ถ้าพูดถึงอุปกรณ์การเขียนหรือการเรียนแล้ว “ดินสอ” ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใครๆ ต่างเคยใช้ในอดีตมาอย่างแน่นอน แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าดินสอก็เป็นวันสำคัญด้วยเช่นกัน วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวันนี้กัน

ก่อนอื่นเรามารู้จักกับดินสอก่อน ดินสอ หมายถึง อุปกรณ์ในการเขียน หรือสื่อทางศิลปะ มักทำจากเนื้อรงควัตถุแข็งและแคบอยู่ภายในเปลือกที่ปกป้องเนื้อดินสอไม่ให้หักหรือทิ้งรอยไว้บนมือขณะใช้งาน ดินสอสร้างรอยโดยการขีดเขียน ทิ้งรอยวัสดุเนื้อดินสอแข็ง ๆ ติดกับกระดาษ หรือพื้นผิวอื่น ๆ ไว้ ดินสอแตกต่างจากปากกา ที่จะกระจายรอยของของเหลวหรือหมึกเจลติดลงบนกระดาษที่มีสีอ่อนกว่า

เนื้อดินสอส่วนมากจะทำจากแกรไฟต์ผสมกับดินเหนียวที่จะทิ้งรอยสีเทาหรือดำไว้และทำให้ลบออกง่าย ดินสอที่ทำจากแกรไฟต์ใช้สำหรับเขียนและวาดเส้น และทำให้เกิดรอยที่ทนทาน แม้ว่ามันจะใช่ยางลบลบออกง่าย แต่ดินสอจะทนต่อความชื้น สารเคมี รังสีอัลตราไวโอเลต และอายุการใช้งาน ดินสอที่เนื้อทำจากวัสดุอื่นนั้นมีใช้กันน้อยกว่า เช่น ดินสอที่ทำจากถ่านไม้ ที่ส่วนมากจิตรกรจะใช้วาดภาพและร่างภาพ ดินสอสีบางครั้งมีไว้สำหรับครูหรือบรรณาธิใช้แก้ไขข้อความ แต่ก็จัดว่าเป็นอุปกรณ์ศิลปะเช่นกัน โดยเฉพาะชนิดที่มีเนื้อทำจากขี้ผึ้งที่จะติดลงบนกระดาษแทนที่จะลบออก ดินสอน้ำมันจะนุ่มกว่า มีเนื้อดินสอทำจากขี้ผึ้งคล้ายสีเทียนที่ทิ้งรอยบนผิวราบเรียบ เช่น กระจก หรือเครื่องลายคราม

ทั้งนี้ เปลือกดินสอโดยทั่วไปทำจากไม้ขนาดบาง ปกติเป็นทรงหกเหลี่ยมด้านเท่าแต่บางครั้งก็เป็นทรงกระบอก พันรอบเนื้อดินสอถาวร เปลือกดินสออาจทำจากวัสดุอื่น เช่น พลาสติก หรือกระดาษ ก็ได้ ในการใช้ดินสอ เปลือกจะต้องถูกสลักหรือปอกออกเพื่อให้ส่วนปลายของดินสอแหลมคม ดินสอกดมีเปลือกที่ละเอียดอ่อนมากกว่าซึ่งช่วยประคองชิ้นส่วนของเนื้อสีให้สามารถขยายหรือหดผ่านปลายแท่งหรือเปลือกดินสอตามที่ต้องการ

สำหรับประวัติของดินสอนั้น ในสมัยอดีต การเขียนเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบแผนทางวัฒนธรรม ตำรา หรือการวาดรูป มนุษย์ในสมัยก่อนใช้อุปกรณ์ที่เป็นแปรงหรือกิ่งไม้เล็กๆ และเหล็กที่มีปลายแหลม นำไปเผาไฟจุ่มลงในน้ำหมึกเพื่อใช้ในการขีดเขียน (ภาษาโรมันเรียกแปรงหรือเหล็กแหลมนี้ว่า “Pencillus” หรือ “Little tail” ซึ่งต่อมากลายเป็นคำว่า “Pencil” มีความหมายว่า “หางน้อย”) ส่วน “ปากไก่ หรือ ปากกาขนห่าน” เริ่มมีการประดิษฐ์ขึ้นใช้ในทวีปยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 6 นั่นเอง

นอกจากนี้ การผลิตดินสอนั้น ในปัจจุบัน ดินสอผลิตโดยการใส่แกรไฟต์กับผงถ่าน เติมน้ำลงไป ผสมแล้วทำให้เป็นแท่งยาวคล้ายของที่มีลักษณะแหลม เผาในเตาให้แข็ง จากนั้นจุ่มในน้ำมันหรือขี้ผึ้ง เพื่อให้เขียนได้ง่ายขึ้น จากนั้นประกอบเข้ากับไม้ที่เจาะรูไว้ให้เป็นแท่งดินสอ

ดินสอส่วนใหญ่ โดยเฉพาะดินสอที่ใช้ในงานศิลปะ จะระบุความเข้มของดินสอเอาไว้ด้วยตามระบบยุโรป โดยใช้อักษร “H” (hardness-ความแข็ง) “B” (blackness-ความดำ) และ “F” (fine point-เนื้อละเอียด) ดินสอสำหรับศิลปะจะมีความเข้มหลายขนาดให้เลือกใช้ เพื่อให้มีความเข้ม ความสวยงาม และให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่ดินสอที่แข็งและสีอ่อน ไปจนถึงสีเข้มมากอีกด้วย

ขณะเดียวดินสอที่มีความสำคัญอย่างมากนี้ถูกกำหนดเป็นวันสำคัญ โดย วันดินสอ (Pencil Day) เกิดจากความคิดเห็นที่ว่า แม้ในยุคไอที ที่คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทในการสื่อสาร และแวดวงการศึกษามากขึ้นทุกขณะ แต่กระนั้นเครื่องเขียนที่เรียกว่า “ดินสอ” ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย “วันดินสอ” เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะลดการใช้อุปกรณ์แท็บเล็ตในการถ่ายทอดเรื่องราวลงบ้าง และหันมาร่างด้วยดินสอลงกระดาษกันอีกครั้ง ซึ่งยกให้วันที่ 30 มีนาคม เป็นวันดินสอนั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากวิกิพีเดีย