หากพิจารณาจากข้อมูลโรคโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ “โอมิครอน” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่กำลังครองการระบาดทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยการระดมสมองผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการระบาดในต่างประเทศ และข้อมูลการระบาดจริงในประเทศก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ “โอมิครอน” มีความสามารถในการแพร่โรคได้เร็ว แม้ว่าจะมีปริมาณเชื้อไม่มาก แต่ส่วนมากเชื้อไม่ลงปอด ทำให้ก่ออาการรุนแรงได้ไม่มากเท่ากับสายพันธุ์เดลตา ประกอบกับปัจจุบันประชากรโลกมีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าแม้อัตราการติดเชื้อจะพุ่งสูงวันละนับล้านราย แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้พุ่งตาม หลายฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่าใกล้ถึงจุดจบของโรคโควิด-19 ในไม่ช้านี้ หลังระบาดยาวนานกว่า 2 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันวันต่อวัน

ในส่วนของประเทศไทยก็มีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีการประชุมกันเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 และมีมติเห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้ โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease)

ในเรื่องของรายละเอียด หลักเกณฑ์ ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่จุดที่โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้นั้น “นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าเบื้องต้นมีดังนี้ 1.ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน 2.อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 หรือติดเชื้อ 1,000 ราย เสียชีวิต 1 ราย 3.การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่า 10% และ 4.ประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โด๊ส มากกว่า 80%

หลายคนตั้งคำถามว่า ประเทศไทยก้าวเร็วเกินไปหรือไม่ ในการผลักดันเรื่องนี้ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีประเทศใด หรือแม้แต่องค์การอนามัยโลกเองก็ยังไม่ได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแต่อย่างใด

นพ.เกียรติภูมิ

ซึ่ง “นพ.เกียรติภูมิ” อธิบายว่า วันที่ 28 ม.ค. เป็นวันครบรอบการตั้ง EOC กระทรวงสาธารณสุขตอบโต้สถานการณ์โควิด-19 2 ปีมาแล้วประชุมกันนานกว่า 411 วัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศอะไรออกมา แต่ผ่านการประชุมหารือร่วมกันแล้ว โดยดูเรื่องความรุนแรงของโรค การมีภูมิต้านทานของคนในประเทศ ความสามารถในการรักษาโรคของสถานพยาบาล ความพร้อมของยา-เวชภัณฑ์ การรับรู้ของประชาชน และอื่น ๆ

เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องพยายามทำให้ไม่เกินปีนี้โควิดจะต้องเป็นโรคประจำถิ่น เพราะถ้าปล่อยไปเฉย ๆ ก็จะใช้เวลามาก แน่นอนว่าเราจะยังเห็นคนติดเชื้อ หรือพบการระบาดเป็นครั้งคราว แต่ก็ใช้การบริหารจัดการ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทำมาตลอด และเราก็ทำได้

ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงได้กำหนดเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่นและกำหนดมาตรการวิธีต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกันโดยแบ่งออกเป็น 2 เฟส แบ่งเป็น 6 เดือนแรก และ 6 เดือนหลัง จะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้เข้าใกล้ความสำเร็จที่สุด ซึ่งขณะนี้ “กรมควบคุมโรค” อยู่ระหว่างการวางแนวทางปฏิบัติสำหรับทุกฝ่าย ซึ่ง จะมีความชัดเจนต้นเดือน ก.พ. 2565

ย้อนกลับไปที่หลักเกณฑ์ชี้วัดข้างตน มาดูกันว่า มีข้อไหนบ้างที่มีความหวัง จะพบว่ามีเพียงยอดการติดเชื้อไม่เกิน 10,000 รายต่อวันเท่านั้นที่พอเข้าเกณฑ์ได้ เพราะตามรายงานของ ศบค. ตั้งแต่หลังเปิดปีใหม่เป็นต้นมาก็ยังไม่มีผู้ป่วยเกิน 1 หมื่นราย ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราว ๆ 7,000-8,000 สถานการณ์ค่อนข้างทรงตัว แต่จุดนี้ยังต้องเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขณะนี้ที่ประเทศอินเดียก็กำลังเกิดการระบาดจำนวนมาก ถ้าเทียบกับที่ผ่านมาเพียง 1-2 สัปดาห์ ก็ผ่านเมียนมาเข้ามาถึงประเทศไทย และส่วนใหญ่เป็นการลักลอบเข้าประเทศที่ตรวจจับได้ยาก

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตที่กำหนดไว้ว่าเสียชีวิต 1 ต่อ 1 พันประชากรที่ป่วย หรือคิดเป็นอัตราการป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 0.1% แต่ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์โรคประจำวันของ ศบค.ล่าสุดก็อยู่ที่ 0.22% ตรงนี้ไทยยังไม่ถึงฝั่งฝัน

ส่วนเกณฑ์ต่อมาคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ต้องครอบคลุม 80% ซึ่งความหมายในที่นี้คือนับที่การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งจากข้อมูลวันที่ 28 ม.ค. 2565 จะพบว่า ประชากรในไทยฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 48,437,177 ราย คิดเป็น 69.6% แล้ว ซึ่งดูจากจำนวนการฉีดรายวันเพิ่มขึ้นไม่มาก เข็ม 1 เพิ่มขึ้น 43,799 ราย เข็ม 2 เพิ่มขึ้น 82,138 ราย (ข้อมูล 27 ม.ค.) นี่ยังไม่ได้พูดถึงข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยเองว่า วัคซีน 2 เข็ม กันโอมิครอนไม่ได้ ถ้าจะกันได้ควรมาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 !

สำหรับยา เวชภัณฑ์ในการรักษาโรค ซึ่งยืนยันแล้วว่าชนิดเดิม ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ เรมดิสซีเวียร์ ยังสามารถรักษาได้ รวมถึงยาตัวใหม่ประเทศ ไทยก็มีการนำเข้ามาสำรองไว้แล้ว เช่นเดียวกับระบบการรองรับในสถานพยาบาลนั้น เนื่องจากปัจจุบันมีการปรับเกณฑ์ ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการให้ดูแลที่บ้าน หรือชุมชน (Home Isolation, Community Isolation : HI/CI) เป็นหลักเพื่อสำรองเตียงใน รพ. เอาไว้ดูแลผู้มีอาการหนัก

จะเห็นว่าหลักเกณฑ์แต่ละข้อ ส่วนที่ผ่านก็ผ่านแบบปริ่มนํ้า ส่วนที่ยังไปไม่ถึงก็ดูเหมือนว่าเหลืออีกเพียงนิดเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นภารกิจร่วมกันของคนไทยทุกคนที่จะให้ความร่วมมือในการหยุดการระบาดใหญ่ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อคืนชีวิตปกติวิถีใหม่ได้ตามเป้าหมาย.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง