เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นสถิติที่ต้องบันทึกในประวัติศาสตร์ไทยว่า มีผู้ติดโควิดวันเดียวทะลุหมื่น และ มีผู้เสียชีวิตเกินร้อย ศบค.ออกมาตรการเคร่งครัดในการควบคุมโรคมากขึ้น โดยเที่ยวนี้ให้มีผลในวันที่ 20 ก.ค. อาทิ เพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดอีก 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ห้างสรรพสินค้าเปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เกต ร้านขายยา จุดฉีดวัคซีน ขยายมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุด 25 ก.ค.ไปถึง 2 ส.ค.ซึ่งจะต้องมีการประเมินเป็นระยะ

มาตรการจะยังต้องเข้มข้นขึ้น ต่อไปจนกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะต่ำพัน ขณะเดียวกัน ก็ต้อง ขอความร่วมมือประชาชนไม่ประมาท ไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาด้วย ในช่วงที่มีการเคอร์ฟิวก็เห็นว่ายังมีจับปาร์ตี้ที่ทองหล่อ หรือยังมีคนพูดกันไปเรื่อยว่า มีการตั้งวงเหล้าที่โน่นที่นี่ โรคนี้มันติดกันง่ายโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาของอินเดีย เราก็ต้องระวังกันด้วย จะได้โต้ตอบได้ เวลาฝ่ายรัฐบาลมาบอกว่า “ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ”… ใครเจอพวกไม่ร่วมมือป้องกันตัวก็แจ้งความได้

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในการที่จะผ่อนคลายมาตรการ เปิดเมืองได้เร็ว ขณะนี้อยู่ที่วัคซีน ซึ่งก็เป็นเรื่องสะท้านใจประชาชนอยู่พอสมควรตั้งแต่กรณี นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ออกมายอมรับว่า “วัคซีนแอสตราเซเนกาจะส่งมอบให้ครบได้ก็น่าจะราวเดือน พ.ค.65” กลายเป็นเรื่องอึงอลกันไปใหญ่ว่า ถ้าช่วงนี้วัคซีนขาดจะทำอย่างไร? ผู้ติดเชื้อรายวันก็เพิ่มขึ้น เลยลามไปตำหนิรัฐบาลที่ตัดสินใจพลาดในการจัดการ ทั้งกรณีที่ไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แต่แรก การที่เชื่อมั่นในวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ไทยผลิตได้เพียงตัวเดียว เรียกว่า แทงม้าเต็งตัวเดียว ไม่สั่งตัว mRNA อื่นมา

แล้วก็ยังมีข่าวจากสำนักข่าวอิศรามาตอกย้ำเข้าอีก เกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ที่ ในช่วงแรกมีการสั่งวัคซีนต่อเดือนเพียง 3 ล้านโด๊ส และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เพิ่งมีหนังสือไปเมื่อเดือน มิ.ย. ขอให้ส่งให้ไทยเพิ่มเดือนละ 10 ล้านโด๊ส ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีผลออกหัวออกก้อยอย่างไร เพราะบริษัทผู้ผลิตเขาก็ทำสัญญาซื้อขายแอสตราเซเนกากับต่างประเทศไปด้วยแล้ว  

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายอนุทินได้สั่งการให้ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายนอกราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว เสนอให้ ศบค. พิจารณาตัดสินใจ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย ..คือน่าจะเรียกว่า ต้องพึ่งกฎหมายบังคับทางการค้ากันแล้ว

นายอนุทินยังได้สั่งการให้ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย.เชิญผู้แทนของบริษัทวัคซีน ที่ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทยทุกราย เข้าพบในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือถึงแนวทางที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัคซีน mRNA ที่ประชาชนต้องการ ซึ่งขณะนี้ผู้แทนของโมเดอร์นา ได้ตอบรับที่จะร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขแล้ว รวมทั้งได้มีการยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย เพื่อสั่งซื้อวัคซีน เพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านโด๊ส ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมเพื่อหาแนวทางความร่วมมือกัน เร็วๆ นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบหลักการที่จะมีการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนโควิดไปภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยให้คำนึงถึงผลกระทบ ผลประโยชน์ของประเทศไทย และประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ และให้ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กับอธิบดีกรมควบคุมโรค ไปเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนให้ได้จำนวนวัคซีนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศก่อน

อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งวัคซีน ประชาชนคนไทยก็ต้องการได้ของฟรี เพราะ วัคซีนตัว mRNA ก็ถือว่ามีราคาแพงในภาวะประชาชนหากินลำบาก SMEs ล้มกันเป็นแถวๆ เช่นนี้ แม้แต่ชนชั้นกลางยังต้องคิดแล้วคิดอีกว่า จะควักเงินซื้อดีไม่ซื้อดี เพราะยังหวังโควตาวัคซีนฟรี จากข่าวที่ว่า ไฟเซอร์จะบริจาคให้ไทย 1.5 ล้านโด๊ส และสภากาชาดก็ซื้อโมเดอร์นามากระจายฟรีอีก 1 ล้านโด๊ส ใช้โมเดลเดียวกับซิโนฟาร์ม คือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจรจาขอแบ่งวัคซีน

การเร่งรัดนำเข้าวัคซีน mRNA ที่สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมากกว่าวัคซีนเชื้อตาย ยังไม่รู้ว่าจะได้มาเมื่อไรชัวร์ๆ เพราะความต้องการซื้อในตลาดโลกก็สูง และก็กลายเป็นเรื่องที่มีคนเหน็บรัฐบาลเข้าให้อีกว่า ก็เพราะไม่ไปจองตั้งแต่เขาทดลอง  ทำให้ได้มาช้า แต่มาถึงวันนี้แล้วจะทำอย่างไรได้ นอกจากรอดูการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขและ ศบค.ว่าจะเจรจาซื้อมาได้โดยเร็วแค่ไหน งบซื้อวัคซีนก็มีทั้งเงินกู้ทั้งงบกลาง

ในระหว่างนี้ก็มีการออกประกาศ ศบค. ข้อ 11 เกี่ยวกับเรื่อง “ห้ามการเผยแพร่ข่าวสารที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว” ซึ่งก็ไม่รู้นิยามอย่างไรว่าข่าวสารไหนสร้างความหวาดกลัว เพราะแค่ข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง อย่างเรื่องเอกสารหลุดที่เพิ่งขอเพิ่มจำนวนวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ต้องส่งให้ไทยต่อเดือนเป็นสิบล้านโด๊ส หรือจากที่นายสาธิตพูดเรื่องการส่งมอบถึงเดือน พ.ค.65 ก็สร้างความหวาดกลัวกันแล้วว่า แล้วจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไร สถิติผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็สร้างความหวาดกลัว

ทางออกของสื่อมวลชนก็คือต้องเสนอข่าว ไปนั่นแหละ บนข้อเท็จจริงและมีหลักฐาน ทำได้แค่ช่วยพลิกมุมของความหวาดกลัวมาเป็นมุมที่เตือนให้ประชาชนต้องระวังตัวไม่ให้เสี่ยงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จะให้เป็นข่าวที่ไม่สร้างความหวาดกลัวก็ต้องเริ่มจากรัฐบาลเองไม่ทำให้ประชาชนสยองก่อน ก็ย้อนกลับไปที่ว่า ความเชื่อมั่นมันก็ต้องสร้างจากรัฐบาลในฐานะผู้ดูแลนโยบาย ซึ่งต้องชัดเจน ไม่กลับไปกลับมา

สิ่งที่ต้องระวังเรื่อง “ห้ามการเผยแพร่ข่าวสารที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว” คือการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ที่บางเรื่องมีโอกาสเป็นข่าวเท็จ แหล่งข้อมูลที่จะปล่อยข่าวเท็จได้ง่ายที่สุดคือเฟซบุ๊ก รองลงมาคือทวิตเตอร์ และอันดับสามคือการพูดกันปากต่อปาก ซึ่งเรื่องข่าวเท็จนี่ บางครั้งก็เกิดจากความกลัวทำให้คนคิดมากไปถึงไหนๆ ไปฟังมาแล้วก็เผยแพร่ต่อผิดๆ ดังนั้น ที่สำคัญคือให้พยายามพึ่งพาข่าวจากสำนักข่าวที่มีตัวตนยืนยันชัดเจนเป็นหลัก ..กรณีคำสั่งนี้ยังไม่เกิดการตีความบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหวยออกคนแชร์ข่าวทั่วไปก็ได้ ดังนั้นต้องระวังและรู้เท่าทันสื่อปลอม

ที่น่าสนใจคือการเผยแพร่ข่าวปลอมที่มีมาก มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เช่นข่าวน้ำมะนาวโซดารักษามะเร็ง (ซึ่งก็น่างงว่าข่าวนี้ปล่อยออกมาเพื่ออะไร หวังขายน้ำมะนาวเหรอ?) ในยุคโควิดก็อาจมีข่าวการเผยแพร่สรรพคุณ “ยาผีบอก” อะไรต่างๆ ก็ได้ ดังนั้น เรื่องการดูแลตัวเองต่างๆ การใช้สมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรก็ต้องพึ่งพาไกด์ไลน์ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เพราะได้รับการยืนยันจากแพทย์แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่อยากให้เกิดข่าวปลอม ไม่อยากให้เกิดวิกฤติศรัทธา ทางออกเดียวของรัฐบาลตอนนี้คือเรื่องจัดหาวัคซีนโดยเร็วและมีแผนการกระจายที่ชัดเจน ทั่วถึง รวดเร็ว นี่แหละ และอย่าให้เกิดกรณีข่าวกลับไปกลับมา.

…………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”