เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้มีการปรับนิยาม “ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง” กรณีโรคโควิด-19 ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงของตัวเชื้อ และการระบาดของโรคในปัจจุบัน ล่าสุด “นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์” ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเน้นยํ้าถึงวิธีการแบ่งว่าใครเสี่ยงสูง เสี่ยงตํ่า พร้อมวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์

โดยกรณี “ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง” จะเข้าข่ายพฤติกรรมดังนี้ 1.ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ได้ใส่ชุด PPE (บุคลากรทางการแพทย์) ระหว่างอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือตั้งแต่วันเริ่มป่วยหรือภายใน 3 วันก่อนมีอาการป่วย 2.คนที่อยู่ใกล้กันพูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตรนานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จามใส่ และ 3. อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก โดยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที

แนวทางปฏิบัติสำหรับกลุ่มนี้ คือ “7+3” และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) เน้นยํ้าการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 100% และปฏิบัติตามมาตรการดังนี้

1.กักตัวอยู่ที่บ้าน แยกเครื่องใช้ส่วนตัว สำรับอาหาร ไม่คลุกคลีใกล้ชิด งดทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว และแจ้งทุกคนที่บ้านทราบด้วย หากไม่สามารถแยกห้องนอนได้ ให้เว้นพื้นที่ให้มีระยะห่างเพียงพอ เน้นแยกห่างจากกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

2.ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 1 ในวันที่ 5-6 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย โดยซื้อชุดตรวจจากร้านขายยา หรือลงทะเบียนรับชุดตรวจจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน

3.หากตรวจ ATK ครั้งที่ 1 เป็นลบ ให้กักตัวเองที่บ้านจนครบ 7 วัน และเริ่มขั้นตอนการสังเกตอาการตนเอง (นับจากวันที่สัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย)

4.เมื่อกักตัวครบ 7 วันแล้ว ให้สังเกตอาการต่ออีก 3 วัน เลี่ยงออกจากบ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้เลี่ยงการเดินทางโดยรถสาธารณะ งดร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนจำนวนมาก

5.ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 นับจากวันสุดท้ายที่สัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย หรือกลับจากสถานที่เสี่ยง โดย หากเป็นลบ ก็จบการกักตัว

6.หากผลตรวจ ATK เป็นบวก กรณีไม่มีอาการป่วยหรือป่วยเล็กน้อยให้โทร. 1330 สปสช. เพื่อเข้าระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (HI) รับเครื่องตรวจวัดออกซิเจน ยาฟาวิพิราเวียร์ตามเกณฑ์ ผู้ประสานโทรฯติดตามอาการป่วย

7. หากผลตรวจ ATK เป็นบวกกรณีมีอาการป่วย เช่น ไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ออก แน่นหน้าอกมาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้โทรฯประสานผู้ติดตามอาการ หรือประสานพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

“สิ่งสำคัญขอให้ป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจะดีที่สุด” นพ.จักรรัฐ ระบุในตอนท้าย.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง