การระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปหลายต่อหลายรอบ ล่าสุด นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ระบุว่าการระบาดในปีที่ 3 นี้ ไวรัสกลายพันธุ์ที่กำลังคุกคามทั่วโลกอยู่คือสายพันธุ์ “โอมิครอน” และคาดว่าจะใช้เวลาส่วนหนึ่งในปี 2565 ในการต่อสู้เพื่อควบคุมไวรัสโควิด SARS-CoV-2

นพ.จอส ฟอนเดลาร์

“2 ปีที่ผ่านมา ไวรัสโควิด-19 สร้างความทุกข์ทรมานอย่างมาก มีการสูญเสียชีวิตมากมาย ทั้งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ ระบบการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจกลับหัวกลับหาง และคาดว่าผลกระทบทางด้านจิตใจอาจกินเวลาต่อไปอีกหลายปี”

อย่างไรก็ตาม แม้ทั่วโลกต่างช็อกกับผลกระทบของไวรัสดังกล่าว แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ไปได้มากเช่นกัน จนเข้าใจดีขึ้นแล้วว่าแพร่ระบาดอย่างไร ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง มีการคิดค้นยา วัคซีนเพื่อรักษา ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต และจัดระบบเฝ้าระวัง รวมถึงรู้ว่าการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่าง และการระบายอากาศที่ดีนั้นเป็นมาตรการป้องกันที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพที่ทุกคนสามารถทำได้

นอกจากนี้ การมีระบบสุขภาพที่ยืดหยุ่นสามารถสู้กับโควิดได้ อย่างประเทศไทยมีการจัดตั้งกลไกประสานงาน ปรับรพ.โรงแรม สนามกีฬาให้เป็นหอผู้ป่วย หมุนเวียนบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาช่วยเหลือในพื้นที่ และเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ตรวจโควิดได้อย่างรวดเร็ว ติดตามออกมาตรการทางสาธารณสุขได้ตรงจุด อีกทั้งยังมี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศคอยเชื่อมชุมชนกับสถานบริการด้านสุขภาพและให้คำแนะนำแก่ประชาชน และขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 100 ล้านโด๊ส

“ประชาชนในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่น ความเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกัน และมีระเบียบวินัยอันน่าทึ่ง คนส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ รักษาระยะห่างจากผู้อื่น และเข้ารับวัคซีน รัฐบาลและภาคประชาสังคมต่างทำงานร่วมกันเพื่อกลุ่มผู้ที่เปราะบางที่สุด ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ ที่ประเทศไทยวางไว้เพื่อต่อสู้และควบคุมโรคระบาดนี้”

อย่างไรก็ตาม “นพ.จอส” ยํ้าว่า นี่เพิ่งจะเป็นการเริ่มต้นศักราช 2565 ซึ่งการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ยังไม่จบ แม้ว่าไวรัสอาจกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” ในอนาคต แต่ก็ยังเป็นไปได้ที่จะมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก จึงไม่ควรอยู่ในความประมาทแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนแล้ว เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในประเทศไทยจะต้องได้รับวัคซีนและปฏิบัติตามคำแนะนำในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ครอบครัว เพื่อนฝูงควรช่วยสนับสนุนและให้การช่วยเหลือคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้ไปฉีดวัคซีนด้วย

“วัคซีนมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ช่วยชีวิตคนมาแล้วมากมายและไม่มีเหตุใดที่เราจะไม่ฉีดวัคซีนเพื่อเป็นอาวุธในการต่อสู้กับไวรัสนี้ ร่วมกับการเสริมเกราะป้องกันตัวเองและคนรอบข้างด้วยการสวมหน้ากาก การรักษาระยะห่าง ล้างมือเป็นประจำ และการใช้ชุดตรวจโควิด-19 หากรู้สึกไม่สบาย” นพ.จอส ระบุในตอนท้าย.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง