สมัย 30-40 ปีก่อน ทำให้มีแรงงานจากประเทศไทยแทบจะทุกระดับ ส่วนใหญ่จะเป็นไปงานด้านก่อสร้าง จึงมีสารพัดช่างฝีมือแรงงาน ตั้งแต่กรรมกร, คนขับรถ, โฟร์แมน, วิศวกร, ไปจนถึงพ่อครัว, กุ๊ก, แม่บ้าน ไม่เว้นแม้นักดนตรี ฯลฯ จากทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ อีสาน กลาง และภาคใต้ หลั่งไหลไปทำงานหาเงินส่งกลับมาประเทศไทยกันอย่างคึกคัก ตั้งแต่ยุคปี 2520-2533

มีสารพัดหลากหลายเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายระหว่าง 2 ประเทศ จากดินแดนอาเซียนไปยังตะวันออกกลาง เป็นเรื่องราวชีวิตจริงไม่ใช่นิยายของชาวไทยที่ต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำมาหากินอยู่ประเทศที่เต็มไปด้วยทะเลทรายอากาศร้อน แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับภูมิภาคอาเซียน จนทำให้มีการพูดกันติดปากว่าไปขุดทองซาอุฯ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่ามากมาย แต่ละคนที่ไปทำงานก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จกันทุกคน บ้างก็ “ไปเสียนา กลับมาเสียเมีย” ก็ยังมี แต่กลุ่มที่ตั้งใจขยันเก็บเงินเก็บทองมาสร้างตัวปลูกบ้านซื้อนาไร่วัวควาย เรียกว่าคุ้มค่าที่ไปทำงานก็มีจำนวนมาก

ช่วงระยะหลังเมื่อมีคนไปหลั่งไหลทำงานจำนวนมากเริ่มมีขบวนการ ต้มตุ๋นหลอกลวง เก็บเงินค่าเครื่องบิน ค่าหัวทำงาน แล้วเชิดหนีไปก็เยอะ จนทำให้มีการแต่งบทเพลงสะท้อนความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเพลง “ซาอุดร” เรื่องราวของชาวอีสาน อุตส่าห์ขายที่นาไร่มาไปเป็นค่าเครื่องบิน แต่สุดท้ายถูกหลอกให้ไปลอยแพอยู่สนามบิน หรือเพลง “น้ำตาเมียซาอุ” เรียกว่าสารพัดเรื่องราวในยุคสมัย 30-40 ก่อน ที่คนไทยไปขายแรงงานในซาอุดีอาระเบีย มีมากมายจริงๆ แม้กระทั่งชาวซาอุดีอาระเบียเองมาเปิดตั้งบริษัทอยู่ในประเทศไทย เพื่อรับสมัครคนงานโดยตรงก็มี แหล่งท่องเที่ยว พัทยาใต้ ในอดีตก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งซาอุฯ และประเทศตะวันออกกลางคึกคักเช่นเดียวกัน

ปี 2532 คดีสะท้านโลก “โจรกรรมเพชรซาอุฯ”

แล้วเมื่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเป็นไปด้วยดีแล้วมาเกิดปัญหาอะไรขึ้น ?  

เริ่มจากวันที่ 4 ม.ค.2532 เกิดเหตุคนร้าย ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ทูต ของสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย เสียชีวิต 1 คน เหตุเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรัก ตำรวจสืบสวนสอบสวนมุ่งไปขบวนการผลประโยชน์ส่งแรงงานไทยไปซาอุฯ เพราะยังอยู่ในช่วงยุคทองซาอุฯ แต่คดีไม่คืบ สมัยนั้นยังเป็น กรมตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ (อ.ตร.) เมื่อไล่เรียงข้อมูลช่วงปลายปี 2532 ยังมาเกิด คดีโจรกรรมเพชรซาอุฯ จนบานปลายแตกแขนงไปอีกหลายเรื่อง แทบจะกลายเป็นบทภาพยนตร์แนวสืบสวนซ่อนเงื่อนพ่วงฆาตกรรม

ก่อนที่จะกลายมาเป็นคดีโจรกรรมสะท้านโลกนั้น ปฐมบทมาจากหนุ่มจากเมืองรถม้าลำปาง “เกรียงไกร เตชะโม่ง” ชาว อ.เถิน จ.ลำปาง บินไปเสี่ยงโชคทำงานขุดทองยังซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่เป็นหนุ่มจนอายุปาเข้าไป 29 ปี โชคจังหวะชีวิตถูกจัดให้ไปเป็น พนักงานทำความสะอาด อยู่ภายในพระราชวังของ เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด (Prince Faisal Bin Fahud Bin Abdul Aziz) กษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย หลังทำความสะอาดในพระราชวังสักพักใหญ่จนได้รับความไว้วางใจเข้านอกออกในหลายพื้นที่ จนทำให้มีโอกาสพบเห็นเครื่องประดับเพชรนิลจินดา ทั้งสร้อยแหวนนาฬิกามากมายถูกวางไว้อย่างไม่เป็นที่เป็นทาง แม้แต่ตู้เซฟก็ยังถูกเปิดทิ้งเอาไว้ เมื่อความโลภบังตา จึงวางแผนในการขโมยเครื่องเพชรล้ำค่าดังกล่าว ที่สำคัญคงไม่คาดคิดด้วยว่าเรื่องจะบานปลายใหญ่โตในเวลาต่อมา

จากคำให้การ นายเกรียงไกร อ้างใช้เวลาวางแผนขโมยเพชร เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.32 กระทั่งอาศัยช่วงเวลาที่เจ้าชายไฟซาล แปรพระราชฐานไปพักผ่อนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 15 วัน ในช่วงเดือน ธ.ค.32 แอบนำถุงกระสอบขนาดใหญ่เข้าไปในพระราชวัง ซ่อนตัวอยู่จนถึงเวลากลางคืน แล้วจึงขนเครื่องเพชรของเจ้าชายและชายา ใส่ถุงกระสอบแล้วโยนออกนอกกำแพงพระราชวัง ได้เครื่องเพชรและเครื่องประดับอัญมณีล้ำค่า น้ำหนักประมาณ 91 กิโลกรัม (200 ปอนด์) ซึ่งรวมไปถึง เพชรสีน้ำเงิน หรือ “บูลไดมอนด์” น้ำหนัก 50 กะรัต ว่ากันว่าเป็นเป็นเพชรโบราณหายาก

หลังจากได้เครื่องเพชรออกมาจากวังกลับมาที่ห้องเช่าแล้ว นายเกรียงไกร ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศซาอุฯ มานานหลายปี ทำให้พอรู้ทางหนีทีไล่และจุดอ่อนในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงคุ้นเคยกับวิธีส่งสิ่งของกลับประเทศไทย จึงเริ่มทยอยส่งเครื่องเพชรกลับมายังประเทศไทยล่วงหน้า ด้วยบริการขนส่งพัสดุทางอากาศ ถึง 7 ครั้ง โดยปะปนกับเสื้อผ้าเครื่องใช้ส่วนตัวและผลไม้ ซึ่งด่านศุลกากรของทั้งสองประเทศไม่สามารถตรวจพบ หลังจากสามารถส่งพัสดุกลับมาที่ จ.ลำปาง แบบสะดวกโยธิน ก่อนที่เจ้าชายไฟซาล จะเสด็จกลับมายังพระราชวัง นายเกรียงไกร ตัดสินใจรีบได้เดินทางกลับประเทศไทยทันที ทั้งที่เหลือเวลาทำงานตามสัญญาอีก 2 เดือน หากอยู่ต่อถ้าถูกจับกุมได้ลงโทษ “แขวนคอ” สถานเดียว

เครื่องเพชรดังกล่าว ส่วนใหญ่ถูกนำมายังจังหวัดลำปาง เนื่องจากเครื่องเพชรเหล่านั้นแยกยาก นายเกรียงไกร จึงขายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ให้ช่างทำเพชรทองในหลายจังหวัดภาคเหนือ แต่ส่วนใหญ่จะถูกนำมาขายให้กับร้านทำเพชรอัญมณี ย่านเจริญกรุง ในกรุงเทพมหานคร ก่อนจะกระจายขายต่อไปเป็นทอดๆ หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ประสานมายังรัฐบาลไทย ขอให้เร่งติดตามเครื่องเพชร 122 รายการ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ประกอบด้วย เพชรสีน้ำเงิน หรือ “บูลไดมอนด์”, สร้อยทองคำฝังเพชร, สร้อยข้อมือฝังเพชร, นาฬิกาฝังเพชร 32 เรือน, เครื่องเพชรโบราณ กว่า 30 ชุด พลอย ทองคำ มรกต ตลอดจนเงินสกุลต่าง ๆ ส่งคืน

“เกรียงไกร เตชะโม่ง” มือโจรกรรมเพชรซาอุฯ

"คดีเพชรซาอุ" ย้อนรอยจอมโจรบันลือโลก ทำไทย-ซาอุฯร้าว 30 ปีก่อนฟื้นสัมพันธ์

พล.ต.อ.แสวง อ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ รอง อ.ตร. ตั้งทีมสอบสวน โดยมี พล.ต.ต.ชลอ เกิดเทศ รองผบช.ก. (ยศตำแหน่งสมัยนั้น) เป็นหัวหน้าทีมสืบสวนร่วมกับ ตำรวจชุดเฉพาะกิจ กก.1 และ กก.3  บก.ป. ร่วมติดตามจับกุม นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ตามที่รัฐบาลซาอุฯ ประสานงานมา และพวก ซึ่ง พล.ต.ต.ชลอ เจ้าของฉายา “สิงห์เหนือ” ไม่ทำให้นายผิดหวัง อาศัยเป็นมือปราบที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่อยู่แล้วใช้เวลาไม่นาน ตามไล่แกะรอยจากบรรดาร้านเพชรพลอย ทั้งใน จ.ลำปาง แพร่ รวมถึงย่านบ้านหม้อ เจริญกรุง จนติดตามของกลาง เครื่องเพชรทองอัญมณีและนาฬิกา กว่า 60% กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.32 จากนั้น วันที่ 10 ม.ค.33 ตร.ชุดเฉพาะกิจกองปราบฯ บุกจับกุมนายเกรียงไกร ขณะหนีมากบดานคาห้องพักโรงแรม ใน อ.แม่สอด จ.ตาก พร้อมยึดของกลางได้อีกกว่า 60 รายการ มูลค่านับ 100 ล้านบาท

ภายหลังถูกจับกุมนายเกรียงไกร ยอมรับสารภาพแต่โดยดี ที่สำคัญกลัวไม่อยากให้ถูกส่งตัวกลับไปประเทศซาอุดีอาระเบีย ขอดำเนินคดีในประเทศไทย พนักงานอัยการ กองคดีอาญา 2 จึงยื่นฟ้องนายเกรียงไกร ต่อศาลอาญาในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานเวลากลางคืน พร้อมขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ไม่ได้คืนอีกกว่า 300 ล้านบาท แก่เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด ด้วย นอกจากนี้อัยการยังให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องที่มีพฤติการณ์ซ่อนเร้น จำหน่าย พาเอาไปซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวด้วย ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวมี นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เจ้าของร้านเพชรย่านบ้านหม้อ รวมอยู่ด้วย ศาลตัดสินจำคุกนายเกรียงไกร เป็นเวลา 7 ปี แต่จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือ 3 ปี 6 เดือน

สำหรับทรัพย์สินของกลางล้ำค่าจำนวนมากครั้งประวัติศาสตร์ ที่ยึดคืนมาได้นั้น ตำรวจนำมาเก็บเอาไว้ที่ แผนก 4 กก.2 บก.ป. ก่อนนำทั้งหมดบรรจุในกล่องอย่างดี ภายในบรรจุโฟมกันกระแทก ขนาด 1 ฟุต ต่อหน้าตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย มีทั้งตัวแทนจากประเทศซาอุดีอาระเบีย และเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงริยาด สื่อมวลชนทุกแขนงร่วมเป็นสักขีพยาน ก่อนจะส่งมอบเครื่องเพชรทั้งหมดมอบคืนไปให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย

แต่ภายหลังเครื่องเพชรส่งถึงมือเจ้าชายไฟซาล กลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่อีกครั้ง!! เมื่อพบว่ามีของปลอมปนอยู่ด้วย รวมทั้ง “บลูไดมอนด์” ก็ไม่ได้คืน

ฟางเส้นสุดท้าย “ฆ่าเจ้าหน้าที่ทูต-อุ้มนักธุรกิจ”

กลายเป็นว่านอกจากเรื่องยังไม่จบง่ายแล้ว ปรากฏว่าในปี 2533 หลังการจับกุมตัวนายเกรียงไกร ได้ประมาณเดือนเศษ วันที่ 1 ก.พ. 2533 ยังมาเกิดเหตุคนร้ายลอบสังหารเจ้าหน้าที่การทูตซาอุฯ ถึง 3 ศพรวด ย่านสีลม เขตบางรัก ใจกลางกรุงเทพมหานคร สมัยนั้นมีรายงานจากแนวทางการสืบสวน สันนิษฐานว่าอาจเชื่อมโยงคดีกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ มีกลุ่มก่อการร้ายศัตรูของซาอุฯ ตามลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทูตอีกหลายประเทศในห้วงเวลาเดียวกันทั่วโลก อีกทั้งยังใช้ ปืนขนาด 6.35 (ซึ่งใช้ในหมู่สายลับ) อย่างไรก็ดีในสำนวนพนักงานสอบสวนให้น้ำหนัก ไปทางประเด็นผลประโยชน์การส่งแรงงาน

ถัดมาอีก 2 สัปดาห์ นายอัลลูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ที่ใกล้ชิดกับราชวงศ์เจ้าชายไฟซาล ได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยติดตามมูลเหตุการณ์ฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯ แต่สุดท้ายนายอัลลูไวลี ได้หายสาบสูญไปแบบมีเงื่อนงำวันที่ 12 ก.พ.2533 และเมื่อตำรวจไทยไม่สามารถจับคนร้ายได้ จนทำให้ทางซาอุดีอาระเบีย เชื่อว่ามีนายตำรวจหลายนายเกี่ยวข้องกับการหายไปของเพชร และพัวพันการอุ้มหายนายอัลลูไวลี ที่สำคัญยังเชื่อว่ารัฐบาลไทยดำเนินการไม่เพียงพอในการติดตามหาเพชรของราชวงศ์ซาอุฯ รวมถึงการคลี่คลายคดีสังหารเจ้าหน้าที่ทูตและอุ้มหายนักธุรกิจชาวซาอุฯ

ทั้ง 3 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการโจรกรรมเพชร สังหารเจ้าหน้าที่ทูต และอุ้มหายนักธุรกิจ มาเกิดเหตุในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเกือบทั้งหมด จึงเชื่อว่าเป็นเหมือน “ฟางเส้นสุดท้าย” ทำให้ทางการซาอุดีอาระเบีย เริ่มแสดงออกด้านความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ สุดท้ายจึงตัดสินใจยกเลิกการทำวีซ่าทำงานให้กับคนไทย และประกาศเตือนคนในประเทศซาอุฯ ไม่ให้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ทำให้ปี 2533 จำนวนคนงานไทยในซาอุดีอาระเบีย ลดลงจาก 150,000 คน ก่อนจะเหลือเพียง 10,000 คน นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา ทำให้ความสัมพันธ์ของซาอุดีอาระเบียกับไทยจึงลดห่างกันไป

ถึงแม้ความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศ จะถอยห่างไปตั้งแต่ปี 2533 แต่เรื่องราว “เพชรซาอุฯ” ยังไม่จบลงง่าย ใครจะไปเชื่อว่าบานปลายกลายมาเป็น “คดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์” รวมถึงยังมี “บิ๊กสีกากี” และลูกน้อง เข้าไปมีส่วนโยงใยเกี่ยวพันถูกจับกุมดำเนินคดี จนทำให้มีการพูดว่ามาจาก อาถรรพณ์เพชรบูลไดมอนด์!!