ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธ.ค. 2555 คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์มอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้แก่สหภาพยุโรป ( อียู ) จากความพยายามสร้างสันติภาพ การประนีประนอม และการส่งเสริมกระบวนการขับเคลื่อนทางประชาธิปไตย โดยปีที่ได้รับรางวัลดังกล่าว เป็นปีแห่งการสถาปนาครบรอบ 6 ทศวรรษของสหภาพแห่งนี้ด้วย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป ( อียู ) รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่กรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ เมื่อปี 2555

อย่างไรก็ตาม อีก 10 ปีต่อมา ความหวั่นวิตกของอียูกลายเป็นจริง การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนปะทุในที่สุด และยืดเยื้อตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่ได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามยูโกสลาเวีย ความรุนแรงและความเลวร้ายของสถานการณ์ ยิ่งตอกย้ำของความอ่อนแอ การขาดความเป็นเอกภาพ และความไร้ประสิทธิภาพด้านนโยบาย ของสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ

แม้ในภาพรวม อียูและสมาชิกชั้นนำอย่างเยอรมนี และฝรั่งเศส แสดงบทบาทในการเป็นแกนนำขับเคลื่อนนโยบายเพื่อกดดันรัสเซีย ที่เน้นการคว่ำบาตรเป็นหลัก เพราะนโยบายของแต่ละประเทศยังขาดความสอดคล้องกัน เพื่อให้ง่ายที่สุด “จึงต้องเอาอย่างสหรัฐ”

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ลงในรายละเอียดแล้ว ปรากฏว่า แทบทุกประเทศในอียูล้วนต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภายในของตัวเองเป็นหลักก่อน ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ที่รัฐบาลผสมชุดใหม่ยังไม่ค่อยสามัคคีกันมากนัก และมีท่าทีของการพร้อมแตกร้าวทุกเมื่อ

ครอบครัวชาวยูเครนซึ่งลี้ภัยมาจากกรุงเคียฟ เดินทางด้วยรถไฟ มาถึงยังสถานีแห่งหนึ่ง ในเขตชายแดนของฮังการี

ขณะที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับแผนยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก และที่สำคัญคือ การเลือกตั้งครั้งสำคัญ คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ กำลังจะเกืดขึ้นในเดือนเม.ย.นี้ และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง หมายมั่นปั้นมือรักษาตำแหน่งให้ได้เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน แต่การแสดงบทบาทของผู้นำฝรั่งเศสในเรื่องยูเครนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา น่าจะช่วยส่งผลต่อความนิยมและการตัดสินใจของชาวฝรั่งเศส ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่กำลังจะเกิดขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย

แม้สมาชิกอียูแทบทุกประเทศเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ซึ่งเป็นสหภาพทางทหารที่ชัดเจนว่า ต้องพึ่งพิงสหรัฐเป็นหลัก ในขณะที่อิทธิพลและภาพลักษณ์ของรัฐบาลวอชิงตันในยุคหลังนั้น มีความเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับจีนที่ผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ยุโรปอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองเพิ่มขึ้นด้วยว่า การดำเนินนโยบายของอียูจะยังคงต้องเดินตามหลัง และพึ่งพาอเมริกาไปอีกนานแค่ไหน นอกจากนี้ จีนและรัสเซียแสดงจุดยืนร่วมกันอย่างชัดเจน ว่าเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความมั่นคงต่อกัน

อียูอาจกำลังตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้นตามไปด้วย ว่าท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเองเช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อให้ยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกก็ตาม ในเมื่อมาตรการคว่ำบาตรที่ดำเนินการมาทั้งหมด ล้วนเป็นการเดินตามอย่างสหรัฐ ซึ่งอยู่คนละฟากฝั่งของมหาสมุทร แล้วอียูตอบตัวเองได้หรือยัง ว่ามีความพร้อมมากเพียงใดในระยะยาว ที่จะยอมรับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งตัวเองก็จะต้อง “บาดเจ็บเหมือนกัน” และได้รับแรงเสียดทานที่มากกว่าสหรัฐด้วย

จนถึงตอนนี้ เป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ “ไม่มีกลไกแข็งแกร่ง” ที่จะใช้เป็น “หมัดเด็ด” แลกกับรัสเซียได้ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นผลจากความไม่เป็นตัวของตัวเอง และการขาดความสามัคคีในหมู่สมาชิกอียูตั้งแต่ต้น จริงอยู่สงครามที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งโดยตรงระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่เป็นบทเรียนสำคัญให้กับทุกฝ่าย เกี่ยวกับความล้มเหลวของการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และภูมิศาสตร์การเมืองโลก โดยมียูเครน “เป็นผู้รับบทเรียนทั้งหมด”

ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า วิกฤติการณ์ครั้งนี้จะไปจบที่ตรงไหน และเมื่อใด อย่างไรก็ตาม การแสดงบทบาทของอียูในเวลานี้ ควรเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสันติภาพ “อย่างแท้จริง” มากกว่า “การตบหัวแล้วลูบหลัง” ด้วยการคว่ำบาตร แล้วการส่งสัญญาณขอเจรจา แล้วในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคนของอียูยังคงเดินหน้าใช้วาทกรรม ที่มีแต่จะยิ่งเป็นการสุมไฟของความขัดแย้งให้ลุกลามมากยิ่งขึ้นไปอีก.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES