คาดหวังกันว่าจะกลับมาคึกคักมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับ “ภาคการท่องเที่ยวไทย” ซึ่งความเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ประกอบการด้านนี้นั้น ต่างก็ประกาศถึงความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เมื่อประเทศไทยเดินหน้าจะประกาศให้ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการนำ “จุดเด่น” มาใช้เพื่อ “ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว” นั้น กับของดีที่มีอยู่เดิมนั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่กับการ “ค้นหาจุดเด่นใหม่ ๆ มาเป็นจุดขาย” ในส่วนนี้ก็ต้องมีการหามีการทำควบคู่ไปด้วย โดยที่ “ของดีของเด่นของเมืองไทย” ที่ขายได้อย่างน่าสนใจ คือ “อาหารการกิน” ที่มีมากมาย…ทั้งสำรับคาว-สำรับหวาน…

ที่ไม่ได้มีดีอยู่เพียงแค่เรื่องของ “รสชาติ” เท่านั้น

แต่กับ “มุมวัฒนธรรม-มุมประวัติศาสตร์…ก็น่าใช้”

ใช้เพื่อเป็น “ตัวกระตุ้น” ช่วย “ดึงดูดด้านท่องเที่ยว”

เกี่ยวกับการใช้ “อาหาร” เป็น “จุดขายการท่องเที่ยว” นั้น เรื่องนี้ก็มีกรณีศึกษาในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ได้มีการ “รื้อฟื้นเมนูขนมโบราณ” ขึ้นมาจากการศึกษาค้นคว้า จนนำ “ขนมในอดีต” อย่าง “ขนมหินฝนทอง” กลับมาอยู่ในยุคปัจจุบันได้ โดยการรื้อฟื้นเมนูขนมโบราณชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมอาหารอยุธยาเมืองท่าแห่งตะวันออก” โดย ผศ.ดร.จิรานุช โสภา กับ รศ.ดร.พรรณี สวนเพลง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับคณะวิจัยจากสถาบันอาศรมศิลป์ที่สามารถรื้อฟื้นขนมโบราณชนิดนี้กลับมาได้สำเร็จ

เพื่อ “อนุรักษ์ขนมภูมิปัญญา” นี้ไว้ไม่ให้สูญหาย

และเพื่อนำมา “ใช้เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว”

สำหรับรายละเอียดของโครงการนี้ ทาง รศ.ดร.พรรณี หนึ่งในคณะผู้ทำวิจัย ให้ข้อมูลไว้ว่า… จากการลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาถึงภูมิวัฒนธรรมกับภูมิปัญญาทางด้านอาหารของคนอยุธยา ทำให้ค้นพบ “สำรับอาหารโบราณ” หลากหลายเมนู โดยหลังนำมาถอดรหัสแล้ว ได้จัดทำ “แนวทางการพัฒนาสำรับอาหารกรรมวิธีโบราณดั้งเดิม” ขึ้นมาจำนวน 5 เมนู ได้แก่… ต้มยำน้ำข้น, ทอดมันกุ้ง, มัสมั่น, ข้าวบุหรี่ (ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ) และ ขนมหินฝนทอง เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถนำเอาองค์ความรู้เหล่านี้ไป พัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน ได้ด้วย…

“ไฮไลต์สำรับโบราณ” ที่เป็น ขนม” นี่ก็ น่าสนใจ”

นั่นคือขนมโบราณชื่อไม่คุ้นอย่าง ขนมหินฝนทอง”

ทาง รศ.ดร.พรรณี คณะผู้ทำวิจัย ให้ข้อมูลของ “ขนมหินฝนทอง” นี้ไว้ว่า… เป็นขนมหวานหาทานยาก มีรสหวานหอม คนโบราณนิยมพกติดตัวยามเดินทางไกล หรือเวลาไปออกรบ เพราะสามารถเก็บไว้ทานได้นาน 1-2 เดือน ซึ่งที่มีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะ มีลักษณะคล้ายหินฝนทองที่คนโบราณนำมาใช้ทดสอบทองคำ ว่าเป็นทองแท้หรือไม่ และนอกจากนี้ ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ อย่าง “บันทึกคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ก็ได้มีการระบุถึงชื่อ “ขนมหินฝนทอง” เอาไว้ในบันทึกดังกล่าว …นี่เป็นข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ “ขนมยุคโบราณที่น่าสนใจ” ชนิดนี้ ที่

มีการรื้อฟื้นทั้งในแง่กรรมวิธีการทำ และเรื่องราว…

โดยทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมเผยแพร่อีกแรงหนึ่ง 

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการ “ฟื้นขนมโบราณ” นั้น ทางนักวิจัยท่านเดิมระบุไว้ว่า… เพื่อเผยแพร่ขนมโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และกำลังจะสูญหาย ให้เป็นที่รู้จัก และ เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะจุดขายใหม่ด้านท่องเที่ยวของพื้นที่นี้

ขณะที่ อ.อภิรดี อานมณี สถาบันอาศรมศิลป์ หนึ่งในคณะนักวิจัยที่นำทีมในส่วน โครงการ “การถอดรหัสภูมิปัญญาวัฒนธรรมและออกแบบพื้นที่เกี่ยวเนื่องวัฒนธรรมอาหารอยุธยาเมืองท่าแห่งตะวันออกเพื่อยกระดับสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ได้ระบุไว้ว่า… จากที่ได้ลงพื้นที่ศึกษาร่องรอยลักษณะทางกายภาพ ภูมิสังคม และวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับการกินนั้น การศึกษานี้ได้นำไปสู่การ “อนุรักษ์รูปแบบครัวโบราณ” และพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของวัฒนธรรมอาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ รวมถึงให้ชุมชนเข้าใจถึงคุณค่า และการ “ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

การพัฒนารูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้าน “วัฒนธรรมอาหาร” นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เน้นการสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว ผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารให้กับนักท่องเที่ยว และการ “สร้างคุณค่า” โดยผนวกกับเรื่องราวที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากอดีต…

“ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่น ผ่านอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างงาน และกระจายรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น รวมไปถึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย” …ทาง อ.อภิรดี ระบุไว้

“สำรับโบราณเมนูในอดีต” นี่ อาจเป็นอนาคตที่ดี”

ในฐานะที่เป็น จุดเด่นจุดขายใหม่ด้านท่องเที่ยว”

รองรับท่องเที่ยวสร้างสรรค์ยุควิถีชีวิตปกติใหม่” .