เอเอเริ่มต้นจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในกรุงเนปิดอว์ กลุ่มเล็ก ๆ ในปี 2552 และค่อย ๆ เติบโต กลายเป็นกองกำลังทหารกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทรงพลังมากที่สุด กลุ่มหนึ่งในเมียนมา เอเอก่อความไม่สงบในรัฐยะไข่อยู่ประมาณ 10 ปี ก่อนจะตกลงหยุดยิงกับกองทัพรัฐบาล เมื่อช่วงปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

ตอนที่กองทัพเมียนมา ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 รัฐยะไข่แทบไม่เกิดความรุนแรง เหมือนรัฐและภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ และในช่วงนั้น เอเอและฝ่ายการเมืองกลุ่ม ซึ่งใช้ชื่อว่า สหสันนิบาตแห่งอาระกัน หรือ ยูแอลเอ (United League of Arakan : ULA) ได้ก่อตั้ง “คณะปกครองคู่ขนาน” ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ ตั้งแต่ตอนกลางไปจนจดตอนเหนือสุด

นายตุน วิน อดีต ส.ส.ในรัฐสภากรุงเนปิดอว์ ผู้แทนจากเขตเลือกตั้งเมืองเจาะตอ ทางเหนือของยะไข่ เผยว่า ตอนนี้ประชาชนในเขตรัฐส่วนใหญ่ ยอมรับกลุ่มเอเอเป็นผู้บริหารปกครองรัฐ โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ปีที่แล้ว กลุ่มเอเอบอกให้ประชาชน แจ้งเหตุอาชญากรรมทั้งหมดในเขตรัฐ ต่อเจ้าหน้าที่ของยูแอลเอ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

อดีต ส.ส.จากรัฐยะไข่อีกคน นายอ่อง ตง ฉ่วย เผยว่า ชาวรัฐยะไข่หันมาใช้บริการด้านการปกครองและยุติธรรม จากกลุ่มเอเอมากขึ้น แม้ว่าสำนักงานปกครองของรัฐบาลกลางยังคงมีอยู่ และทำงานตามปกติ ในเมืองต่าง ๆ ทั่วเขตรัฐ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ประชาชนในรัฐยะไข่ เผยต่อผู้สื่อข่าวอาร์เอฟเอ ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาแจ้งเตือน ประชาชนในหลายเมืองในรัฐยะไข่ อย่าให้การสนับสนุนกลุ่มเอเอ อย่าแจ้งความหรือฟ้องคดีต่อศาลของเอเอ และให้รายงานความเคลื่อนไหวของเอเอทั้งหมด ต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง

แต่ พล.ต.ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า กองทัพมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง กับกลุ่มเอเอ ตั้งแต่ระดับบนสุดจนถึงล่างสุด ที่ผ่านมาฝ่ายศัตรูพยายามยุยง สร้างเรื่องให้เกิดความขัดแย้ง หรือเข้าใจผิด ระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกลุ่มเอเอ แต่ไม่สำเร็จ

พล.ต.ทุน เมียต หน่าย ผู้นำสูงสุด และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกลุ่มเอเอ กล่าวว่า กำลังทำงานแบบเป็นขั้นตอน เพื่อหาทางกอบกู้อธิปไตย ของประชาชนชาวยะไข่ ที่สูญเสียไป และเพื่อให้ชาวยะไข่ได้กำหนดชะตากรรมและอนาคตของตนเอง

พล.ต.ทุน เมียต หน่าย อดีตไกด์นำเที่ยวในเมืองย่างกุ้ง ปัจจุบัน มีอายุ 44 ปี ก่อตั้งกลุ่มเอเอกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ 26 คน เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2552 ที่รัฐคะฉิ่น ทางภาคเหนือสุดของเมียนมา โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเอกราชคะฉิ่น หรือ เคไอเอ (Kachin Independence Army : KIA) อีกหนึ่งกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่อต้านรัฐบาล ซึ่งทรงอิทธิพลที่สุดของเมียนมา

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES