แม้จะเป็น “ยุคดิจิทัล” แล้ว…แต่เรื่องความเชื่อทางไสยศาสตร์ก็ยังมีให้ “อึ้ง” อยู่เรื่อย ๆ รวมถึงกรณี “พิธีกรรมทำเสน่ห์” ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีกระแสอื้ออึงหลังจากปรากฏภาพพิธีทำเสน่ห์แนว “อึ้งทึ่งเสียว” โดย “เจ้าสำนักทำเสน่ห์” รายหนึ่งได้ให้ผู้รับบริการ “ถ่างขา!!” เพื่อการ “ลงคาถาทำเสน่ห์??” โดยหลังจากภาพดังกล่าวปรากฏออกมา กระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็เซ็งแซ่ ขณะที่เจ้าสำนักทำเสน่ห์รายนี้ก็ได้มีการระบุว่า…รูปแบบการทำพิธีที่เห็นเป็นการ “ลงเสน่ห์เมตตามหานิยม” เพื่อช่วย “เรียกผัวกลับ?-รับเมียคืน?” ซึ่งไม่ได้มีแต่คนไทยเท่านั้นที่นิยมทำพิธีแนวนี้ แต่กับชาวต่างชาติก็ให้ความนิยมเช่นกัน??…

นี่ก็เป็นอีกกรณี “ทำเสน่ห์” เป็นอีกครั้งที่ “อื้ออึง!!”

สะท้อนและตอกย้ำถึง “ความเชื่อทางไสยศาสตร์”

ที่ “ในสังคมไทยในยุคดิจิทัลก็ยังคงอยู่ไม่สร่างซา”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ความเชื่อพิธีกรรมทำเสน่ห์” นั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พบว่า…ใน “มุมวิชาการ” ก็ได้ให้ความสนใจ “ศึกษาวิจัย” เช่นกัน โดยเฉพาะ “พฤติกรรมการตัดสินใจ” อย่างงานศึกษาวิจัยโดย พิทักษ์ ศิริวงศ์, สิทธิกร ฉ่ำเลิศวัฒน์, พงศกร สิงห์ประยูร, วัชชานนท์ ทองสุขดี ที่ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยถึง “พฤติกรรมการใช้บริการหมอทำเสน่ห์” ในพื้นที่ภาคกลางของไทย เนื่องจากรู้สึกสนใจเกี่ยวกับ “ความเชื่อ-ปัจจัยการตัดสินใจ” ของ “ผู้ที่ต้องการทำเสน่ห์”…

อนึ่ง ในรายงานการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ได้ระบุถึงเหตุผลที่เลือกทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า… เพราะปัจจุบันความเชื่อเรื่องการ “ทำเสน่ห์” ยังคงมีให้เห็นอยู่ในสังคมไทย โดยสังเกตได้จากการที่ยังมี “ผู้รับบริการทำเสน่ห์” ในพื้นที่-ในสำนักต่าง ๆ ซึ่งที่ยิ่งน่าสนใจก็คือ ไม่ได้มีแต่เฉพาะชาวไทยที่สนใจการทำเสน่ห์ แต่ชาวต่างประเทศก็สนใจมาทำด้วยเช่นกัน และจากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้คณะวิจัยเกิดความรู้สึกสนใจและอยากทราบถึงพฤติกรรมการตัดสินใจของผู้ใช้บริการ

จากผลการศึกษา พบว่า… “ผู้ที่สนใจทำเสน่ห์” นั้น มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย อายุตั้งแต่ 22-40 ปี โดยเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ให้ข้อมูลกับคณะวิจัย คือ… ทำเสน่ห์เพราะต้องการให้คนหลงรักหลงใหล และ ต้องการดึงดูดใจเพศตรงข้าม ในขณะที่บางรายบอกว่าตัดสินใจทำเสน่ห์ เพราะมีปัญหาเรื่องชู้สาว และ เพื่อให้คนรักที่นอกใจหวนกลับมาหลงรักหลงใหล ผู้ที่เข้าทำเสน่ห์ …นี่เป็น “ปัจจัยการตัดสินใจ” ที่ผลการศึกษานี้พบ ที่ส่วนใหญ่ระบุคล้ายกัน…

“หวัง” จะ “ดึงดูดเพศตรงข้าม-แก้ปัญหาความรัก”

กับ “เหตุผลการตัดสินใจ” ในการ “เข้าพิธีทำเสน่ห์” นั้น ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังพบว่า… จะขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ อาทิ… จากความเชื่อความศรัทธา จากการที่ได้เห็นกระบวนการของพิธีกรรม และ จากผลลัพธ์ของคนรอบข้าง นอกจากนั้นยังมีปัจจัย จากภาพลักษณ์ รวมถึง จากชื่อเสียงของหมอทำเสน่ห์ ที่ผู้ใช้บริการได้รับรู้ผ่านแหล่งข้อมูลต่าง ๆ

และสำหรับ “พฤติกรรมการค้นหาข้อมูลทำเสน่ห์” ของผู้ที่ใช้บริการนั้น กลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลไว้ว่า… นิยมค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับพิธีทำเสน่ห์ หมอทำเสน่ห์ สำนักทำเสน่ห์ จากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่… สื่อสิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน และจาก ประสบการณ์ตรง ที่ได้เห็นพิธีของหมอทำเสน่ห์ จนเกิดความเชื่อมั่น จึงตัดสินใจเข้ารับบริการ โดยบางส่วนเริ่มที่การ โทรศัพท์สอบถามข้อมูล กับทางหมอทำเสน่ห์ สำนักทำเสน่ห์ และบางส่วนก็ เดินทางไปติดต่อด้วยตัวเอง เลย

ทั้งนี้ กับ “ค่าบริการทำเสน่ห์” หรือ “ค่าตอบแทนให้หมอทำเสน่ห์” นั้น ในรายงานศึกษาวิจัยโดยคณะวิจัยดังกล่าวระบุไว้ว่า… ในกลุ่มตัวอย่างมีส่วนที่ระบุว่า…แม้บางครั้งหมอทำเสน่ห์จะไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทน แต่ผู้เข้ารับบริการก็จะให้ค่าตอบแทนกับหมอ
ทำเสน่ห์ โดยเป็นการมอบให้เนื่องจาก รู้สึกพึงพอใจที่ได้รับบริการ ขณะที่ประเด็น “ประโยชน์ที่ได้รับ” นั้น ทางผู้เข้ารับบริการทำเสน่ห์ระบุไว้ว่า… คือประโยชน์ในด้านการ ทำให้เกิดความสุขในครอบครัว? รวมถึง…

ทำให้ รายได้เพิ่มขึ้น? หรือ การงานอาชีพก้าวหน้า?

นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยยังพบว่า… สำนักส่วนใหญ่มักหยุดให้บริการทำเสน่ห์ทุกวันพระกับวันเสาร์ เนื่องจากความเชื่อที่ว่า เป็นวันศีล เป็นวันแรงเป็นวันแข็ง ไม่เหมาะทำพิธีกรรม ซึ่งสำนักทำเสน่ห์ มักเปิดเฉพาะวันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ ที่ไม่ตรงกับวันพระ ช่วงเวลา 08.00-10.00 น. และอีกช่วงคือ 10.30-17.00 น. โดยผู้ใช้บริการมักแจ้งให้ผู้ทำพิธีทราบถึงความต้องการเสียก่อน ซึ่งสิ่งที่มักจะแจ้งก็คือ ปัญหาที่ทำให้ต้องมาทำเสน่ห์ หรือ เหตุผลที่ต้องการทำเสน่ห์

ถัดมา “รูปแบบพิธี” …นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่คณะวิจัยสนใจ ซึ่งผลศึกษาวิจัยพบว่า… การตัดสินใจว่าควรต้องทำพิธีทำเสน่ห์รูปแบบใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหมอทำเสน่ห์ โดยประเภทการทำเสน่ห์ที่พบนั้น แบ่งได้ 3 ประเภทหลัก ๆ คือ… 1.การทำพิธีเพื่อหวังผลดึงดูดเพศตรงข้าม และด้านกามารมณ์, 2.การลงเมตตามหานิยมเพื่อหวังผลด้านการงาน การค้าขาย หรืออาชีพ, 3.การฝังรูปฝังรอยเพื่อหวังผลแก้ปัญหาในครอบครัว หรือให้คนรักหวนกลับมาหา …เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปจากผลการ “ศึกษาวิจัยการทำเสน่ห์” ที่ได้มีการสะท้อน-มีการฉายภาพไว้ให้สังคมได้รู้ได้เห็น…

“พิธีกรรมทำเสน่ห์” แน่นอนว่ายึดโยง “มุมความเชื่อ”

กระนั้นก็“มีเหตุผลมีปัจจัย” ที่ “ทำให้ตัดสินใจทำ”

โดย…ใช้เงินตั้งแต่หลายร้อยถึงหลายหมื่นขึ้นไป”

โดย…สูญเปล่า!!” หรือ ยิ่งสูญเสีย!!” นี่ มีอื้อ!!”.