มีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของการติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงประเทศไทยล่าสุดมีรายงานการติดเชื้อทั่วประเทศ 97.2% ซึ่งกว่า 80-90% เป็นการติดเชื้อไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ที่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. ได้

ดังนั้นจึงเป็นที่มา ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาปรับระบบการรักษาผู้ป่วยตามอาการ โดยผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อยเข้ารับการรักษาที่บ้าน (HI) หรือ CI โทรฯแจ้งได้ที่ 1330

ส่วนผู้มีอาการรุนแรงก็เข้าสู่ระบบการรักษาใน รพ. ผ่านระบบ UCEP Plus

แล้วอาการแบบไหนบ้างที่จะเข้าข่ายได้รับการรักษาในรพ.ได้นั้น แบ่งเป็นระดับ ดังนี้

1.กรณีผู้ติดเชื้อโควิดอาการสีเขียว ไม่มีอาการ แต่มีโรคร่วมอื่น ๆ ที่ยังอยู่ในระยะที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการของโรคโควิดออกมาเลย แต่เป็นโรคกระเพาะ มีเลือดออกในกระเพาะ ก็จะให้นอนเตียงโควิดได้ เป็นต้น

2.กรณีมีอาการสีเหลือง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

2.1.ผู้ติดเชื้อที่มีภาวะปอดอักเสบ ต้องใช้ออกซิเจนแคนนูลา 2.2 ผู้ป่วยที่ต้องใช้ออกซิเจน High Flow และ

3.ผู้ป่วยอาการสีแดง หรืออาการหนัก คือเข้าไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ติดเชื้อไร้อาการ หรืออาการน้อยที่รักษาตัวที่บ้าน จะได้รับการดูแล และติดตามอาการอย่างต่อเนื่องจากทีมแพทย์ ผ่านทางโทรศัพท์ มีการจัดสรรยา เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อาหาร 3 มื้อต่อวัน ทั้งนี้ หากแพทย์ประเมินว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้นก็จะถูกส่งต่อเข้ารับการรักษาในรพ.ต่อไป

เพราะฉะนั้น หากร่วมมือกันในการดูแลตัวเองตามกลุ่มอาการ จะทำให้มีเตียงในโรงพยาบาลเอาไว้เพียงพอในการดูแล    ผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรงได้เพียงพอ รวมถึงโรคอื่น ๆ ก็จะไม่สูญเสียโอกาสจากการเลื่อนการรักษา เพื่อเอาระบบมาดูแลโควิดเท่านั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แล้วทุกคนเข้ารักษาใน รพ. กันหมดไม่ว่าจะอาการมากหรืออาการน้อยนั้นทำให้ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ต้องถูกเลื่อนการรักษา เลื่อนการผ่าตัดไปจำนวนมาก มีหลายคน หลายโรคที่รุนแรงขึ้น

คอลัมน์     :  คุณหมอขอบอก
เขียนโดย  :  อภิวรรณ เสาเวียง