ด้วยความหวังว่าอาจได้ทำงานเป็นของตัวเอง ทว่าความตั้งใจในวันนั้นส่งผลให้ทุกอย่างก้าวมาไกลไม่นับรวมยอดผู้ติดตามผลงานในเพจจากทั่วโลกประมาณสองล้านกว่าคนเท่านั้น แต่ผลงานภาพวาดประกอบจากการสร้างสรรค์นั้น ปรากฏในแบรนด์ชั้นนำควบคู่ไปกับการจัดนิทรรศการเด่นตา

คุณโป๊ยเซียนเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “เราเรียนคลาสเดียวกัน ที่จุฬาลงกรณ์ คณะศิลปกรรม กราฟิกดีไซน์ ตั้งแต่ปี 1 และช่วงปี 3 ไปฝึกงาน และเราไม่ค่อยชอบการทำงานออฟฟิศ ทางกวินลองเสนอว่า ลองทำเป็นเพจเฟซบุ๊กขึ้นมาเป็นพอร์ตโฟลิโอ สำหรับรวมผลงาน เผื่อว่าใครมาเห็นจะได้จ้างงานเราได้และอาจได้ทำงานเป็นของตัวเอง เลยเริ่มตั้งแต่ ปี 4 โดยใช้ชื่อ Sundae Kids ในปี 2014 พอเรียนจบทางคุณกวินไปทำงานด้านกราฟิกดีไซน์ ประมาณ 6 เดือนตัดสินใจลาออกมาช่วยกันทำเพจร่วมงานกันเต็มตัว เริ่มแรกทำเป็นเหมือนคอมมิค และ อิลัสเทรชั่น ภาพประกอบด้วย แต่ที่คนเห็นบ่อย ๆ เป็นการ์ตูนช่องเรื่องราวสั้น ๆ 3 ช่องจบ ซึ่งการทำงานช่วยกันคิดทุกงาน ระดมไอเดีย สมมุติได้โจทย์มาจะแยกกันคิดว่าสิ่งนี้สามารถแตกเป็นอะไรได้บ้าง หาโซลูชั่นที่ดี และเริ่มหาอาร์ตไดเรกชั่น ซึ่งอาร์ตไดเรกชั่น กวินจะดู โป๊ยเซียนจะเป็นคนวาดลายเส้น กวินจะเป็นคนลงสี”    

คุณโป๊ยเซียนถ่ายทอดความสุขในการทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบว่า “จริง ๆ เราบอกก่อนว่านอกจากฝึกงานครั้งเดียวแล้ว ไม่เคยทำงานประจำเลย ไม่เห็นภาพตัวเองทำอย่างอื่นนอกจากการวาดรูป ตั้งแต่ตอนเด็ก โตมาเรื่อย ๆ เราลองจินตนาการภาพตัวเองตอนโตยังไงก็คือ การวาดรูป ทุกวันนี้ทำได้จริง ๆ เหมือนได้ทำสิ่งที่เราเหมือนอยากทำมาโดยตลอดและเป็นสิ่งเดียวที่เราทั้งอยากทำและทำได้ดี การเป็นนักวาดภาพประกอบหรือศิลปิน ไม่ใช่อาชีพที่ง่ายนักในประเทศเรา ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำแค่อาชีพนี้อาชีพเดียวแล้วอยู่รอดได้ เหมือนเราโชคดีมาก เห็นความโชคดีของเราตรงนี้ที่สามารถทำสิ่งที่เรารักสิ่งที่เราชอบและทำได้ดี พอได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริง ๆ รักมันจริง ๆ ทำให้เราใส่ใจเข้าไปในทุกงาน เพราะอันนี้คืองานของเราจริง ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของเราแล้ว พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ในแต่ละครั้ง แล้วเราคิดว่า การที่เราทำแบบนี้ ก็ทำให้คนที่เห็นงานเรา น่าจะสัมผัสได้ถึงความใส่ใจและความรักในงานที่เราใส่ลงไป”

คุณโป๊ยเซียนยังบอกด้วยว่า “งานที่คนเห็นบ่อยที่สุดคิดว่า น่าจะจำเราได้ที่สุดคือ คอมมิคสั้น ๆ 3 ช่อง และดูเรียบง่าย เข้าใจง่าย ซึ่งจริง ๆ เราก็มีทำเรื่องยาวบ้าง จริง ๆ แต่ละคนมีจุดเด่นของตัวเอง อาจจะยังหาไม่เจอ หรืออาจจะยังไม่รู้จะดึงมันอย่างไง อย่างตัวเราเองเราคิดว่าถ้าเกิดพูดถึงในเรื่อง สกิลการ อิลัสเทรชั่น (Illustration) ทั้งในไทยและต่างประเทศ ภาพประกอบ คนที่เป็นอาร์ติสต์ ที่วาด ภาพประกอบ สวยงามสกิลฝีมือดีมาก มีคนที่เก่งกว่าเราเยอะมาก ทีนี้ เราก็กลับมาดูตัวเองว่า แล้วสิ่งที่เราคิดว่า สามารถทำให้โดดเด่นขึ้นมาได้ นอกจากแค่ภาพประกอบอย่างเดียวคืออะไร ก็คือเราแอดเนื้อเรื่องเข้าไป เราคิดว่าสกิลมือเราอาจไม่เป็นที่หนึ่ง แต่เมื่อมาบวกกับเนื้อเรื่อง ไอเดียที่ใส่เข้าไปเป็นเอกลักษณ์ของเราขึ้นมา ทำให้คนจำได้ว่า เราเป็นนักเล่าเรื่องด้วยภาพแทน ต้องหาในสิ่งที่เราคิดว่า ตัวเองทำได้ดี แล้วอาจแอดลงไปเพิ่มเติม”

กวิน เล่าถึงความสุขจากการทำงานว่า ทำงานศิลปะเหมือนโดยปกติเวลาเราตื่นมา ความรู้สึกต่างจากการทำงานประจำ พอเรามีโปรเจคท์เป็นของตัวเอง เหมือนว่าเราได้พูดในสิ่งที่เราต้องการจะพูดได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามโปรเจคท์ที่ได้มาเสมอไป บางทีเราทำโปรเจคท์ ทำเอ็กซิบิชั่นของเราขึ้นมาเอง บางทีเราไม่จำเป็นต้องรับงานตามกรอบที่ได้มาเสมอไป ทำให้เรารู้สึกเหมือนแบบค่อนข้างฟรี งานที่ทำเป็นรื่องราวที่เล่าเป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ แรงบันดาลนำมาจากเรื่องต่าง ๆ จากชีวิตประจำวัน เรื่องเล่าที่เพื่อนเล่า หนังที่ดู ความรู้สึกที่ประสบพบเจอมา สีสันและเรื่องราวขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของสังคม เช่นปีที่แล้วช่วงโควิด บรรยากาศค่อน ข้างอึมครึมเหมือนคิดงานออกมาค่อนข้างอึมครึมนิดหน่อยตามสภาพสังคม สีที่เลือกใช้ขึ้นอยู่กับเรื่อง เราทำงานด้วยกันแต่ละวัน ผมกับโป๊ยเซียนทำกันสองคน เราพยายามทำทุกวันให้บรรยากาศการทำงานค่อนข้างดี ไม่ควรมีเรื่องที่ทำให้เรามีอารมณ์เสียกัน เราค่อนข้างเชื่อเรื่องของบรรยากาศการทำงาน ถ้าบรรยากาศที่ดี งานจะออกมาดี”.