ชั่วโมงนี้ทัวร์ลง! “ดร.เอ้” นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) อดีตนายกสภาวิศวกร กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้คนในสังคม

หลังจากคณะกรรมาธิการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ได้ตั้งข้อสงสัยในความ “ร่ำรวย” ของ ดร.เอ้ จึงจะขอตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ ดร.เอ้ กับคู่สมรสจำนวน 342 ล้านบาท ตามข้อมูลที่ได้รับการร้องเรียน ว่าร่ำรวยปกติหรือร่ำรวยมาแบบไม่ปกติ!

ดร.เอ้"โชว์วิสัยทัศน์ ขอเปลี่ยนกทม.คืนรอยยิ้มคนกรุง ดันจัดโอลิมปิก -  โพสต์ทูเดย์ ข่าวการเมือง

เรื่องนี้คนใน สจล. และแวดวงวิศวกรวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เนื่องจาก ดร.เอ้ เคยสวมหมวก 2 ใบ เป็นอธิการบดี สจล. และนายกสภาวิศวกร นี่ยังไม่รวมการไปนั่งเป็น “บอร์ด” ต่าง ๆ ดังนั้นหลายฝ่ายจึงมีข้อสงสัยใน 3 ประเด็น และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบให้เกิดความกระจ่าง เพื่อเคลียร์ข้อครหาต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา และเป็นธรรมกับ ดร.เอ้ ซึ่งตอนนี้ต้องถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ยังไม่ถูกกล่าวหาใด ๆ ทั้งสิ้น

ประเด็นที่ 1 เป็นที่ทราบกันว่า สจล.เคยมีปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ในยุคก่อน ดร.เอ้! ดังนั้น นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ควรตรวจสอบทุกโครงการศึกษาวิจัย โครงการให้คำปรึกษาแนะนำที่หน่วยงานรัฐว่าจ้างให้ สจล.ทำ โดยเฉพาะโครงการที่มี ดร.เอ้ และทีมงานเป็นหัวหน้าโครงการ กับรายได้จากงานบริการวิชาการของ สจล. มีการเสียภาษีกันอย่างครบถ้วนถูกต้องหรือไม่?

ประเด็นที่ 2 สภาวิศวกรชุดปัจจุบัน ควรตรวจสอบประเด็นน่าสงสัยเกี่ยวกับตำแหน่ง “อธิการบดี-นายกสภาวิศวกร” ว่าไปคาบเกี่ยวนัวเนียกับความเป็น “นิติบุคคล” ของ สจล.หรือไม่? ในเรื่องของ “ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ประเภทนิติบุคคล” หากเผลอไปรับงานรัฐ ถ้า สจล.ไม่มีใบอนุญาตชนิดนี้ ตามที่มี “วิศวกร” ตั้งข้อสงสัย!

ประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ สตง.ต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับความโปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมากของ สจล. ช่วงปี 58-64 ที่มีวงเงินรวมกว่า 5,000 ล้านบาท     

โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้คนใน สจล. พูดถึงมากเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยง ค่ารับรอง อาจจะทั้งแพงและซ้ำซ้อนกันบ้างมั้ย? ปัญหาก่อสร้างอาคารเสร็จล่าช้า ซึ่งผู้รับเหมาต้องเสียค่าปรับหรือไม่อย่างไร? รวมทั้งการทำประชาสัมพันธ์ภายใน สจล. โปรโมตตัวเองเว่อร์ไปหรือเปล่า? และโครงการประชาสัมพันธ์ออกไปภายนอก สจล. เหมาะสมและโปร่งใสหรือไม่?

มีพวกบริษัทประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลว่าเขาเสียเวลา 3 ปี ไปยื่นประมูลแข่งขันรับงานประชาสัมพันธ์ของ สจล. โดยมีมูลค่างานครั้งละประมาณ 3.5 ล้านบาท เท่านั้น

เรียกว่าทุกปี ทุกครั้ง เวลาไป “พรีเซนต์งาน” จะได้รับคำชื่นชม ชมเชย จากคณะกรรมการผู้พิจารณาคุณสมบัติของบริษัทที่เข้าประมูล ในทำนองว่า “เตรียมการมาพร้อม มีประสบการณ์มากนะ คงทำงานมารอบด้าน รู้จักสื่อเยอะดี”

แต่สุดท้ายไม่เคยได้งาน! เนื่องจากแพ้คะแนนทางด้านเทคนิคทุกปี ทั้งที่เสนอราคางานต่ำกว่างบประมาณ 3-4 แสนบาท แต่ไม่รู้ว่าผู้ที่ชนะได้งานไปทำ เสนอราคาต่ำกว่างบที่มีมากน้อยแค่ไหน?

จึงเป็นเรื่องที่ สตง.ควรเข้าไปตรวจสอบว่าผู้ได้งานประชาสัมพันธ์ สจล. วนเวียนอยู่แต่หน้าเดิม ๆ หรือไม่? หรือว่ามีแต่ประเภท “คู่เทียบราคา” และเสนอราคาต่ำกว่างบที่มีเพียงแค่หลักพันบาท-หมื่นบาท กันหรือเปล่า? เพราะการช่วยประหยัดงบ สจล.ได้หลาย ๆ แสนบาท มันคนละเรื่องกับหลักพันหรือหลักหมื่นบาท เลยนะ สตง.!!.

——————-
พยัคฆ์น้อย