“เหมือนฝันไปเลยค่ะที่เราทั้งสองคนได้มาโชว์ที่นี่ แถมได้นำเครื่องดนตรีไทยที่เราชอบมาแสดงให้คนต่างชาติได้ชมอีก“ เสียงใส ๆ ผ่านระบบสื่อสารทางไกลข้ามทวีป ของ “นํ้าวุ้น-วาลิกา ตรีวิศวเวทย์” วัย 17 ปี และ “นํ้าขิง-อคิราภ์ ตรีวิศวเวทย์” วัย 15 ปี บอกเล่าโมเมนต์นี้กับ “ทีมวิถีชีวิต” ก่อนที่จะขึ้นทำการแสดงบรรเลงเครื่องดนตรีไทย อย่าง “ขิมและระนาด” บนเวที Carnegie Hall (Weill Recital Hall) สหรัฐอเมริกา ในช่วงคํ่าคืนของวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากสองพี่น้องนั้นได้รับ รางวัล First Prize จากเวทีการประกวด Golden Classical Music Award 2021 ทั้งนี้ เส้นทางนักดนตรีไทยก่อนจะมาถึงวันนี้ของสองพี่น้องคู่นี้มาจากการฝึกฝน ความตั้งใจ และความพยายามอย่างเต็มที่ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องรา “เบื้องหลังถนนสู่ดวงดาว” ของ “สองพี่น้องนักดนตรีไทย คู่นี้มาบอกเล่ากัน…

“เครื่องดนตรีไทยเป็นเครื่องดนตรีที่เท่และเจ๋งมาก ๆ ไม่แพ้เครื่องดนตรีสากลเลยค่ะ… เพราะเราทั้งคู่ก็เล่นทั้งเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีสากล เราจึงรู้ว่าเครื่องดนตรีไทยมีเสน่ห์ไม่แพ้เครื่องดนตรีสากลเลย… สองพี่น้อง “นํ้าวุ้น-วาลิกา” และ “นํ้าขิง-อคิราภ์” เริ่มต้นบทสนทนาถึง “เสน่ห์ของเครื่องดนตรีไทย” ที่ทั้งสองคนหลงรัก โดย นํ้าวุ้น เล่าถึงเส้นทางที่ทำให้ตัดสินใจเรียน “ขิม” ว่า เริ่มหัดเล่นขิมมาตั้งแต่ตอน ป.5 เพราะชอบที่ขิมเป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงที่อ่อนหวานพร้อมกับเสียงที่ดุดันได้ในคราวเดียวกันแค่เพียงเปลี่ยนตัวโน้ต จนทำให้เธอหลงใหลในเครื่องดนตรีประเภทนี้

ขณะที่ นํ้าขิง เล่าว่า เริ่มหัดเล่น “ระนาด” ตอน ป.5 ซึ่งก่อนหน้านั้นเธอเองก็เล่นขิมมาก่อน ตั้งแต่ ป.3 แต่พอได้มาเห็นโชว์ที่มีระนาดเป็นเครื่องดนตรีเอกชูโรงบนเวทีคอนเสิร์ตหนึ่ง ก็ตัดสินใจเบนเข็มมาเล่นเครื่องดนตรีประเภทนี้ เพราะเวลาตีระนาดนั้นให้ท่าทางที่ดูเข้มแข็งและแข็งแรง นอกจากนั้น เธอยังรู้สึกว่า สำหรับระนาดแล้ว ไม่ว่าใครจะเล่น นํ้าเสียงและเทคนิคของแต่ละคนก็จะฟังดูต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมีเรื่องของนํ้าหนักในการตีที่ต่างกันของแต่ละโน้ตหรือคู่โน้ตที่ตีคู่กันเพื่อให้มีเสียง harmonisation อันละมุนของตัวโน้ต ซึ่งนํ้าขิงมองว่าเป็นเสน่ห์ของระนาดที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร

นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจอันแสนเรียบง่ายของสองพี่น้องนักดนตรีไทยคู่นี้ กับเครื่องดนตรีไทยที่ทั้งสองหลงรัก

ส่วน “เส้นทางสู่คาร์เนกีฮอลล์” ที่ทั้งสองมีโอกาสได้ขึ้นโชว์นั้น นํ้าวุ้น บอกว่า ได้ “ครูอัพ–กามเทพ ธีรเลิศรัตน์” สมาชิกวงดนตรี ซี อาเซียน คอนโซแนนท์ และเป็นครูสอนดนตรีไทยของทั้งสองคน เป็นผู้จุดประกาย ด้วยการแนะนำให้ทั้งคู่ลองส่งผลงานเข้าประกวดในเวที Golden Classical Music Award ซึ่งถ้าชนะเลิศก็จะได้ไปแสดงที่คาร์เนกีฮอลล์ ซึ่งพอได้ยินคำว่า “คาร์เนกีฮอลล์” เธอทั้งสองก็อยากจะลองพยายาม เพราะเป็น เวทีที่นักดนตรีทุกคนทั่วโลกใฝ่ฝันจะได้มีโอกาสสักครั้งในชีวิตที่ได้ขึ้นแสดง ที่นี่ จึงตัดสินใจส่งคลิปวิดีโอแสดงเครื่องดนตรีไทยเข้าไปประกวด โดยนํ้าวุ้นเลือกใช้เพลงชื่อ “แขกบูชายัญ (มโนราห์บูชายัญ)” เพื่อโชว์เสน่ห์ของขิม ส่วน นํ้าขิง เลือกใช้เพลง “โหมโรงจีนตอกไม้” เพื่อโชว์เสน่ห์ของระนาด และด้วยความอดทนฝึกซ้อม พร้อมกับคำชี้แนะของครูอัพ ในที่สุดทั้งสองคนก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้รับเชิญให้ไปขึ้นโชว์ที่คาร์เนกีฮอลล์ ซึ่งทั้งสองบทเพลงไทยเดิมนี้ก็เป็นบทเพลงที่ทั้งคู่ได้นำขึ้นแสดงให้ผู้ชมภายในฮอลล์คืนนั้นได้รับชมรับฟังด้วย

“ครูอัพ” ที่มีส่วนช่วยผลักดันฝันของทั้งคู่

“ตอนที่ส่งไปแล้ว ยังคุยกับปะป๊าหม่าม้า (ธนวัฒน์สีวลี ตรีวิศวเวทย์) เลยว่า คงไม่ได้หรอก เพราะเราไม่ได้เป็นนักดนตรีที่เก่งมาก แต่ปะป๊าหม่าม้าก็บอกว่าให้ลองดู ซึ่งตอนที่ได้รับแจ้งว่าชนะ และจะได้โชว์ที่คาร์เนกีฮอลล์ ยังคิดเลยว่าจริงหรือ ไม่ได้ฝันใช่ไหม แต่ตอนแรกวุ้นก็คิดว่าเราคงจะไม่ได้แล้ว เพราะอีเมลที่แจ้งก่อนหน้ามีแต่ผลของนํ้าขิง ตอนนั้นก็ทำเอาวุ้นนอยด์ไปพักใหญ่เลยค่ะ ก็ได้ปะป๊าหม่าม้า ปลอบใจเราว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็แสดงว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งตรงนี้ปะป๊าหม่าม้า บอกว่า สำคัญที่สุดมากกว่ารางวัลเสียอีก” นํ้าวุ้นเล่าถึงโมเมนต์นี้ ที่คำสอนของคุณพ่อคุณแม่ของพวกเธอได้ช่วยดึงเธอให้หลุดออกมาจากความกังวล และที่สุดเธอก็ได้รับอีเมลแจ้งว่าได้รางวัลเช่นกัน ทำให้ทั้งสองมีโอกาสนำเครื่องดนตรีไทยไปโชว์ให้กระหึ่มคาร์เนกีฮอลล์ด้วยกัน ซึ่งเป็นช่วงที่ลงตัวพอดี เนื่องจากขณะนั้นทั้งสองก็จะต้องไปเรียนต่อมัธยมปลายที่สหรัฐอเมริกาพอดี โดยที่จริงทั้งคู่จะต้องขึ้นแสดงตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดรุนแรงในสหรัฐในขณะนั้น ทำให้โปรแกรมถูกเลื่อนมาเป็นเดือน มี.ค. 2565

นอกเหนือจาก “ความดีใจ” ที่ทั้งสองคนจะได้โชว์ที่คาร์เนกีฮอลล์แล้ว ทั้งสองยังเกิด “ความภูมิใจ” ที่ได้มีส่วนช่วย เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยผ่านเครื่องดนตรีไทยต่อสายตาชาวต่างชาติ อีกด้วย ซึ่งนํ้าวุ้นบอกว่า ช่วงเวลาก่อนที่จะทำการแสดงนั้น ความรู้สึกของพวกเธอคงไม่ต่างจากนักกีฬาทีมชาติที่จะต้องลงแข่งขัน เพราะนอกจากต้องทำให้ดีที่สุดในฐานะนักดนตรีแล้ว ยังต้องทำให้เต็มที่ในฐานะเป็น “ตัวแทนประเทศไทย” อีกด้วย

“ยิ่งมีคำว่าไทยแลนด์ต่อท้าย พวกเราก็ยิ่งต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เสียชื่อเด็กไทยจากประเทศไทย สำหรับคนอื่นอาจคิดว่าก็แค่ซ้อมไปโชว์ แต่วุ้นมองว่าเรามีโอกาสดี ๆ นี้แล้ว เราก็อยากจะทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด เพราะไม่อยากให้คนอื่นมองว่า พวกเรามาเล่นแบบขอไปที แต่อยากให้ผู้ชมเขาได้เห็นถึงเสน่ห์ของดนตรีไทยให้มากที่สุด เพราะจุดมุ่งหมายตั้งแต่แรกที่พวกเราสมัครเข้าประกวดก็คือ เราอยากให้คนทั้งโลกได้เห็นและยอมรับเครื่องดนตรีไทยมากขึ้น” ทาง นํ้าวุ้น บอกถึงความรู้สึกในเรื่องนี้

“น้ำขิง” โชว์ “ระนาดเอก”

ขณะที่ นํ้าขิง ก็ได้เผยความรู้สึกว่า ตอนซ้อมส่งประกวดยังไม่กดดันเท่าตอนที่รู้ว่าจะได้ขึ้นโชว์ (หัวเราะ) เพราะตอนจะส่งผลงานเข้าประกวด สามารถซ้อมจนเลือกเทคที่ดีที่สุดได้ แต่ตอนจะขึ้นโชว์จะพลาดไม่ได้เหมือนกับตอนที่ซ้อม อีกอย่างเวลาซ้อมเพื่อจะขึ้นโชว์มีน้อยมาก ซึ่งถ้าเทียบกับตอนที่อยู่เมืองไทย ตอนนั้นมีเวลาซ้อมมากกว่า “ในบ้านจะมีขิมกับระนาดวางไว้ประจำที่เลยค่ะ เมื่อมีเวลาเราทั้งคู่ก็มาซ้อมได้ตลอด แต่พอมาเรียนที่นี่ พอเรื้อการเล่นไปสักพัก เมื่อกลับมาซ้อมอีกครั้ง ขิงรู้เลยว่ากำลังแขนมันหายไป ก็ทำให้เรายิ่งต้องฝึกซ้อมให้หนักขึ้น เพราะการเล่นระนาดจะต้องใช้กำลังแขนค่อนข้างเยอะค่ะเป็นคำบอกเล่าของ นํ้าขิง

และด้วยความที่ทั้งสองพี่น้องมองว่า “โอกาสคือสิ่งลํ้าค่า” ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้ทั้งสองตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ก่อนที่จะได้แสดงที่คาร์เนกีฮอลล์ ว่า… อยากทำแพลตฟอร์มขึ้นมาสักหนึ่งแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยเด็กไทยคนอื่นที่มีความสามารถให้ไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น โดยนํ้าวุ้นพูดถึงความตั้งใจนี้ว่า สิ่งหนึ่งที่พวกเธอสองคนอยากบอกก็คือ พวกเธอทั้งคู่ไม่ได้เก่งที่สุด เด็กไทยที่เก่งกว่าก็คงมีแน่นอน เพียงแค่พวกเธอโชคดี และได้รับการสนับสนุนจากครูและครอบครัว ก็เลยมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ซึ่งเด็กไทยคนอื่น ๆ ที่มีพรสวรรค์ อาจจะพยายามเต็มที่แล้ว เพียงแต่ยังเข้าไม่ถึงคำว่าโอกาส ดังนั้น พวกเธอจึงอยากทำแพลตฟอร์มเล็ก ๆ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเด็กไทยคนอื่นที่เก่ง ๆ ให้ได้มีโอกาสเหมือนพวกเธอ

“น้ำวุ้น” โชว์บรรเลง “ขิม”

“เรายอมรับว่าโชคดี ที่ทั้งครู ทั้งครอบครัว ได้ช่วยส่งเสริมผลักดันให้เราได้ก้าวมาถึงวันนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราทั้งคู่ไม่สู้ ไม่พยายาม เพราะยิ่งเรารู้ตัวเองว่ายังไม่เก่งมาก เราก็ยิ่งต้องทุ่มเทตั้งใจให้มากขึ้น และเราก็อยากทำแพลตฟอร์มสักอันขึ้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือกับเพื่อน ๆ เด็กไทยคนอื่น ๆ จากประสบการณ์ตรงที่เราสองคนเคยมี อย่างตอนที่วุ้นกับขิงสมัคร ก็ต้องกรอกเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษหมดเลย ซึ่งตรงนี้อาจเป็นอุปสรรคสำหรับคนอื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดด้านภาษา เราก็คิดไว้ว่า แพลตฟอร์มที่เราทำ น่าจะช่วยตรงนี้ได้มาก และยังสามารถให้ครูอัพมาช่วยให้คำแนะนำให้ได้ เหมือนกับที่ครูอัพเคยแนะนำเรา นํ้าวุ้นพูดถึงความตั้งใจของเธอกับน้อง

ก่อนที่จะส่งท้ายบทสนทนากันวันนั้น “ทีมวิถีชีวิต” ถามถึง “สถานีความฝันต่อไป” ของสองพี่น้อง “นํ้าวุ้น-นํ้าขิง” ว่าจะทอดยาวไปถึงเส้นทางใด? ซึ่ง นํ้าวุ้น บอกว่า พวกเธอสองคนอยากเล่นเครื่องดนตรีไทย นอกจากความรักในเครื่องดนตรีไทยแล้ว อีกเหตุผลก็คือ อยากให้น้อง ๆ ของพวกเธอเห็นว่าเล่นเครื่องดนตรีไทยก็เท่ได้ เพื่อให้น้อง ๆ ของพวกเธอไม่อายที่จะเล่นเครื่องดนตรีไทย ขณะที่ นํ้าขิง ก็บอกว่า พวกเธอก็คงพยายามพัฒนาฝีมือให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น และถ้ามีโอกาสได้แสดงบรรเลงเครื่องดนตรีไทย พวกเธอก็จะทำให้ดีที่สุด ทำให้เต็มที่ที่สุดเหมือนเดิม “ขิงมองว่าเราไม่เห็นจำเป็นต้องเขินอายที่จะแสดงวัฒนธรรมของตัวเองเลยค่ะ สำหรับขิงแล้ว ขิงมองว่า…เราไม่ควรที่จะต้องอายว่าเราเป็นใคร เพราะขิงเชื่อว่าเครื่องดนตรีของทุก ๆ ชาตินั้นต่างก็มีเสน่ห์ของตัวเองอยู่อย่างแน่นอน…

รวมถึงเครื่องดนตรีไทยด้วย”.

‘น้ำวุ้น-น้ำขิง’ กับ ‘สตอรี่ชุดโชว์’

“น้ำขิง-น้ำวุ้น” กับ “รางวัล” และ “ชุดโชว์”

นอกจากเสน่ห์ “เครื่องดนตรีไทย” ที่สองพี่น้อง “นํ้าวุ้น-นํ้าขิง” มีโอกาสโชว์ให้ผู้ชมใน “คาร์เนกีฮอลล์” สหรัฐอเมริกา ได้ชื่นชมแล้ว กับ “ชุดสวยที่ใส่ขึ้นทำการแสดง” ก็ยัง ’มีสตอรี่น่าสนใจ“ อีกด้วย โดยชุดของนํ้าขิงที่ใส่ในวันนั้นเป็นชุดโทนสีนํ้าเงินที่เข้ากับสีภายในของ Weill Recital Hall ซึ่งได้ตกแต่งด้วยผ้าม่านกำมะหยี่สีฟ้านํ้าเงิน ที่สำคัญ “ผ้าที่ใช้ตัดเย็บชุด” เป็น “ผ้าตีนจกแบบไทยวน” สอดด้วยดิ้นทอง ทอโดยช่างฝีมือชาวเชียงใหม่ และนำมาตัดเป็นชุดสำหรับแสดงโดยคุณแม่ของเธอเอง โดยออกแบบให้เข้ากับบรรยากาศสไตล์ American Victorian Era ของฮอลล์ ขณะที่ชุดของนํ้าวุ้นนั้น เป็นชุดจากแบรนด์ Sretsis ซึ่งเป็น แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทย ที่เป็นผลงานของ “ดีไซเนอร์คนไทย” คือ พิมพ์ดาว สุขะหุต เพื่อที่จะอวดต่อสายตาชาวโลกให้ได้สัมผัส “เสน่ห์กลิ่นอายแบบไทย” อีกรูปแบบ ที่… “ก็มีความเป็นสากล”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน