จากเรื่องราวย้อนปูมหลัง “อาถรรพณ์เพชรซาอุฯ” ตอนที่ 1 ได้นำเสนอที่มาที่ไปว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้างก่อนที่จะเกิดเหตุทำให้ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ต้องมาตัดความสัมพันธ์กับประเทศไทย มายาวนานตั้งแต่ปี 2533 ไม่ว่าจะเป็นเหตุโจรกรรมเพชรสะท้านโลก จากพระราชวังของ เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด กษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย กลับมายังประเทศไทย

แม้ตำรวจจะติดตามจับกุม นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ชาวอ.เถิน จ.ลำปาง พร้อมของกลางกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นปี 2533 แต่เมื่อส่งกลับไปคืนก็พบว่ามีเครื่องเพชรอัญมณีของปลอมผสมไปด้วย หนำซ้ำ เพชรสีน้ำเงิน หรือ “บูลไดมอนด์” น้ำหนัก 50 กะรัต ว่ากันว่าเป็นเป็นเพชรโบราณหายากก็ยังไม่ได้คืน นอกจากนี้วันที่ 1 ก.พ. 2533 ยังมาเกิดเหตุ สังหารเจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯ 3 คนรวดใจกลางกรุงเทพมหานคร

ถัดมา วันที่ 12 ก.พ. 2533 ยังมาเกิดคดีอุ้มหาย นายอัลลูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุฯ ที่ใกล้ชิดกับราชวงศ์เจ้าชายไฟซาล จนนำมาซึ่งฟางเส้นสุดท้ายทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศถูกตัดขาดลดระดับมานานกว่า 32 ปีแล้ว

ตำรวจไทยตามรอยเส้นทางเพชรซาอุฯ

อย่างไรก็ดีเรื่องราวทั้งหมดทั้งคดีโจรกรรมเพชรซาอุฯ และอุ้มนายอัลลู ไวลี ยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะทางกรมตำรวจ สมัยนั้นยังต้องทำหน้าที่สืบสวนขยายผลหาความจริง ทั้งเรื่อง “เพชรซาอุ” มือดีไอ้โม่งใครแอบสอดไส้เอาของปลอมไปให้ อีกทั้ง “บูลไดมอนด์” หายไปไหน? นอกจากนี้ใครสังหารเจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯ และอุ้มนายอัลลูไวลี ถัดมาในปี 2534 สมัยที่ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ (อ.ตร.) ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กำหนดประเด็นให้สอบสวน คือ 1.การยึดและเก็บรักษาของกลาง (ระหว่างผู้จับและพนักงานสอบสวนดำเนินการกันอย่างไร) 2.ระหว่างของกลางอยู่ในความดูแลของตำรวจ มีช่องหรือโอกาสที่ผู้อื่นจะเอาของปลอมมาเปลี่ยนกับของจริงหรือไม่ และ 3.การส่งของกลางให้ผู้เสียหายดำเนินการอย่างไร

ขณะเดียวกันยังได้แต่งตั้ง พล.ต.ท.ธนู หอมหวล ผบช.ก. ตำรวจมือปราบสมัยนั้นเจ้าของฉายา“เชอร์ล็อคนู”เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน คดียักยอกและปลอมแปลงเพชรซาอุดีอาระเบีย โดยจัดชุดเฉพาะกิจตำรวจกองปราบฯ ทั้งนำหมายไปค้นบ้าน นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เจ้าของร้านเพชรสันติมณี ย่านสะพานเหล็ก ซึ่งถูกนายเกรียงไกร ซัดทอดว่านำเครื่องเพชรมาขายให้ นอกจากค้นบ้านย่านตลิ่งชันแล้ว ยังทำหนังสือถึง กก.ผจก.ธนาคารมหานคร ในยุคนั้นเพื่อขอตรวจสอบบัญชีทั้งของนายสันติ และดาราวดี ศรีธนะขัณฑ์ ผู้เป็นภรรยาด้วยแต่ไม่พบของกลาง เรียกว่าช่วงนั้นนายสันติ ยังคงเป็นเป้าใหญ่ในการติดตามหาเพชรล้ำค่าที่สูญหาย แม้จะถูกตำรวจหลายชุดแวะเวียนเรียกไปสอบ ก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่าคืนเพชรไปให้ทั้งหมดแล้ว แต่ทางตำรวจก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยปักใจเชื่อเท่าไรนัก

กระทั่งปี 2537 ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์แอบไปจับตัว นางดาราวดี และบุตรชายวัย 14 ขวบ หายไปกับรถเบนซ์ รุ่น 230 อี สีขาว ทะเบียน 8 ฉ 3237 กรุงเทพมหานคร จากบ้านพักย่านตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2537 แล้วคนร้ายได้ติดต่อกลับมาเรียกค่าไถ่ 2.5 ล้านบาท หลังจากหายตัวไปเกือบ 1 เดือน ช่วงเช้ามืดวันที่ 1 ส.ค. 2537 มีชาวบ้านไปพบรถเบนซ์คันดังกล่าวประสบอุบัติเหตุ บริเวณถนนมิตรภาพ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ภายในรถพบร่างของ นางดาราวดี และบุตรชายเสียชีวิต อย่างน่าสลด ตอนแรกตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่สมัยนั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รมว.มหาดไทย ซึ่งดูแลกรมตำรวจ ก็ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากนายสันติ ตั้งแต่ภรรยาและลูกถูกจับไปเรียกค่าไถ่จึงเชื่อว่าน่าจะมีเงื่อนงำมากกว่าเป็นอุบัติเหตุธรรมดา เพราะสภาพรถถูกชนเสียหายเล็กน้อย แต่สภาพแม่ลูกมีร่องรอยบอบช้ำกกหูโดยเฉพาะสมองมีอาการช้ำบวม น่าจะถูกทำร้ายเสียชีวิตก่อนเกิดอุบัติเหตุ

พล.อ.ชวลิต จึงสั่งการ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อธิบดีกรมตำรวจ (อ.ตร.) ตั้งชุดคณะทำงานพิเศษที่มีทั้งตำรวจสืบสวนฝีมือดีของนครบาลและกองปราบปรามร่วมคลี่คลายคดี มอบหมายให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รอง ผบ.ตร.เจ้าของฉายา “อินทรีอีสาน” ควบคุมใกล้ชิด โดยกองปราบฯ พล.ต.ต.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ผบก.ป. (ยศตำแหน่งขณะนั้น) เป็นหัวหน้าทีมสืบสวน ชุดทำงาน มีทั้ง พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย, พ.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ ผกก.2 ป. หรือผู้กำกับประเทศไทย, พ.ต.ท.เมธี กุศลสร้าง รอง ผกก.1 ป. และ พ.ต.ต.ทวี สอดส่อง สว.ผ.4 กก.2ป. ฯลฯ

บานปลายกลายเป็น “แก๊งตำรวจอุ้มฆ่า 2 แม่ลูก”

ไม่น่าเชื่อคนร้ายจะกลายเป็น บิ๊กตำรวจ ชุดคลี่คลายคดีเพชรซาอุ !! หลังการระดมทีมสืบสวนมือพระกาฬ ในยุดนั้นแยกย้ายกันไปหาหลักฐานใช้เวลาอยู่สักพักใหญ่ก็สามารถแกะรอย ไปถึง กลุ่มคนร้าย ที่ร่วมกันก่อเหตุอุ้ม 2 แม่ลูก กลายเป็นว่ามี ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง ค่อยๆแกะรอยจาก “ห่อผ้าอนามัย” พบว่าซื้อจากห้างฯใน จ.สระแก้ว และ “เบอร์โทรศัพท์” จนสามารถต่อจิ๊กซอว์ไป ถึง รีสอร์ท ใน จ.สระแก้ว ที่ใช้คุมตัว 2 แม่ลูก

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานโยงใยไปถึง “พล.ต.ท.” หลังจากนั้นไม่นานเมื่อชุดจับกุมมีหลักฐานแน่นหนาจึงจู่โจมผู้กระทำผิด พ.ต.ท.พันศักดิ์ มงคลศิลป์ อดีต สว.สส.สภ.อ.เมืองปราจีนบุรี หัวหน้าชุดอุ้ม พร้อม นายนิคม หรือ ป๊อด มนต์ศิริ และ นายสำราญ แจ่มจำรัส หรือ “พงษ์ ปากกว้าง” ที่ลงมือสังหาร 2 แม่ลูกใช้เหล็กทุบหัวจัดฉากอำพรางนำร่างมานั่งในรถเบนซ์แล้วเข็นไปให้รถบรรทุกชนเพื่อหวังเบี่ยงเบน

ที่สำคัญ พ.ต.ท.พันศักดิ์ ได้ซัดทอดไปยัง พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ผบช.ประจำกรมตำรวจ (ยศตำแหน่งขณะนั้น) เป็นผู้สั่งการ ต่อมาวันที่ 14 ก.ย.2537 พล.ต.ท.ชลอ เข้ามอบตัวให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา สำหรับคดีนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 และนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ, พ.ต.ท.พันศักดิ์ และตำรวจชั้นประทวนอีก 2 นาย ซึ่งเป็นตำรวจในชุดสืบสวนหาเพชรซาอุ,นายนิคม ,นายสำราญ พร้อมพวกอีก 3 นาย ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน, เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพ และความผิดอื่นรวม 9 ข้อหา

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.45 ให้จำคุกตลอดชีวิต พล.ต.ท.ชลอ จำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน และให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยอีก 3 คน คือ พ.ต.ท.พันศักดิ์ จำเลยที่ 2, นายนิคม จำเลยที่ 6 และนายสำราญ จำเลยที่ 7 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ให้จำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 4 ปี ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ส่วนจำเลยที่ 4 พิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 5 และ จำเลยที่ 8 ให้จำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ฐานร่วมกันสนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ต่อมาโจทก์และโจทก์ร่วมร้องขอให้เพิ่มโทษ ขณะที่จำเลยที่ 1, 2, 6 และ 7 อุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่ได้กระทำผิด

ต่อมาวันที่ 3 มี.ค.49 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาแก้ โดยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1, 2, 6 และ 7 ฟังไม่ขึ้น เชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดจริงตามฟ้อง โดย พล.ต.ท.ชลอ จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานเป็นตัวการสนับสนุนฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไต่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อาญา ม.83 มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต และมีความผิดฐานเป็นตัวการสนับสนุนกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาแก้ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 สถานเดียว ส่วนจำเลยที่ 2, 6 และ 7 ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำคุกตลอดชีวิตฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

“มือปราบเพชรซาอุ”กลายเป็นนักโทษประหาร

อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาว่า นางดาราวดี และ ด.ช.เสรี เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุมิใช่ฆาตกรรม ขณะที่อัยการและนายสันติโจทก์ร่วมไม่มีพยานเห็นจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นกักขังหน่วงเหนี่ยวและเรียกค่าไถ่ผู้ตายทั้งสอง และคำให้การของ พ.ต.ท.พันศักดิ์ จำเลยที่ 2 เป็นคำให้การซัดทอดไม่สามารถรับฟังได้ จึงขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องกระทั่งวันที่ 16 ต.ค.52 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์พิพากษา ให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีต ผบช.ประจำกรมตำรวจ จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นตัวการสนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน

หลังถูกตัดสิน พล.ต.ท.ชลอ ถูกถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปี 2553 กลายเป็นนายชลอ จากนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษลดหย่อนโทษ 3 ครั้ง เหลือโทษตลอดชีวิต ต้องจำคุกอยู่นาน 19 ปี จากนั้นปี 2556 มีคุณสมบัติพักการลงโทษ ตรงตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ คือเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษ หรือ 18 ปี ในโทษจำคุกตลอดชีวิต และยังเข้าเงื่อนไขพิเศษ เป็นนักโทษชราอายุเกิน 70  ปี และมีอาการป่วยจึงได้รับการพักโทษ ออกจากเรือนจำกลางบางขวาง เมื่อวันที่ 25ต.ค.56

หลังจากนั้น อดีตมือปราบคนดัง และ มือฉกเพชรซาอุ ได้มีโอกาสพบเจอกันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 มี.ค.59 ที่วัดท่ามะเกว๋น ถนนสายเถิน-วังชิ้น ต.แม่ปะ อ.เถิน จ.ลำปาง ในงานพิธีอุปสมบทของ นายเกรียงไกร เตชะโม่ง  อายุ 58 ปี ต้องการบวชเพื่อลบล้างอาถรรพณ์เพชรซาอุ และต้องการอุทิศส่วนบุญ รวมถึงขออโหสิกรรมไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ที่ล่วงลับไปแล้วหลายคน รวมทั้งเจ้ากรรมนายเวรต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะหลังจากที่ต้องคดีอยู่ในคุกจนพ้นโทษแล้วกลับออกมาใช้ชีวิตก็ไม่เคยมีความสุขทั้งประสบอุบัติเหตุจนบาดเจ็บสาหัส ชีวิตเปลี่ยนไปมาก

อดีตมือปราบฯ กล่าวว่า มีความเชื่อเหมือนกันว่าเพชรสมบัติล้ำค่าของราชวงศ์ซาอุฯซึ่งเป็นของเก่าแก่ จะมีอาถรรพณ์ต่อผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของ เมื่อทราบว่า นายเกรียงไกร จะบวชจึงตัดสินใจเดินทางมาร่วมงานทันที เพื่อหวังขอโทษและขอขมาในสิ่งที่ได้เคยทำไว้และล่วงเกินไป รวมถึงอยากที่จะร่วมสร้างบุญในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย.60 นายชลอ อายุ 79 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดแพร่ธรรมาราม อ.เด่นชัย จ.แพร่ ได้รับฉายาว่า “พระชลอ อิสโร” ตั้งใจจะมุ่งเรียนรู้และปฏิบัติธรรมให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหวจริงๆ.

นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ในอดีตที่กลายเป็นเรื่องโยงใยกันระหว่าง 2 ประเทศ มายาวนานมาถึง 33 ปี กระทั่งวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ เข้าเฝ้า เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือข้อราชการ ณ สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย (Royal Court) พระราชวังอัล ยะมามะฮ์ (Al Yamamah Palace)

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกับว่าจะเพิ่มปฏิสัมพันธ์และการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของแต่ละฝ่ายเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ โดยจะเริ่มจากการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวงของทั้ง 2 ประเทศในอนาคตอันใกล้ จึงนับได้ว่าเป็นความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน

ย้อนปูมหลัง “อาถรรพณ์เพชรซาอุฯ” ฟางเส้นสุดท้ายสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ (1)